ม.ล.ชโยทิต โรดโชว์สหรัฐ หอบแพ็กเกจดึงนักลงทุนบริษัทบิ๊กเนม

ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร
ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร

สุพัฒนพงษ์ มอบ ม.ล.ชโยทิต โรดโชว์สหรัฐสิ้นเดือน ม.ค. 2566 ชักจูงบริษัทยักษ์ใหญ่-บิ๊กเนม ลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ในไทย เปิดดีลต่อรองสิทธิประโยชน์ “เงินช่วยเหลือ”

วันที่ 16 มกราคม 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานเน้นในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น จากเดิมการประชุมบอร์ดบีโอไอที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน จะพิจารณาอนุมัติโครงการต่าง ๆ เป็นการให้กรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชนชั้นนำของประเทศใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความรู้ความสามารถของกรรมการในการกล่าวถึงกลวิธีหรือยุทธศาสตร์ในการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ลด แลก แจก แถม เพียงอย่างเดียว

ซึ่งเรื่องที่น่าดีใจคือ ตลอดระยะเวลา 4 ปี ปีนี้การขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดทุกด้าน ทั้งคำขอ การอนุมัติ และการลงทุน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า สำหรับการโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุน ตนได้มอบหมายให้ ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร ผู้แทนการค้าไทยและหัวหน้าทีมปฏิบัติการดึงดูดนักลงทุนเชิงรุกเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2566 โดยเน้นการชักจูงนักลงทุนด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมชั้นสูง อิเล็กทรอนิกส์ regional headquarter และ Long-Term Resident Visa (LTR) ซึ่งต้องแข่งขันกับทุกประเทศที่มีความประสงค์จะดึงดูดการลงทุน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจจะไปคุยกับบางรายที่เป็นบิ๊กเนมของสหรัฐ แต่ก็จะเกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัลเทคโนโลยี สำหรับใช้กับ EV และคลาวด์เซอร์วิส และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้พบกับประธานสมาคมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ ซึ่งได้รับการแนะนำรายชื่อบริษัทที่จะไปดึงดูดมาลงทุน โดยเขาชื่นชมว่าประเทศไทยมีศักยภาพ เพราะที่ผ่านมาได้ทำการสำรวจประจำปี ซึ่งการโรดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์จะเป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐตัดสินใจได้

“ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน แนวโน้มยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้เซมิคอนดักเตอร์ปลายทาง เช่น apple จะมีเสียงดังหน่อย ก็จะบอกผู้ผลิตว่า สินค้าที่เขาต้องการอยากจะให้มาจากประเทศอื่นด้วย ที่ไม่ใช่ประเทศจีนอย่างเดียว เราจึงมีโอกาส และสิ่งที่เราคิดว่า เป็นสิ่งที่ต้องการจากอุตสาหกรรมเหล่านี้คือ นอกจากเรื่องของภาษีและสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เสถียรภาพทางการเมือง แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ พลังงานสะอาด ผลกระทบจากมาตรการของ OECD กรณีการเรียกเก็บภาษีบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติ ขั้นต่ำ 15%” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เราก็จะถือโอกาสไปประชาสัมพันธ์ และประเมินว่าเงินช่วยเหลือเพื่อดึงดูดบริษัทชั้นนำมาลงทุนในไทย เราจะสู้ หรือตอบรับเรื่องพวกนี้อย่างไร เพราะประเทศญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือถึง 100% เช่น บริษัทผลิตชิปลักษณะพิเศษ TSMC ของไต้หวันลงทุน 3-4 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือถึง 2 แสนล้านบาท เพราะเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์

“ปีนี้จากยอดผู้ยื่นรับการส่งเสริมการลงทุน 6.6 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรกตามเป้าหมายที่มีสัดส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยอยากจะเห็นการลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวคือ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ มาเป็นอันดับ 1 และอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอันดับ 2” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว