“จุรินทร์” ถกผู้ประกอบการทันทีหลังถึงดูไบ หวังหาลู่ทางสร้างเงินให้ประเทศ และได้หารือรัฐมนตรีแห่งรัฐประจํากระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ 2 ฝ่าย เป้าเพิ่มมูลค่าไม่ต่ำ 30,000 ล้านบาท และจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ยูเออี
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนไทย ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ว่า ได้พบกับภาคเอกชนไทยที่มาประกอบธุรกิจในหลากหลายสาขา จากการหารือพบว่า ผู้ประกอบการได้ใช้ดูไบเป็นฐานการผลิต และฐานการนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อกระจายต่อไปยังกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ หรือ GCC ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน เพื่อช่วยกันหาโอกาสการทำธุรกิจ การลงทุน การส่งออก เพื่อสร้างเงินและสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย
ขณะเดียวกันได้ใช้โอกาสนี้ เป็นสักขีพยานการลงนามซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 5 คู่ ทำยอดขายได้รวม 1,330 ล้านบาท แยกเป็นอาหาร 2 คู่ มูลค่า 21 ล้านบาท สุขภัณฑ์ 1 คู่ มูลค่า 630 ล้านบาท ชิ้นส่วนยานยนต์ 1 คู่ มูลค่า 542 ล้านบาท และเมลามีน 1 คู่ มูลค่า 140 ล้านบาท
สำหรับยูเออี เป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นลำดับหนึ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางของไทย โดยปี 2565 ตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับยูเออีมีมูลค่า 7.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% ยอดการส่งออกไทยไปยูเออี มูลค่า 1.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.19% ถือเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทยในตะวันออกกลาง สินค้าที่ส่งออกมากลำดับต้น เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ อัญมณี โทรสาร โทรศัพท์ ไม้ผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางรถยนต์ที่ผลิตจากยางพารา อาหารทะเลกระป๋อง อาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น
สำหรับเอกชนที่ร่วมหารือ เช่น บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) บริษัท SCG International Middle East Trading LLC. บริษัท Vega Intertrade & Exhibition บริษัท Al Rabia Al Daim Food บริษัท Perfect Companion Trading LLC. บริษัท Thai Smile Foodstuff Trading LLC. ร้านอาหารไทย Little Bangkok ร้านอาหารไทย Siam Restaurant ซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย 4 Mart
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ตนได้มีการหารือกับ ดร.ธานี บิน อาเหม็ด อัล เซยูดี (H.E. Dr. Thani Al Zeyoudi) รัฐมนตรีแห่งรัฐประจํากระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งรับผิดชอบด้านการค้าต่างประเทศ (Minister of State for Foreign Trade) โดยภายหลังหารือทั้ง 2 ฝ่ายตกลงสร้างความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจ โดยพร้อมจะทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement ) หรือ CEPA กับยูเออี ตั้งเป้าให้เสร็จภายใน 6 เดือน
นอกจากนี้ ยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาคธุรกิจของ 2 ประเทศ ในการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ยูเออี ซึ่งรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายให้การรับรองธุรกิจ การค้า การลงทุนระหว่างกัน ตั้งเป้าภายในปีนี้ปีเดียวจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และตนได้ชวนนักลงทุนจากยูเออี
ไปลงทุนในประเทศไทย นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอของไทย จะได้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศด้วย
พร้อมกันนี้ เชิญชวนให้มาร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติที่ไทยจัดขึ้น เช่น งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair งาน THAILOG ที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ งาน THAIFEX เกี่ยวกับอาหาร งาน STYLE Bangkok เกี่ยวกับสิ่งทอและงาน TAPA เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์
“และได้ขอความสนับสนุนให้ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo ซึ่งยูเออีเป็นหนึ่งในสมาชิกที่สามารถลงคะแนนได้จาก 170 กว่าประเทศ ให้ช่วยโหวตจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทยให้ได้จัดงานด้วย ซึ่งจะมีการพิจารณาในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้”