เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า “ไทยโอกาสมา แต่บุญเก่ากำลังหมด”

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

โอกาสของประเทศไทย เป็นคำถามที่สำคัญที่อยู่ข้างหน้าว่าประเทศไทยจะหยิบฉวยโอกาสในอนาคตมาเป็นของเราได้อย่างไร ซึ่งโค้งนี้เป็นโค้งที่สำคัญที่สุด เพราะในปี 2566 จะเป็นโค้งที่กำหนดว่าประเทศไทยจะเป็นหมู่หรือเป็นจ่า

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานสัมมนา 46 ปี มติชน Thailand : New Episode บทบาทใหม่ประเทศไทย 2023 ในหัวข้อเรื่อง “Thailand Opportunity” เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

“หัวมรสุม” กำลังผ่านไป

ดร.กอบศักดิ์ฉายภาพว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ผ่านช่วงวิกฤต perfect storm ไปแล้ว จากปี 2565 มีความผันผวนและเป็นความท้าทาย ตอนนี้กำลังเข้าช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเริ่มมาเยือน แต่จุดสำคัญคือเราได้ผ่าน “ช่วงหัวมรสุม” ไปแล้ว

ช่วงปี 2565 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตั้งแต่เหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ กดดันตลาดเงินตลาดทุนโลกปั่นป่วนและผันผวนรุนแรง และกระทบต่อราคาน้ำมัน ราคาโลหะ และราคาอาหาร ปรับตัวขึ้นพร้อมกัน จนกังวลใจว่าจะเกิดวิกฤตพลังงานโลก วิกฤตอาหารโลก และวิกฤตเงินเฟ้อโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แต่ผ่านมา 1 ปีราคาน้ำมันโลกกลับไปอยู่ที่เดิม ราคาโลหะก็กลับไปเท่ากับเมื่อ 2 ปีก่อน และราคาอาหารโลกก็เริ่มกลับเข้าที่ แสดงว่าความท้าทายด้านต้นทุนต่าง ๆ ได้คลี่คลายไปเยอะแล้ว

ทำให้ปี 2566 จะเป็นปีที่ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายจากเงินเฟ้อเริ่มลดลง โดยทุกคนต่างมองว่าเฟดน่าจะสบายใจขึ้นและเริ่มนิ่งขึ้น เห็นได้จากดัชนีดาวโจนส์และแนสแดค รวมถึงราคาบิตคอยน์ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือน ม.ค.นี้

ปี 2566 โลกเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า

ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า จากที่ “หัวมรสุม” ได้ผ่านไปเยอะแล้ว แต่ผลพวงมรสุมต่าง ๆ สาดแรงเต็มไปหมด และตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือ น้ำท่วมขัง หรือภาวะถดถอยที่เข้ามาเยือนขณะเดียวกันกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) กำลังมีปัญหา

ที่น่าสนใจคือ เศรษฐกิจไม่ดี เริ่มส่งผลโดยตัวเลขส่งออกล่าสุดสิงคโปร์ติดลบ 20% ขณะที่สิงคโปร์คือผู้ส่งออกโลก เมื่อสิงคโปร์ส่งออกตกลง 20% หมายถึงว่าผู้ที่ส่งสินค้าไปสิงคโปร์ก็มีปัญหา เกาหลีใต้ส่งออกก็ติดลบ 10% รวมทั้งโรงงานของโลกอย่างจีน ส่งออกติดลบ 9.9%

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาความท้าทายอยู่ที่ “ตลาดทุน” ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ แต่ปีนี้ความท้าทายจะอยู่ที่ “ตลาดจริง” ก็คือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการต่าง ๆ เพราะความซบเซาของดีมานด์ต่าง ๆ ทั่วโลกที่จะต้องปรับตัว

“ประเทศหลัก ๆ ของการส่งออกกำลังเผชิญปัญหาการส่งออกสินค้า สอดรับกับที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึมเศร้า กำลังซื้อลด บริษัทต่าง ๆ กำลังเตรียมเคลียร์สต๊อกไม่ต้องส่งของมา หมายความว่าคนที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกกำลังเผชิญชะตากรรม”

สำหรับประเทศไทย ตัวเลขส่งออกเมื่อปรับฤดูกาลและตัดส่งออกทองคำออก พบว่าการส่งออกไทยลดลงตั้งแต่กลางปี 2565 คือตั้งแต่เดือนมิถุนายนส่งออกลดลง 10% แล้ว ทั้งที่บอกว่าเศรษฐกิจดี ส่งออกได้ แต่ความจริงตัวความซึมเศร้าของเศรษฐกิจโลกได้ปรากฏผลในการส่งออกของไทยแล้ว จึงกังวลว่าปี 2566 ความท้าทายทั้งหมดของตัวผู้ประกอบการภาคการผลิตจะทำอย่างไร ให้ผ่านตรงนี้ไปได้อย่างไร

ขณะที่ก็เริ่มเห็นบริษัทต่าง ๆ ประกาศเลิกจ้างหรือลดคน เช่น อเมซอน, กูเกิล สะท้อนว่าเขาเห็นอะไรบางอย่างในอนาคต จึงต้องทำตัวให้เบาที่สุดเพื่อให้ผ่านจุดนี้ไปให้ได้ จึงอยากเตือนว่าแม้เราอาจอยู่หางของมรสุม ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตรง ๆ แต่ว่าในโลกกำลังมีความท้าทายเรื่องนี้

ท่องเที่ยวฟื้นจังหวะดีที่สุดของไทย

สำหรับประเทศไทยก็คาดว่าจะผ่านช่วงนี้ไปได้ เพราะมีภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ในจังหวะที่ดีที่สุด เพราะเป็นช่วงคับขันที่สุดของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และคาดว่าปีนี้สถานการณ์โควิดของจีนจะจบลงภายใน มี.ค. 2566 เพราะจีนเลือกเดินแนวทางเดียวกับอินเดีย โดยให้คนจีนติดโควิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ขณะนี้หลายเมืองในจีนมีคนติดโควิดไปแล้วกว่า 80-90%

โดยหลังจากนั้นคนจีนจะมีภูมิคุ้มกันครบก็จะเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกโดยเฉพาะมาไทย ซึ่งทำให้เราจะสามารถอ้าแขนรับคนจีนได้อย่างเต็มที่ โอกาสของไทยคือปีนี้ยิ่งเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นแรงหนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากเท่านั้น ซึ่งจะช่วยภาคส่งออกที่ไม่ค่อยดีได้

“ทั้งหมดนี้อาจยังมีสิ่งที่เรายังมองไม่ทะลุ นั่นคือ เงินเฟ้อจะดื้อแค่ไหน เพราะถ้าเงินเฟ้อไม่ยอมลง หมายความว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาจจะยาวนาน และภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะลึกกว่าที่คาดไว้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

เปิดฝาหลุมหลบภัย “ปีแห่งการลงทุน”

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ปี 2566 มีคำถามสำคัญของประเทศไทยว่าจะรับมือความผันผวนระยะสั้นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อ “ส่งออก” สินค้าไม่ได้ จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยพอผ่านไปได้ จะทำให้ท่องเที่ยวเข้มแข็งอย่างไร ซึ่งเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่อยู่ข้างหน้าเรา แต่ว่าเราจะหยิบฉวยโอกาสมาได้หรือไม่

โอกาสแรกคือ ปี 2566 “โอกาสของการลงทุน” ที่ดีที่สุด สะท้อนภาพตลาดหุ้นในช่วงตลาดหมี (bear market) ตกแรง แต่เวลากลับไปสู่ตลาดกระทิง (bull market) ก็จะพุ่งแรง หมายความว่านี่คือโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุดที่เราไม่ควรพลาด ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอให้วิกฤตจบ แต่ตลาดก็สามารถรีบาวนด์ได้

“เวลาเกิดตลาดหมี หรือเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นจะตกราว 30% แต่หลังจากนั้น 1 ปี รีเทิร์นจะบวกกลับมาอย่างน้อย 50% สะท้อนว่าปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุน ถึงเวลาที่เราจะเปิดฝาหลุมหลบภัย เพื่อออกมาเจอโลกว่าโอกาสอยู่ตรงไหน และแย้มประตูออกไปพรีวิวสินทรัพย์ต่าง ๆ ว่ากำลังปรับตัวอย่างไร”

โอกาสมาพร้อม “บุญเก่า” ที่กำลังหมด

โอกาสที่สองก็คือ โอกาสของการเป็น “ศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคและฮับสตาร์ตอัพ” ซึ่งจุดนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะเอเชียคือเป้าหมายของตลาดโลก เป็นพื้นที่มีมหาเศรษฐีกว่า 950 คน มากที่สุดในโลก ขณะที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้บริษัทสหรัฐและหลายประเทศก็ทยอยออกจากจีน และ “อาเซียน” มีความน่าสนใจที่สุด จากความมีมนุษยสัมพันธ์ดี ทำธุรกิจง่าย และเป็นตลาดที่บริษัท
ต่าง ๆ มีกำไรมากที่สุด ธุรกิจเริ่มหลั่งไหลมาลงทุนอาเซียน เป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับบุญเก่าของประเทศไทยที่กำลังจะหมดไป หลายอุตสาหกรรมที่เคยพึ่งพาในอดีต ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ โรงเหล็ก กำลังถูกทดแทนจากอุตสาหกรรมอีวี คลาวด์ รวมถึงวัสดุใหม่ ๆ ที่การผลิตปราศจากคาร์บอน เป็นต้น

และที่สำคัญการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่เข้ามาในอาเซียน เวียดนามจะได้ 3 เท่าของที่มาประเทศไทย รวมทั้งอินโดนีเซียที่มีการลงทุนเข้าไปมากกว่าประเทศไทย ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า โอกาสกำลังเข้ามา แต่จะสามารถดึงมาเป็นของประเทศไทยได้หรือไม่ ในการทำให้ประเทศไทยเป็นฮับของภูมิภาค ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง แต่ต้องทำให้การเป็นฮับอยู่ในเมืองไทย สิ่งสำคัญคือ เราจะเปลี่ยนนโยบายตัวเองเพื่อไปจุดนั้นได้หรือไม่

ดันบริษัทไทยโตระดับภูมิภาค

โอกาสที่สามก็คือ โอกาสก้าวออกไปเติบโตสู่ระดับภูมิภาคของบริษัทไทย โดยต้องคิดถึงการย้ายฐานไปตั้งโรงงานในประเทศต่าง ๆ เพราะมีโอกาสดี ๆ เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นแถบอาเซียน หรือไกลออกไปกว่านั้น เช่น บังกลาเทศ, อินเดีย เป็นต้น

“ถ้าเราทำได้จะเป็นโอกาสของเรา ทั้งหมดนี้คือ Thailand Opportunity ที่กำลังรอเราอยู่ หัวใจสำคัญคือ ทำโอกาสให้เป็นของเรา ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่จุดนั้น ฉะนั้นอย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านไป ซึ่งตรงนี้เป็นโค้งสำคัญที่สุดที่จะกำหนดว่าประเทศไทยจะเป็นใครในอีก 10 ปีข้างหน้า”