333 วัน สงครามรัสเซีย – ยูเครน สะเทือนเศรษฐกิจโลก

สนค. เผยผลการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มาเป็นระยะเวลากว่า 333 วันแล้ว จนนำไปสู่การคว่ำบาตร จากความขัดแย้งดังกล่าวยังคงเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก และยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลง

วันที่ 22 มกราคม 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. เปิดเผยว่า ทางสำนักงานฯ ได้ติดตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาในการพัฒนาการความขัดแย้ง 333 วัน ปัญหายังไม่คลี่คลายแต่ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง กระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม รวมไปถึงการค้าการส่งออกระหว่างประเทศ ราคาพลังงาน จึงเป็นสิ่งที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจำเป็นจะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น สนค. ได้ติดตามและสรุปสถานการณ์ไว้ดังนี้

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ก่อนการสู้รบ

3 วันก่อนเกิดการสู้รบในยูเครน รัสเซียประกาศรับรองเอกราชของแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซีย หลังจากนั้น การสู้รบ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 65 เมื่อรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาสันติภาพในแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ และเพื่อปกป้องความมั่นคงจากการขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกและ NATO ทางด้านชาติตะวันตกหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางการทหารกับรัสเซีย ด้วยการประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันรัสเซียให้ยุติการปฏิบัติการ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของการสู้รบทั้ง 2 ฝ่ายมีความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพกันหลายครั้ง

โดยมีตุรกีเป็นสื่อกลาง แต่การเจรจาก็หยุดชะงักลงตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 65 ซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซียเข้ายึดครองเมืองมาริอูปอลซึ่งเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญในทะเลดำ ทำให้การขนส่งสินค้าของยูเครนออกจากท่าเรือในทะเลดำถูกปิดกั้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฟินแลนด์และสวีเดนประกาศละทิ้งความเป็นกลางทางการทหารด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 65 มีความคืบหน้าด้านบวกที่สำคัญ คือการที่รัสเซียและยูเครนลงนามในข้อตกลง Black Sea Grain Initiative โดยมีตุรกีและองค์การสหประชาชาติเป็นสื่อกลาง เพื่อเปิดทางให้ยูเครนส่งออกธัญพืชและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ผ่านทะเลดํา ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยุโรปในด้านพลังงานก็มีความตึงเครียดมากขึ้น

เนื่องจากรัสเซียยุติการจ่ายก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการส่งก๊าซไปยังยุโรป โดยให้เหตุผลว่า ผลจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกทำให้รัสเซียยังไม่ได้รับคืนอุปกรณ์สำคัญของท่อส่งก๊าซที่ส่งไปซ่อมบำรุง พร้อมทั้งตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่จัดส่งก๊าซจนกว่าจะมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และหลังจากนั้นไม่นานรัสเซียก็เข้าไปโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริเซียของยูเครน จนสร้างความกังวลถึงการเกิดสงครามนิวเคลียร์

สงครามเริ่มรุนแรง

สถานการณ์ความขัดแย้งยกระดับความรุนแรงขึ้นอีกขั้นในช่วงเดือน ก.ย. 65 หลังจากรัสเซียสั่งระดมกำลังสำรองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนกว่า 300,000 นาย ไปร่วมการต่อสู้ในยูเครน และเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 65 รัสเซียได้ประกาศผนวก 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริเชีย ขณะที่ชาติตะวันตกไม่ยอมรับการผนวกดินแดนดังกล่าว และในวันเดียวกันยูเครนก็ตอบโต้ด้วยการยื่นคำขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขการยุติการสู้รบที่รัสเซียเคยเสนอเมื่อครั้งที่มีการเจรจาสันติภาพ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุระเบิดที่สะพานไครเมียโดยฝ่ายรัสเซียได้กล่าวหาว่า เป็นฝีมือของฝ่ายยูเครน ซึ่งทำให้รัสเซียนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการระงับข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ชั่วคราว แต่ในช่วงเดือน พ.ย. 65 ก็ได้มีการตกลงขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปจนถึงเดือน มี.ค. 66ในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 65 จนถึงปัจจุบัน

การสู้รบมีแนวโน้มยืดเยื้อและยกระดับรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ หลังรัสเซียยกระดับปฏิบัติการทางทหารด้วยการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนจนเสียหายกว่า 50% ทำให้ยูเครนยืนยันว่าจะไม่ยอมเจรจาจนกว่ารัสเซียจะถอนกำลังทหาร และยอมรับอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ขณะที่ชาติพันธมิตร NATO ให้คำมั่นว่าจะจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และให้การสนับสนุนทางทหารในการต่อสู้กับรัสเซียจนถึงที่สุด ฝ่ายรัสเซียก็มีการลงนามความร่วมมือทางการทหารครั้งใหญ่กับเบลารุสเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 66 สะท้อนว่าสถานการณ์ความขัดแย้งน่าจะยังไม่สิ้นสุดในเร็ววันนี้

333 วัน สงครามรัสเซีย - ยูเครน

 

คว่ำบาตรทางเศรษฐกิ

พันธมิตรชาติตะวันตกซึ่งนำโดย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่ม G7 ได้ร่วมกันประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมรอบด้านและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา โดยหวังที่จะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนัก เพื่อกดดันให้รัสเซียยุติการสู้รบ หรือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจา
การคว่ำบาตรด้านการเงิน การธนาคาร การลงทุน อาทิ การตัดธนาคารของรัสเซียออกจากระบบการชำระเงิน SWIFT การอายัดเงินสำรองของธนาคารกลางและสถาบันการเงินของรัสเซีย การห้ามลงทุนเพิ่มในรัสเซีย

การคว่ำบาตรด้านพลังงาน อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดาสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียทั้งหมด, EU ระงับการนำเข้าถ่านหิน ระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียทางทะเล และจะห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันจากรัสเซียตั้งแต่เดือน ก.พ. 66, EU G7 และออสเตรเลียใช้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าจากรัสเซียที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

การคว่ำบาตรด้านการค้าสินค้าและบริการ อาทิ จำกัดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการทหารของรัสเซีย เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีขั้นสูง อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ทองคําและผลิตภัณฑ์ทองคำ ห้ามนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากรัสเซีย และระงับการให้บริการขนส่งสินค้าแก่รัสเซีย

ทางด้านรัสเซียก็ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ด้วยการประกาศรายชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตรซึ่งเป็นประเทศที่ร่วมคว่ำบาตรรัสเซียจำนวน 48 ประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการเฉพาะ อาทิ การห้ามส่งออกสินค้ามากกว่า 200 ประเภท เช่น ด้านโทรคมนาคม การแพทย์ ยานพาหนะ การเกษตร และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ การห้ามธนาคารรัสเซียทำธุรกรรมเกี่ยวกับหุ้นหรือการโอนหุ้น การกำหนดให้บริษัทรัสเซียจ่ายหนี้ต่างประเทศด้วยสกุลเงินรูเบิล ห้ามขายหุ้นในธนาคารและธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อรัสเซีย ตลอดจนการห้ามส่งออกน้ำมันให้ประเทศที่ร่วมมาตรการจำกัดเพดานน้ำมันรัสเซีย

333 วัน สงครามรัสเซีย - ยูเครน

วิกฤตกระทบเศรษฐกิจ

วิกฤตอาหาร ผลพวงจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารโลกและทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง เนื่องจากรัสเซียและยูเครนซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลกหลายชนิด อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน และข้าวบาร์เลย์ การส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังตลาดโลกได้ลดลง นอกจากนี้ ราคาปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรก็ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำหรับปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหาร ทำให้มากกว่า 30 ประทศประกาศระงับการส่งออกสินค้าเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในปี 2565 ดัชนีราคาอาหารโลกอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้น 14.3% จากปีก่อน
วิกกฤตพลังงาน การจำกัดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียตามมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียของชาติตะวันตก ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความกังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะกระทบต่ออุปทานของการผลิตน้ำมันทั่วโลก เพราะรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก และยังเป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก โดยราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงในการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ภาคการขนส่ง และภาคการผลิตสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบ

อีกทั้งส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ผลักดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การที่รัสเซียระงับการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป ยังส่งผลให้ประเทศในยุโรปซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาก๊าซจากรัสเซียเผชิญความเสี่ยงด้านการขาดแคลนพลังงาน ทั้งนี้ ธนาคารโลกรายงานข้อมูลดัชนีราคาพลังงานโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 60% โดยราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 40.6% และราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 65.4%

วิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ เป็นแรงผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ผ่านราคาพลังงานและอาหาร ทำให้ต้นทุนสินค้าบริการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทบค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มจาก 4.7% ในปี 2564 เป็น 8.8% ในปี 2565 ซึ่งผลจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนของภาคการผลิตและการลดใช้จ่ายของผู้บริโภค และนำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

รัสเซีย-ยูเครนฉุดรั้งเศรษฐกิจโลก

ตลอดระยะเวลา 333 วันที่ผ่านมานับตั้งแต่รัสเซียเข้าไปปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤตการณ์ในครั้งนี้เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และยังส่งผลกระทบสืบเนื่องมาจนถึงขณะนี้ โดยธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว 2.9% ซึ่งชะลอลงอย่างมากจากที่ขยายตัว 5.9% ในปี 2564 และต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อต้นปีก่อนเกิดวิกฤตในยูเครนที่ 4.1% และนับจากนี้เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น บ่งชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตโลกจนถึงเดือน ธ.ค. 65 ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในภาวะหดตัวติดต่อกัน 4 เดือน

และสอดคล้องกับที่ธนาคารโลกคาดการณ์ล่าสุดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.7% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี หากไม่นับวิกฤตการเงินโลกในปี 2552 และปี 2563 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขณะที่การค้าโลกที่จะขยายตัวเพียง 1.6%

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2565 เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีสัดส่วนพึ่งพาภาคต่างประเทศสูง หรือพึ่งพาการส่งออกมาก อย่างเช่นไทยที่การส่งออกสินค้าหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน โดยหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันในเดือน ต.ค. และ พ.ย. 65 เช่นเดียวกับประเทศ อื่น ๆ ในภูมิภาคที่การส่งออกมีทิศทางชะลอตัวลง และตราบใดที่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังยังคงดำเนินต่อไป ก็จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวให้อ่อนแอลงไปอีก และจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในฐานะประเทศที่พึ่งพาภาคต่างประเทศในระดับสูง

333 วัน สงครามรัสเซีย - ยูเครน