ปัจจุบันเทรนด์พลังงาน เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การลงทุนธุรกิจเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่การแข่งขันแห่งยุคอุตสาหกรรม New S-curve บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เป็นหนึ่งในธุรกิจพลังงานที่สามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านวิกฤตทั้งต้มยำกุ้ง มาจนถึงโควิด และยืนหยัดท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโลก
“นายสมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ฉายภาพธุรกิจและแนวคิด มุมมองการขับเคลื่อน “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศไทย 2023” หัวข้อ เดินหน้า New S-curve จัดโดยเครือมติชน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ถอดบทเรียน ฝ่าความท้าทายเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญทั้งความสามารถในการแข่งขัน การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาโลกร้อน และปัญหาราคาพลังงาน
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
- ทำความรู้จักบัตรวิสดอมกสิกรไทย ต้องรวยแค่ไหนถึงถือบัตรได้
- สนามบินเยอรมนีป่วน ! การบินไทยยกเลิกเที่ยวบินแฟรงก์เฟิร์ต-มิวนิก 26-27 มี.ค.
นโยบายผิด-โครงสร้างไฟเก่า
ปัจจุบันบริษัทกำลังพัฒนาสู่การเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม New s-curve EA เกิดมาจากการเชื่อมต่อธุรกิจ connecting the dots ไปพร้อมกับการวางเป้าหมายใน 5-10 ปีข้างหน้าไว้อย่างแข็งแกร่ง โดยนำเอาบทเรียนด้านพลังงานที่ผ่านมา มาสะท้อนถึงปัจจุบันว่า
“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก บุญเก่าที่มีกำลังจะหมดไป หากในอีกไม่กี่ปีนี้ ไทยยังไม่สามารถทำอะไรได้แบบเป็นชิ้นเป็นอัน อนาคตลูกหลานจะไม่มีโอกาสได้เริ่มต้นได้อย่างแข็งแกร่งเหมือนคนรุ่นเก่าที่เต็มไปด้วยโอกาส”
ปัญหาหลักของนโยบายภาคพลังงานคือ “กระดุมเม็ดแรก” ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า “มากเกินความจำเป็น” เกินกว่าความต้องการถึง 40-50% จากปกติที่ควรมี 10% ถือเป็นการดำเนินด้านนโยบายภาครัฐที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นสาเหตุของปัญหาค่าไฟฟ้าในไทยที่มีราคาแพง
ทั้งยังพึ่งพาการนำเข้าพลังงานก๊าซธรรมชาติมากเกินไป การผลิตจากอ่าวไทยในประเทศที่ลดลง การพัฒนาแหล่งก๊าซในประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานรายใหม่ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้น ค่าไฟวันนี้จะไม่ลดลงง่าย ๆ หากไม่นำทรัพยากรในประเทศมาพัฒนาควบคู่กับวางแผนนโยบายพลังงานให้ชัดเจน
มากไปกว่านั้น ราคาพลังงานในประเทศปัจจุบันยังไม่สะท้อนความเป็นจริง เนื่องจาก “โครงสร้างการใช้ไฟฟ้าเก่า” ไม่มีการปรับปรุงมานาน เช่น ช่วงที่ค่าไฟพีก ออฟพีก ข้อมูลยังถูกจัดเก็บรูปแบบเดิม ทั้งที่ผ่านมากว่า 20 ปี รวมถึงโครงสร้างนโยบายไฟฟ้าและโครงสร้างสายส่งของไทยก็ถือเป็นอุปสรรคต่อระบบอุตสาหกรรม
“ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่อุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 การไฟฟ้า ทำให้ขาดการบูรณาการ ไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลร่วมกัน บริหารร่วมกัน และผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ภูมิรัฐศาสตร์ดันราคาพุ่ง
อีกมุมที่สำคัญคือ ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และเรื่องสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จะต้องดำเนินนโยบายอย่างไร เพื่อให้ทันต่อขีดความสามารถเเข่งขันที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของต้นทุนเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ล้วนเกิดจากการบริหาร ท้ายที่สุดส่งผลให้เกิดช่องว่างทางสังคมตามมา ไม่ใช่เเค่ไทย แต่ยังเกิดขึ้นทั่วโลก
“ช่วงที่ผ่านมา เราโชคไม่ดีที่ต้องเจอสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติจากที่อยู่ในระดับต่ำ ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นผลของการนำเข้าเป็นจำนวนมาก เพราะแม้เรามีอยู่ในอ่าวไทย แต่ก็ลดลง เนื่องจากใช้มานานกว่า 40 ปี
บวกกับการส่งมอบจากผู้ประกอบการรายเดิมไปยังรายใหม่ไม่สมูท ทำให้เราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ซึ่งต้นทุนสูง หากจะกลับมาพัฒนาในอ่าวไทยก็ต้องใช้เวลา เป็นสิ่งที่กำลังจะบอกว่า ค่าไฟฟ้าของไทยจะไม่ลดลงง่าย ๆ พูดง่าย ๆ คือเราต้องใช้ของแพงไปก่อน จนกว่าจะผลิตจากในประเทศมาใช้ได้อย่างเต็มกำลัง”
“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำเป็นต้องใช้พลังงานที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้น สาเหตุที่นักลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปลงทุนเวียดนามมากขึ้น เพราะไทยมีต้นทุนพลังงานสูง จึงเลือกไทยเป็นตัวเลือกท้าย ๆ ไทยมีโรงไฟฟ้าจำนวนมากก็จริง แต่กลับเป็นพลังงานฟอสซิล ซึ่งมีราคาที่สูงเช่นเดิม ตรงนี้ถือเป็นอุปสรรคที่หากรัฐบาลไม่มีนโยบายพลังงานที่ชัดเจน จะหลุดบ่วงกับดักนี้ได้อย่างไร”
สูตรใหม่ลดค่าไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี แนวทางแก้ปัญหาภาคพลังงานประเทศไทยที่สามารถทำได้ทันที ด้วยการปรับราคาค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนไฟฟ้าที่เป็นจริง ลดนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มการรับซื้อพลังงานสะอาดทุกประเภท โดยเฉพาะพลังงานน้ำ รวมถึงการเปิดซื้อขายเสรีโซลาร์รูฟท็อปที่ทำได้เร็ว
โดยไทยต้อง “เปลี่ยนสูตร” วิธีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ “นำเอาโรงไฟฟ้าแก๊สมาเป็นแบ็กอัพ นำเอาแบตเตอรี่มาปรับใช้ ทำให้ค่าเอฟทีลดลง” ส่งเสริมสนับสนุนการใช้ EV ให้เป็นรูปธรรม เน้นรถขนส่งและสาธารณะก่อน
ในทางตรงกันข้าม ต้องเปลี่ยนวิธีการควบคุมเอทานอล เพื่อเพิ่มศักยภาพส่งออกและใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ ส่งเสริมการผลิต Biojet Fuel ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลง เพื่อดูแลพืชพลังงานและสร้างโอกาส สร้างมูลค่าเพิ่ม
โดยชี้ให้เห็นว่า ไทยควรนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่บูรณาการฉบับที่ 1-13 โดยภาคพลังงานมีหมุดหมายที่ 3 การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ามาปรับใช้ เพราะได้วางไว้ชัดเจนดีแล้ว แต่ปัญหาที่จะเกิดคือ How and When รัฐบาลต้องวางเป้าหมายที่จะทำให้เกิดภาพชัดอย่างไร และจะสำเร็จอย่างไร
การทำงานของภาคเอกชนอย่าง EA จะแตกต่างจากรัฐบาลคือ มีเป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ และกำหนดเดดไลน์ชัดเจน ทำให้เติบโตได้ ดังนั้น หากประเทศจะเดินไปข้างหน้า จะอาศัยการเติบโตแบบธรรมชาติต่อไปอีกไม่ได้เเล้วต้องเติบโตแบบมียุทธศาสตร์ และต้องกำหนดวิธีการและระยะเวลาที่จะไปถึงเป้าหมาย หรือ How and When ที่ทำให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้
ที่สำคัญไทยต้องเพิ่มมูลค่าซัพพลายเชนในระบบ ที่ผ่านมาไทยมีความภาคภูมิใจในการเป็นฐานผลิตและส่งออกรถยนต์ แต่สิ่งที่ได้รับตอบแทนจากการลงทุนนั้น ไทยได้เพียงแค่ค่าแรงในการผลิตรถคันละ 5,000 บาทจากราคารถที่ขายได้ 1 ล้านบาท
ฉะนั้น รัฐบาลใหม่มีวิชั่นและกล้าทำอะไรใหม่ ๆ เน้นการสร้าง “Thailand first” แก้ปัญหาไมนด์เซตก่อน หากคิดเหมือนเดิมก็ได้เหมือนเดิม ต้องมองวิกฤตเป็นโอกาส หากทำสำเร็จความเหลื่อมล้ำจะน้อยลง โอกาสดี ๆ จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นต่อไป ประเทศไทยก็จะเจริญ
EA เป็นหนึ่งในบริษัทของคนไทย อยากเห็นการเติบโตระดับโลกโดยคนไทย ชื่อ EA หรือ Energy Absolute ไม่ได้หมายถึงพลังงานบริสุทธิ์เท่านั้น แต่หมายถึงความบริสุทธิ์ที่มีพลังที่จะกระจายออกไปสู่ระดับโลก
EA สู่ New Episode
ซีอีโอ อีเอ ฉายภาพว่า ในส่วนของธุรกิจ EA ว่าได้มีกลยุทธ์ (Stragety) ด้านพลังงาน เน้น 2 จุดคือ Electrification ที่มีหัวใจหลักเป็นเเบตเตอรี่ อีกส่วนคือ ตัวที่จะมาแทนฟอสซิล คือ Green Diesel/Bio-jet Fuel
“EA ปรับเปลี่ยนตัวเองจากวันแรกที่เป็นบริษัทเล็ก ๆ เริ่มผลิตไบโอดีเซล เข้ามาอยู่ในธุรกิจพลังงานทดแทน เมื่อเห็นช่องว่างและโอกาส ปัจจุบันจึงเกิดเป็น EA ยุทธศาสตร์ ซึ่ง EA เป็นรายเเรกที่ผลิต Bio Fuel อย่างจริงจัง โดยไม่มีการซื้อเทคโนโลยีเพิ่มเติม แต่นำเอาสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอด เริ่มลงทุนพลังงานสะอาด (Renewable) เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า มีโรงงานที่ทันสมัยที่สุด รถเมล์ไฟฟ้า 70% รถไฟไฟฟ้า ที่ผลิตในประเทศไทย เรือไฟฟ้า
เป็นเรือลำแรกที่ชาร์จมากกว่า 1 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถสร้างเมกะเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาเองได้ นอกจากนี้ ยังมีสถานีชาร์จที่แตกต่าง โดยมีเน็ตเวิร์กเชื่อมโยงรถยนต์เชิงพาณิชย์จับตลาดนิช”
“ขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้วพยายามพัฒนาเป็นผู้นำ Hydrogen Competitor ซึ่งข้อจำกัดคือ แพง อันตราย แตกต่างจากแบตเตอรี่บวกไฟฟ้า แต่เนื่องจากไม่มีฐานผลิตที่ใหญ่ บริษัทจึงต้องหาตลาดนิช สร้างเทคโนโลยีที่เรียกว่า Ultra Fast Charge เน้นกลุ่มรถขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานเยอะ เชื่อมต่อให้สามารถพัฒนาระบบ Ecosystem
ปัจจุบัน EA จดเป็นสิทธิบัตรทั่วโลก ต่อยอดลงทุน ไม่ว่าเป็น ยุโรป ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ ผ่านคอนเซ็ปต์การ Apply technology สิ่งแวดล้อมเข้าไปอย่างจริงจัง ดังนั้น วันนี้ EA ได้เริ่มเดินหน้าจากจุดนี้แล้วต่อยอดสถานีชาร์จที่แตกต่างอีกด้วย”
ซีอีโอ อีเอ ยังมองข้ามชอตไปอีกว่า หากในอนาคตเทรนด์พลังงานสะอาดที่มาทำให้คนใช้น้ำมันน้อยลง ยังมีเกษตรกรไทยที่เป็นผู้ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ที่ทำไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์ม 2 กลุ่มนี้
ดังนั้น จะทำอย่างไรให้สามารถบาลานซ์ทรัพยากรพืชพลังงาน ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้พัฒนาต่อยอด ทาง EA มองโอกาสก่อนวิกฤต จึงได้พัฒนานำเอาน้ำมันพืชมาทำเป็นน้ำมันเครื่องบิน (Bio jet fuel) หรือสร้างมูลค่าพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคอล ซึ่ง EA ใช้เวลาพัฒนาวิจัย 4-5 ปี และจะเริ่มเห็นในตลาดในปีนี้