
โจทย์ใหญ่ประเทศไทยเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลบ่าเข้าอาเซียน แต่พุ่งเป้าไปที่ “เวียดนาม” มากกว่าไทย 3 เท่าตัว เปิดตัวเลขเอฟดีไอเข้าเวียดนามปี’65 เฉียด 9 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนใหม่กว่า 2,000 โครงการ เผย 5 กลุ่มหลัก “อุตฯผลิต-อสังหาฯ-โรงไฟฟ้า-วิทยาศาสตร์-ค้าปลีกค้าส่ง” เอกชนชำแหละไทยสารพัดปัญหา “ค่าไฟ-ค่าแรง” ทั้งเวียดนามมีแต้มต่อข้อตกลง FTA และโครงสร้างประชากรวัยทำงาน ประธาน ส.อ.ท.ถล่มปัญหาค่าไฟภาคอุตสาหกรรมแพงกว่า “เวียดนาม” เท่าตัว ปิดประตูสู้ ขณะที่ยักษ์ธุรกิจแห่ย้ายฐานปักหมุดเวียดนาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าของภาคเอกชนขยับขึ้นเป็น 5.33 บาทต่อหน่วย ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อภาคธุรกิจอย่างมาก จากความกังวลถึงปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะมาส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
- ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิต อายุ 55 ปี หลังซ้อมแข่งรถที่บุรีรัมย์
จากที่ก่อนหน้านี้ไทยได้มีการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำไปแล้ว ซึ่งน่าจะส่งผลให้ภาพการลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศแผ่วหายไปจากประเทศไทย เพราะเวียดนามมีปัจจัยหนุนการลงทุนทั้งจากโครงสร้างประชากรวัยทำงาน 100 ล้านคน และความสะดวกของระบบโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น
เอกชนไทยสู้ไม่ไหว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานเสวนาใหญ่ “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศไทย 2023” จัดโดยเครือมติชน ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 2565) เม็ดเงินลงทุน FDI สัดส่วนกว่า 50% มุ่งไปที่สิงคโปร์ เป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ มาเลเซีย และเวียดนาม ขณะที่ไทยตกอันดับลงมา สะท้อนถึงขีดความสามารถการแข่งขันของไทยที่กำลังอ่อนแอลงเรื่อย ๆ
ผลมาจากต้นทุนภาคการผลิตทั้งค่าจ้างแรงงาน และอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นเท่าตัว จากค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง และล่าสุดสำหรับงวด ม.ค.-เม.ย. 2566 สำหรับประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย ขณะที่เวียดนามมีอัตราค่าไฟฟ้าเพียง 2.88 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ เวียดนามยังมีข้อตกลงการค้าเสรี FTA จำนวน 16 ฉบับ ครอบคลุม 55 ประเทศ ซึ่งได้เปรียบมากกว่าไทย โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปสหภาพยุโรป (อียู) จะมีแต้มต่อมากกว่าการที่ส่งออกจากประเทศไทย นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่นักลงทุนเลือกที่จะลงทุนในเวียดนามมากกว่า
ไทยเผชิญโจทย์พลังงาน
ขณะที่ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า สาเหตุที่นักลงทุนไปลงทุนเวียดนาม โดยที่มีเม็ดเงินมาไทย แค่ 1 ใน 3 ส่วนของเวียดนาม หนึ่งในสาเหตุหลักคือ ค่าพลังงานของไทยที่สูงกว่า และเทรนด์พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญ ประเทศไทยไม่มีพลังงานสะอาดให้ใช้มากพอ เพราะอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ต้องการใช้พลังงานสะอาดในการทำธุรกิจ
“เมื่อไทยต้นทุนพลังงานสูง แน่นอนว่าไทยก็เป็นตัวเลือกท้าย ๆ และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ไทยมีโรงไฟฟ้าจำนวนมากก็จริง แต่เป็นพลังงานฟอสซิล ซึ่งมีราคาที่สูงเช่นเดิม ตรงนี้ถือเป็นอุปสรรค”
นายสมโภชน์กล่าวว่า หากประเทศไทยไม่ปรับให้เร็ว อนาคตอันใกล้เชื่อว่า FDI จะไม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย น่าห่วงว่าสถิติการลงทุนที่ไหลบ่าเข้าภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกว่า 50% มีหมุดหมายไปยังสิงคโปร์ ทั้งที่แทบไม่มีทรัพยากรอะไร แต่ทำไมทุกคนยังเลือกไปสิงคโปร์มากที่สุด ซึ่งหมายความว่าจังหวะเวลาที่เกิดขึ้น หากเรามองวิกฤตออก ก็จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้
FDI เวียดนามแซงไทย 3 เท่า
สอดคล้องกับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่าขณะนี้อาเซียนกำลังเป็นเป้าหมายการลงทุนของทั่วโลก แต่จะพบว่า FDI จะไหลไปเวียดนาม 3 เท่าของประเทศไทย โดยมาไทย 1 โรงงาน แต่ไปเวียดนาม 3 โรงงาน ขณะที่อินโดนีเซียก็มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปเยอะกว่าประเทศไทย
ภาพรวมของตลาดอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากใน 5 ปีนี้ เพราะขณะนี้มีโครงการต่าง ๆ เช่น โรงไฟฟ้าโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โอกาสทุกอย่างกำลังเกิดขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงก็มีความท้าทายเกิดขึ้น คือโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น มาพร้อมกับบุญเก่าที่กำลังหมดไปของประเทศไทย
หลายอุตสาหกรรมที่เคยพึ่งพาในอดีต ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ โรงเหล็ก อาหาร กำลังทดแทนจากรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) คลาวด์ รวมถึงวัสดุใหม่ ๆ ที่ผลิตปราศจากคาร์บอน อาหารที่กำลังเป็นเนื้อเทียม เป็นต้น
ล้วงไส้ในลงทุน “เวียดนาม”
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำเวียดนาม (ฮานอยและโฮจิมินห์) ระบุว่า สถิติของกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม FDI ในเวียดนาม เมื่อปี 2565 มีมูลค่า 27,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 864,000 ล้านบาท) ลดลง 11% จากปีก่อนหน้า โดยเป็นโครงการลงทุนใหม่ 2,036 โครงการ มูลค่า 12,440 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 18.4%
และเป็นการขยายการลงทุน (โครงการเดิม) 1,107 โครงการ มูลค่า 10,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.2% และโครงการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมทุนหรือซื้อกิจการบริษัทเวียดนาม อีก 3,566 โครงการ มูลค่า 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยเป็นทุนจากสิงคโปร์ มาเป็นอันดับ 1 จำนวน 280 โครงการ มูลค่า 6,455 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 416 โครงการ มูลค่า 4,879 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 203 โครงการ มูลค่า 4,781 ล้านเหรียญสหรัฐ จีน 283 โครงการ มูลค่า 2,518 ล้านเหรียญสหรัฐ และฮ่องกง 720 โครงการ มูลค่า 2,223 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ทุนไทยเข้าไปลงทุนโครงการใหม่ 37 โครงการ มูลค่า 110.06 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการเข้าไปซื้อกิจการเวียดนาม 50 โครงการ มูลค่า 161 ล้านเหรียญสหรัฐ จัดเป็นอันดับที่ 13
5 อุตฯยอดฮิต-พื้นที่ยุทธศาสตร์
โครงการลงทุนใหม่ที่เข้าไปเวียดนามปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,036 โครงการ โดยพบว่า อุตสาหกรรมการผลิตและการประมง อันดับ 1 มากถึง 511 โครงการ มูลค่า 16,801 ล้านเหรียญสหรัฐ อสังหาริมทรัพย์ 75 โครงการ มูลค่า 4,451 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยโรงไฟฟ้า น้ำประปา 11 โครงการ มูลค่า 2,261 ล้านเหรียญสหรัฐ
อันดับ 4 คือกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ 331 โครงการ มูลค่า 1,289 ล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มค้าส่งค้าปลีก และการซ่อมจักรยานยนต์ 611 โครงการ มูลค่า 1,010 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับพื้นที่ลงทุนหลักคือเมืองโฮจิมินห์ มาเป็นอันดับ 1 จำนวน 893 โครงการ มูลค่า 3,940 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วย เมือง Binh Duong จำนวน 68 โครงการ มูลค่า 3,142 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมือง Dong Nai 51 โครงการ มูลค่า 1,252 ล้านเหรียญสหรัฐ
ธุรกิจยักษ์แห่ปักหมุดเวียดนาม
ทั้งนี้ หากนับรวมการลงทุนตั้งแต่ปี 2530-2565 ไทยจะเป็นผู้ลงทุนอันดับ 9 ที่เข้าไปลงทุนเวียดนาม ทั้งสิ้น 677 โครงการ มูลค่า 13,100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเอกชนไทยรายใหญ่ที่ขยายการลงทุนในเวียดนามมีหลากหลายสาขาธุรกิจ อาทิ กลุ่มทีซีซี (เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี), เซ็นทรัล กรุ๊ป, เอสซีจี, กลุ่ม ซี.พี., เหมราช, ไทยเบฟ, อมตะ, บี.กริม เพาเวอร์, ซุปเปอร์ เอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น, กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เป็นต้น
ด้านสำนักงานพาณิชย์ชี้ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจเวียดนามมีโอกาสขยายตัว 6.3-7.2% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 8.02% สาเหตุจากต้องเผชิญความท้าทายต่าง ๆ เช่น การเติบโตของภาคการส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ลดลงไปถึง 14% โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากตลาดคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐ และสหภาพยุโรปชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
CRC ขยายลงทุนเวียดนามต่อ
นายโอลิวิเยร์ แลงเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ประเทศเวียดนามถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเซ็นทรัล รีเทล สะท้อนจากยอดขายในเวียดนามที่เริ่มต้นจากศูนย์ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกปีจนแตะ 38,592 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 10 ปี จนปี 2565 สามารถทำยอดขายได้คิดเป็นสัดส่วน 22% ของยอดขายทั้งกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล
เพื่อต่อยอดโมเมนตัมนี้ เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม จึงเตรียมทุ่มงบฯลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาทภายในปี 2569 เพื่อสร้างยอดขาย 1 แสนล้านบาท และขยายธุรกิจให้ครอบคลุม 55 จังหวัดทั่วประเทศเวียดนาม รวมถึงเพิ่มสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทางออมนิแชนเนลโต 2 เท่า เป็น 15% พร้อมขึ้นเป็นเบอร์ 1 แพลตฟอร์มออมนิแชนเนลในกลุ่มฟู้ดและพร็อพเพอร์ตี้ของเวียดนาม
ขณะที่ นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บี.กริม มีการลงทุนผลิตไฟฟ้าในเวียดนาม ทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์และพลังงานลม 677 เมกะวัตต์ ภาพรวมการลงทุนในเวียดนามปีนี้ยังอยู่ระหว่างการรอความชัดเจนของแผนพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 ก่อน
แม้ว่าจะมีรายงานข่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ได้ประกาศกรอบราคารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมซึ่งมีราคารับซื้อลดลงอย่างมาก เช่น โซลาร์ 1.66 บาท โซลาร์ลอยน้ำ 2.11 บาท พลังงานลมที่ติดตั้งบนบก 2.22 บาท พลังงานลมที่ติดตั้งนอกชายฝั่ง 2.54 บาท ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการบางรายชะลอการลงทุนเพราะไม่คุ้มค่า
AJ ร่วมทุนเอสซีจีบุกเวียดนาม
ด้าน นายกิตติภัค สุทธิสัมพัธน์ รองประธานกรรมการ บมจ.เอ.เจ. พลาสท์ (AJ) ผู้ผลิตฟิล์ม BOPP บรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายฐานการลงทุนในเวียดนาม โดยร่วมทุนกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด โดยจัดตั้งบริษัท เอ.เจ.พลาสท์ (เวียดนาม) เพื่อสร้างฐานการผลิตในเวียดนาม ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 22.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 851 ล้านบาท) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในประเทศเวียดนาม
ทั้งเป็นช่องทางให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศอื่น ๆ ที่มีกำแพงภาษีกับประเทศไทย แต่ไม่มีกำแพงภาษีกับประเทศเวียดนาม โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในปี 2567
นายกิตติภัคกล่าวว่า นอกจากประเด็นเรื่องต้นทุนค่าไฟ ค่าแรง และข้อตกลงเอฟทีเอของเวียดนามแล้ว ต้องถือว่าประเทศเวียดนามให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง สะท้อนจากในช่วงการระบาดโควิด-19 รัฐบาลเวียดนามจัดสรรวัคซีนให้กับพนักงานโรงงานของซัมซุงและแอลจีเป็นอันดับแรก ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับภาคท่องเที่ยวก็เลือกจัดสรรฉีดให้กับแรงงานในภาคการท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก
Destination การลงทุนโลก
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม เปิดเผยว่า ธุรกิจไทยยังคงให้ความสนใจขยายการลงทุนในเวียดนาม เพราะเล็งเห็นว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเติบโตในระดับที่ดี ชนชั้นกลางมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นอาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้า ทำให้ธุรกิจไทยที่ไปลงทุนเพื่อการส่งออกอาจมีการชะลอโครงการลงทุน แต่ในระยะยาว ด้วยปัจจัยแรงงานและความตกลงทางการค้า FTA ยังสามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนไทย
เศรษฐกิจเวียดนามยังคงโดดเด่น ในการเป็น destination ของการลงทุนโลก จนอาจเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใหญ่ของโลก ในปีนี้คาดว่าเวียดนามยังคงเป็นแหล่งรองรับการย้ายฐานการผลิตจากจีน จนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลกแห่งที่สอง
“เศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้อาจประสบปัญหาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกบ้าง แต่การย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนจะยังคงดำเนินต่อไป การที่รัฐบาลเวียดนามทำการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจทั้งตลาดหลักทรัพย์และวงการธนาคารเป็นสัญญาณที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต แต่ความขัดแย้งทางการเมืองของสองขั้วอำนาจ อาจส่งผลต่อนโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนได้เช่นกัน”