ขายน้ำอีอีซีเปิดศึกชิงลูกค้า EASTW ยันแล้งนี้น้ำไม่ขาด

eastwater

จับตาศึกท่อส่งน้ำอีอีซี “อีสท์ วอเตอร์-วงษ์สยามฯ” ขีดเส้นเจรจาจบยาว 180 วัน สะเทือน “โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก” ซีอีโออีสท์ วอเตอร์ประกาศพร้อมแข่งสู้ อัดแคมเปญดึงลูกค้า “นิคมอุตสาหกรรม” ชูจุดแข็งน้ำไม่หยุดไหลแน่นอน “เอกชน-กนอ.” ชี้ดีลช่วยให้เกิดการแข่งขัน ลดผูกขาดผู้ใช้น้ำได้ประโยชน์

ประเด็นร้อนที่ลากยาวข้ามปี โครงการประมูลท่อส่งน้ำภาคตะวันออกหรือที่เรียกโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ซึ่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด (พันธมิตรของทีมกรุ๊ป-DITTO) ชนะการประมูลได้สิทธิในการดำเนินการท่อน้ำในพื้นที่อีอีซีจากกรมธนารักษ์ แทนบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ (EW) รายเดิม โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

แต่ขณะนี้โครงการติดล็อกอยู่ในประเด็นการส่งมอบพื้นที่คืนให้กรมธนารักษ์ ที่เดิมวางแผนจะทยอยส่งมอบในเดือน ธ.ค. 2564 แต่จนถึงขณะนี้เดือน ก.พ. 2566 ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ โดยการส่งมอบที่กำหนดไว้ 60-180 วัน ก็จะเท่ากับจะกินเวลาไปถึงหน้าแล้งปี 2566 อาจจะกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก

โครงข่ายท่อส่งน้ำอีอีซี

กางแผนส่งคืนพื้นที่

นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ประเด็นความล่าช้าไม่ได้มาจากบริษัท เพราะได้หารือร่วมกับกรมธนารักษ์ไปแล้ว 3 รอบ ล่าสุดได้ทำแผนประสานไปยังกรมแล้ว โดยกำหนดกรอบเวลาไว้ 3 ระยะ คือ แผน 30 วัน, แผน 60 วัน และแผน 180 วัน นับจากวันที่เจรจาข้อสรุปร่วมกันได้ เกี่ยวกับการดำเนินเรื่องทรัพย์สินในพื้นที่ทับซ้อนที่บริษัทก่อสร้างโรงแยกน้ำในที่ดินของกรมธนารักษ์ว่าจะมีการเช่าหรือดำเนินการอย่างไรต่อ ซึ่งหากได้ข้อสรุปกันเร็วอาจใช้เวลาเพียง 30 วันก็ได้ หรือหากจะนานกว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา

นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าควรรอให้ศาลให้คำตัดสินก่อนที่จะมีการเข้าสู่กระบวนการเจรจา เพราะหากดำเนินการอะไรไปในขณะนี้ ภาครัฐอาจจะต้องเสี่ยงกับการถูกฟ้องร้อง เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะตัดสินไปในทางใดทางหนึ่งก็ตาม หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็อาจจะกระทบต่อภาครัฐ แต่หากรัฐจะใช้คำสั่งหรือมาตรการฉุกเฉินให้บริษัทส่งมอบพื้นที่คืนก็สามารถทำได้เช่นกัน

สำหรับเส้นท่อที่ต้องส่งคืนให้กับกรม ประกอบด้วย 1) โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย-มาบตาพุด-สัตหีบ ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในเดือน ธ.ค. 2566 2) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และ 3) โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง 2 ประเด็นนี้เชื่อมโยงไปถึงผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียงกับเส้นท่อกรมธนารักษ์ ซึ่งจะมีทั้งนิคมมาบตาพุด ที่ดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีโรงงานในนิคมประมาณ 100 โรงงาน

“โครงข่ายท่อภาคตะวันออกที่บริษัทวางไว้ 512 กม. หากหักลบท่อของธนารักษ์ออกไป 135.9 กม. ก็จะเหลือของบริษัทเกือบ 376.1 กม. และยังมีการลงทุนใหม่ ๆ อีก เพื่อจะสามารถรองรับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำต่อไปได้อีกเกือบ 20 ปี ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นปีละ 10% ไปถึง 1,297 ล้าน ลบ.ม. ปี 2580 โดยระบบการบริหารจัดการน้ำของ EW ประกอบไปด้วย การเชื่อมโยงแหล่งน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ มีอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง แหล่งเก็บน้ำสำรองอีก 3 แห่ง สถานีสูบน้ำอีก 16 แห่ง ควบคุมทั้งโครงข่าย โดยใช้ระบบควบคุมที่เรียกว่า scada ทำให้เห็นว่าการใช้โครงข่ายน้ำ หรือ water grid ร่วมกันทำให้เกิดความสมบูรณ์ คล้าย ๆ กับฝาแฝดอิน-จัน ถ้าแยกออกจากกันแล้วก็จะอ่อนแอลง อาจจะมีความเสี่ยงต่อการส่งน้ำทำให้น้ำมีโอกาสหยุดไหล ฉะนั้น การส่งมอบอะไรต่าง ๆ ก็จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ”

ครองส่วนแบ่ง 30% ชูบริการสู้

นายเชิดชายกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทถือครองส่วนแบ่งตลาดในน้ำภาคตะวันออกอยู่ประมาณ 30-40% มีการวางโครงข่ายท่อ หรือ water grid ทั่วทั้งภาคตลอดระยะเวลา 30 ปี และยังมีการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างต่อเนื่อง ปี’65-66 อีก 2 โครงการ คือ ท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ ความยาว 26.7 กม. มูลค่า 1,321 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ธ.ค. 65 คาดว่าจะเสร็จ พ.ย. 66 และโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล หนองค้อ แหลมฉบัง ความยาว 67.14 กม. มูลค่าลงทุน 4,201 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง ก.ค. 2565 คาดว่าจะเสร็จในปี 2566 ส่วนโครงการใหม่ ๆ ช่วงนี้จะมีแผนลงทุนอื่น ๆ ในกิจการน้ำประปา กิจการน้ำอุตสาหกรรมไว้เสริมเพื่อรองรับการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้น ตอนนี้เหลือเฉพาะในส่วนของคลองหลวง จังหวัดชลบุรี ที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทประเมินว่าแนวโน้มธุรกิจในปีนี้น่าจะเติบโตกว่าปี 2565 มาจากการจำหน่ายน้ำในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตมากขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่เขตอีอีซี มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเฉลี่ยปีละ 10% จากปี 2565 ที่มีความต้องการใช้น้ำ 983 ล้าน ลบ.ม. และปีนี้แนวโน้มความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะมีปัจจัยการเกิดลานีญาเข้ามา ทำให้ปริมาณฝนตกลดลงเข้ามากระทบ

“ปัจจุบันราคาน้ำที่จำหน่ายสำหรับอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 9.90 บาท ส่วนน้ำในภาคอุตสาหกรรม แบ่งตามพื้นที่ จ.ระยอง 11.50 บาท จ.ฉะเชิงเทราที่ 12.50 บาท ซึ่งถือว่าไม่แพง แต่เหตุที่น้ำปลายทางราคาสูง เพราะลูกค้านิคมอุตสาหกรรมอาจจะมีการบวกเพิ่มต้นทุนการบริหารจัดการน้ำในนิคม จนทำให้ราคาพุ่งถึง 20-30 บาท แต่หากเทียบราคากับคู่แข่ง อาจจะสูงกว่าคู่แข่ง 50 สตางค์ต่อหน่วย เช่น น้ำคู่แข่ง 9.40-9.50 บาท แต่จุดแข็งสำคัญ คือ ระบบบริหารจัดการน้ำในโครงข่ายวอเตอร์ ซึ่งเรามีแหล่งน้ำสำรอง และมั่นใจว่าหลังส่งคืนพื้นที่เราจะยังขายน้ำได้แน่นอน โดยเราพร้อมจะมุ่งพัฒนาบริการเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้า” นายเชิดชายย้ำ

สอท.มั่นใจ ลูกค้าได้ประโยชน์

นายสมชาย หวังวัฒนาพานิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยว่า หลังจากการทำดีลนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ดีขึ้นสำหรับผู้ใช้น้ำ ทั้งในเรื่องของราคาและเรื่องของความมั่นคง ต่อไปผู้ให้บริการจะต้องมุ่งเน้นแข่งขันเรื่องของบริการ เพราะในมุมลูกค้าจะเลือกว่ารายใดบริการ ให้ความมั่นใจเรื่องการส่ง และราคาถูกก็จะซื้อรายนั้น เพราะคุณภาพเดียวกัน โดยลูกค้าโรงงานที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแนวท่อทั้งในนิคมมาบตาพุด นิคมบ่อวิน ตลอดจนถึงทางหนองค้อ และมีอีกหลายพื้นที่ถือว่าเยอะมาก

ขณะที่แหล่งข่าวภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนได้มีการตั้งคณะทำงานเรื่องการจัดการเส้นท่อ ภายใต้คณะอนุกรรมการน้ำภาคกลางขึ้น โดยมีนางอัญชลี ชวนนท์ ประธานสมาคมนิคมอุตสาหกรรมเอกชนเป็นประธาน เพื่อหารือเรื่องทรานซิชั่นเพื่อวางแผนไม่ให้กระทบกับการซัพพลายน้ำให้ผู้ประกอบการ โดยการเตรียมเรื่องท่อจะทำคู่ขนานไปกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวม เพื่อรองรับปัญหาแล้ง ทั้งนี้ เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงภาพรวมก็มีในส่วนของน้ำกรมชลประทาน หน่วยงานที่มีแหล่งน้ำสำรองมากที่สุดด้วย สำหรับแนวโน้มในอีอีซีคาดว่าระยะยาวจะมีความต้องการใช้น้ำถึง 1 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

“เท่าที่มีการคุยกันว่าการโอนถ่ายเส้นท่อจะไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการที่ใช้น้ำที่อยู่บนเส้นท่อของวงษ์สยามฯและอีสท์ วอเตอร์ และถึงแม้ว่าอีสท์ วอเตอร์จะคืนเส้นท่อไปแล้วก็ยังขายน้ำได้ ขึ้นอยู่กับว่าท่ออยู่บริเวณไหน และในแนวเส้นท่อเดียวกัน ทางอีสท์ วอเตอร์ก็มีระบบเครือข่ายท่อ อาจจะมี 2 หรือ 3 เส้น ในโครงข่าย ถ้าเขามีท่อไปเขาก็สามารถขายได้เหมือนเดิม จะได้เปรียบกว่าวงษ์สยามฯ ที่ไม่มีท่ออยู่ แต่ไปไม่ถึงก็ขายไม่ได้ เป็นท่อเส้นใหม่ก็ต้องพัฒนาใหม่ แต่สิ่งที่ดี คือ มีการแข่งขันราคา น่าจะเป็นธรรม แต่เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น”

ขณะที่นายวีริศ อัมระปาน ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการแข่งขันที่เกิดขึ้น คาดว่าตลาดน้ำในอีอีซีจะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น และผู้ใช้น้ำจะได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะนี้ กนอ.ได้รับความมั่นใจจากทั้ง 2 รายว่าการส่งน้ำจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นรายใดเข้ามาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กนอ.ได้หาแหล่งน้ำสำรองไว้สำหรับใช้เสริมจาก 2 บริษัทนี้แล้ว โดยสามารถซัพพลายน้ำได้ 1 ใน 3 เลยทีเดียว ส่วนระดับราคารับซื้อนั้น สัญญาของ กนอ.เปิดกว้างให้สามารถรับซื้อจากแหล่งที่ให้อัตราค่าน้ำต่ำสุดได้