บทใหม่ประเทศไทย

สัมมนา
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ในงานเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศไทย 2023” หัวข้อ “New Episode เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมไทย” จัดโดยเครือมติชน เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา มีนักวิชาการ-นักธุรกิจ และกูรูในแวดวงต่าง ๆ ขึ้นเวทีกล่าวถึงแง่มุมต่าง ๆ ของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่ถือว่าเป็นความท้าทายใหม่ท่ามกลางมรสุมการถดถอยทางเศรษฐกิจในระดับโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค “BANI world” ประกอบด้วย B-brittle ความเปราะบาง A-anxious ความกังวล N-nonlinear คาดเดายาก และ I-incomprehensible ความไม่เข้าใจ เป็นการเปลี่ยนจากยุค “VUCA world” (ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน และความคลุมเครือ) ที่ถูกดิสรัปชั่นเช่นกัน

“กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือไอเอ็มเอฟ (IMF-International Monetary Fund) เตือนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะผันผวนและอยู่ในช่วงขาลง ประเมินว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่ำมาก โดย “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” หรือจีดีพี (GDP-gross domestic product) ยุโรปจะเติบโต 0% สหรัฐอเมริกา โต 0.5% และจีน โต 4.3% ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน

ไม่เพียงเท่านั้นภาคเอกชนที่เรียกร้องแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงทำให้ไทยสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ การส่งออกปีนี้ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ยิ่งกลายเป็นแต้มต่อให้เพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ที่ค่าไฟฟ้าถูกกว่าไทยราว ๆ ครึ่งหนึ่ง ไม่นับรวมถึงค่าแรงขั้นต่ำ หรือการได้สิทธิทางภาษีจากกลุ่มประเทศยุโรป และอื่น ๆ ขณะที่ไทยถูกตัดสิทธิตั้งแต่ต้นปี 2558 ทำให้การลงทุนจากประเทศต่าง ๆ เบนเข็มไปเวียดนามมากขึ้น

เช่นเดียวกับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประเมินว่า ไทยที่เข้าสู่ช่วงวิกฤต perfect storm ตอนนี้กำลังอยู่ปีที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ข่าวดีคือผ่านช่วง “หัวมรสุม” ไปมากแล้ว แต่ที่ต้องจับตาคือผลกระทบที่กำลังมาคือความท้าทายของกลุ่ม “เรียลเซ็กเตอร์” หรือตลาดจริง ตลาดผู้ผลิต จากความซบเซาของดีมานด์ต่าง ๆ ทั่วโลก

ทั้งคำเตือนและการเรียกร้องของภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องในภาครัฐและอื่น ๆ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งหามาตรการรับมือหรือแก้ไข อย่างน้อยให้ผ่านช่วงครึ่งแรกของปี 2566 รวมถึงให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์และความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เพราะตอนนี้แทบเป็นเสาหลักเดียวที่ทำให้ไทยฝ่ามรสุมเศรษฐกิจปีนี้ไปได้

Advertisment