ไอเอ็มเอฟมองจีน คลายล็อกโควิดทำยอดติดเชื้อพุ่ง กระทบเศรษฐกิจภูมิภาค-โลก

Reuters ชาวปักกิ่งนั่งผ่อนคลายอยู่บนทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็งในภาวะโควิดระบาดเมื่อ 31 ธ.ค. 2022

ไอเอ็มเอฟเตือนการผ่อนคลายมาตรการโควิดของทางการจีนจะทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วราว “ไฟป่า” ในช่วง 3-6 เดือนนี้ ในขณะที่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาวัคซีน และยาต้านไวรัสที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน

“ช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้จะเป็นช่วงที่ยากลำบากของจีน” นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กล่าวกับรายการ Face the Nation ของสถานีโทรทัศน์ CBS ที่ออกอากาศเมื่อช่วงสุดสัปดาห์

นางจอร์เจียวา ขยายความว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่แพร่กระจายรวดเร็วราว “ไฟป่า” นี้  จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในจีน เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน และเศรษฐกิจโลก

เมื่อปลาย พ.ย. ก่อนทางการจีนประกาศยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ นางจอร์เจียวาเปิดเผยว่าไอเอ็มเอฟอาจปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงอีกหลังจากเพิ่งประกาศปรับลดไปแล้วหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นเนื่องจากข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับโควิด รวมถึงวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์

Reuters
ชาวปักกิ่งนั่งผ่อนคลายอยู่บนทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็งในภาวะโควิดระบาดเมื่อ 31 ธ.ค. 2022

เมื่อเดือน ต.ค. ไอเอ็มเอฟตัดสินใจปรับลดประมาณการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2023 เนื่องจากสงครามในยูเครนและดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นเพราะธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ พยายามจะควบคุมราคาที่สูงขึ้น

ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 3.2% ในปี 2022 และ 4.4% ในปี 2023

ทว่าเมื่อกลาง ธ.ค. หลังรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์ ของสหรัฐฯ ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจจีนในปี 2023 เพิ่มจาก 5% เป็น 5.4%

นางจอร์เจียวา กล่าวกับ CBS ด้วยว่า ภาวะล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อในจีนและปัจจัยลบอื่น ๆ ในประเทศในปี 2022 จะทำให้จีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ “ใกล้เคียงหรือต่ำกว่า” อัตราการเติบโตเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 3.2%  

ไอเอ็มเอฟเป็นองค์กรนานาชาติที่มีประเทศสมาชิก 190 ชาติ สมาชิกเหล่านี้ทำงานร่วมกันเพื่อพยายามเพิ่มเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก หน้าที่หลักหน้าที่หนึ่งคือทำหน้าที่เป็นระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจ

“ยากลำบากกว่า” ปี 2023

ไอเอ็มเอฟ

Reuters

ในการสัมภาษณ์กับ CBS นางจอร์เจียวาเตือนด้วยว่าชาติต่าง ๆ ราว 1 ใน 3 ของทั้งโลกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยปีนี้

เธอบอกว่าปี 2023 จะ “ยากลำบากกว่า” ปีที่แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เติบโตช้าลง

“เราคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย” นางจอร์เจียวา บอกกับรายการ Face the Nation ของสถานีโทรทัศน์ CBS

“แม้กระทั่งประเทศที่ไม่ได้มีภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนหลายร้อยล้านคนก็จะรู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่มีสงครามในยูเครน, ราคาข้าวของต่าง ๆ แพงขึ้น, อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และการระบาดของโควิดในจีน ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก

ไอเอ็มเอฟคาดว่าในปี 2023 เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหลีกเลี่ยงภาวะติดลบได้ แต่ในสหภาพยุโรป ครึ่งหนึ่งของชาติสมาชิกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัว ส่วนเศรษฐกิจจีนจะลดความเร็วในการเติบโตลง

นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนก็มองคล้ายกัน

คาทรีนา เอลล์ นักเศรษฐศาสตร์บริษัทด้านเศรษฐกิจ Moody’s Analytics ในซิดนีย์ บอกว่า แม้ว่าจะยังไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับโลกในปีนี้ แต่ความเสี่ยงก็สูงมาก อย่างไรก็ดี ยุโรปจะต้องตกอยู่ในภาวะนั้น ขณะที่สหรัฐฯ ตกอยู่ในสถานะหมิ่นเหม่

เอเชียเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากสงครามยูเครน และครัวเรือนและบริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

เมื่อจีน “ป่วย”

ตัวเลขที่เผยแพร่ออกมาช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ไปที่ความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนในช่วงปลายปี 2022

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index – PMI) สำหรับเดือน ธ.ค. ชี้ว่า การผลิตในจีนหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี ขณะที่โควิด-19 จะระบาดอย่างหนักในประเทศ

จากการสำรวจโดยสถาบันวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ China Index Academy ในเดือนเดียวกันนี้ ราคาบ้านใน 100 เมืองในจีนร่วงลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

เมื่อ 31 ธ.ค. ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมาพูดทางสาธารณะครั้งแรกตั้งแต่เปลี่ยนนโยบายโควิด โดยเขาเรียกร้องให้คนพยายามมากขึ้น ให้ร่วมมือร่วมใจกัน ขณะที่จีนเข้าสู่ “บทใหม่”

เศรษฐกิจที่แย่ลงในสหรัฐฯ เท่ากับว่ามีความต้องการสินค้าที่ทำในจีนและประเทศเอเชียอื่น ๆ อย่างไทยและเวียดนาม น้อยลงไปด้วย

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้การกู้ยืมต้องใช้เงินมากขึ้นด้วย นี่เป็นเหตุผลให้บริษัทต่าง ๆ อาจไม่ลงทุนขยายธุรกิจ

เศรษฐกิจที่หดตัวอาจทำให้นักลงทุนถอนเงินออกจากระบบเศรษฐกิจและประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยากจน ก็จะมีเงินสดในการจ่ายสินค้านำเข้าสำคัญอย่างอาหารและพลังงาน น้อยลงไปด้วย

หลายทศวรรษมาแล้วที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพึ่งจีนในฐานะคู่ค้ารายใหญ่และเป็นที่พึ่งด้านเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดวิกฤต

ตอนนี้ เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียกำลังได้รับผลกระทบในระยะยาวจากยุทธศาสตร์การรับมือโควิดของจีน

การผลิตสินค้าอย่างรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาและโทรศัพท์ไอโฟนอาจกลับมาเดินหน้าต่อได้หลังจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ แต่ความต้องการซื้อสินค้าอย่างน้ำมันและแร่เหล็ก ก็มีแนวโน้มจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอีก

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว