
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2566 ไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 7.7 ล้านตัน แต่ภายหลังมองว่ามีโอกาสที่การส่งออกข้าวไทยปีนี้ จะทำได้ถึง 8.5 ล้านตัน สูงกว่าประมาณการ
เพราะตามตัวเลขกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ล่าสุดคาดการณ์ว่าไทยจะส่งออกได้ถึง 8.2 ล้านตัน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยถึงทิศทางการส่งออกข้าวไทย
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
3 ปีกับตลาดที่ผันผวน
ตั้งแต่ผมอยู่ในวงการผู้ส่งออกข้าวไทยในวัย 70 ปี โดย 3 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนมากที่สุดและไม่เคยเจอแบบนี้ และขอให้สถานการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เพราะต้องยอมรับว่า ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น
อย่างเส้นทางขนส่งไทยไปแอลเอ สหรัฐ จากเดิมที่ค่าระวางเรืออยู่ที่ 2,000 เหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเป็น 12,000-14,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต จากไทยไปนิวยอร์ก จาก 8,000 เหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเป็น 18,000-20,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต
ประเทศผู้นำเข้าติดล็อกดาวน์จากโควิด ส่งผลให้การส่งออกมีความล่าช้าใช้ระยะเวลาเดือน เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานหลังการแพร่ระบาดโควิด แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา และไม่กลับเข้ามาในระบบ ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทั้งยังส่งผลให้สินค้าราคาเกษตรพืชไร่มีราคาดีดตัว ทั้งข้าวโพดและข้าวสาลี จึงส่งผลกระทบต่อราคาอาหารสัตว์
ทำให้ผู้นำเข้าอาหารสัตว์ไม่สามารถนำเข้าตามโควตาที่ระบุไว้ได้ เนื่องจากมีราคาที่สูง มีผลต่อราคาข้าวหักที่ราคาดีดตัวขึ้นเช่นกัน ค่าเงินบาทมีความ ผันผวน และยังรวมไปถึงประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งน้ำน้อย จึงทำให้ราคาข้าวมีการปรับตัวสูงขึ้น ยากต่อการแข่งขัน จากปัจจัยโดยรวมเหล่านี้จึงทำให้การส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ผู้ส่งออกต้องแข่งขันมากขึ้น
“หากดูตัวเลขการส่งออกข้าวปี 2563 อยู่ที่ 5.7 ล้านตัน ปี 2564 อยู่ที่ 6.2 ล้านตัน และในปี 2565 อยู่ที่ 7.7 ล้านตัน แม้จะดูตัวเลขที่ขยับขึ้น แต่ก็ถือว่าการแข่งขันที่ผ่านมาลำบากมาก”
ปี’66 ตลาดพลิกกลับมาดี
สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายหลายประเทศผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยตั้งเป้าการส่งออกข้าวอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน มีมูลค่า 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากว่าประเมินทิศทางผลผลิตข้าวในปีนี้อยู่ที่ 33 ล้านตันข้าวเปลือก หากคิดเป็นปริมาณข้าวสารอยู่ที่ 20 ล้านตัน จากปัจจัยที่มองว่าปีนี้น้ำจะดี ปริมาณน้ำในเขื่อนมีเพียงพอต่อการผลิตปลูกข้าวนาปรัง ที่คาดว่าจะออกมา 8 ล้านตันข้าวเปลือก
ทั้งปัญหาของการขาดแคลนแรงงานก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แรงงานเข้ามาในระบบ โดยเฉพาะแรงงานจากเพื่อนบ้าน รวมถึงปัญหาค่าระวางเรือ โดยในปีนี้มีการปรับลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสายหลักที่ไทยส่งออกเข้าไปในตลาดโลก ทั้งแอลเอลงมาอยู่ที่ 880 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต จีนลงมาอยู่ที่ 200 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต สิงคโปร์ลงมาอยู่ที่ 150-200 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต
นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนาม คาดว่าจะส่งออกข้าวได้น้อยลงจะทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะอินเดียในปีนี้ลดนโยบายการแจกข้าวให้กับประชาชนจากปัญหาโควิด-19 ลง จาก 10 กิโลกรัม เหลือ 5 กิโลกรัม ซึ่งปริมาณครัวเรือนที่อินเดียแจกจ่ายนั้นประมาณ 80-100 ล้านครัวเรือน และอินเดียแบนส่งออกปลายข้าว
ทำให้เวียดนามที่นำเข้าปลายข้าวจากอินเดียปีละ 1 ล้านตันเพื่อทำการส่งออกไป นำเข้าไม่ได้ทำให้ประเทศผู้นำเข้ามีโอกาสที่จะหันมานำเข้าจากประเทศไทยมากขึ้น
ทิศทางตลาดข้าวโลกลดลง
การประเมินการบริโภคข้าวโลกในปีนี้ มีการระบุว่า ผู้บริโภครายใหญ่ยังคงเป็นจีน ประมาณ 155 ล้านตัน รองลงมาอินเดีย 108.5 ล้านตัน บังกลาเทศ 37.3 ล้านตัน อินโดนีเซีย 35.2 ล้านตัน เวียดนาม 21.5 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ 15.8 ล้านตัน เป็นต้น ถ้าดูโดยรวมการบริโภคข้าวโลกปีนี้อยู่ที่ 517.2 ล้านตัน ลดลง 0.5% ซึ่งอยู่ที่ 519.9 ล้านตัน
ส่วนปริมาณผลผลิตข้าวโลกในปีนี้ จีนยังเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่โดยคาดว่าอยู่ที่ 146 ล้านตัน ลดลง 2% จากปีที่แล้ว 149 ล้านตัน อินเดีย 125 ล้านตัน ลดลง 4.1% จากเดิม 130.3 ล้านตัน บังกลาเทศ 35.9 ล้านตัน ปริมาณคงที่จากปีที่แล้ว อินโดนีเซีย 34.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.6% จากเดิม 34.4 ล้านตัน เวียดนาม 27 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.9% จากเดิม 26.8 ล้านตัน ไทย 20.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.6% จากเดิม 19.9 ล้านตัน
“อินเดียยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง คาดว่าจะส่งออกได้ 21.50 ล้านตัน ลดลง 3% จาก 22.16 ล้านตัน ไทยส่งออกข้าวอยู่ที่ 8.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.8% จาก 7.68 ล้านตัน เวียดนามอยู่ที่ 6.8 ล้านตัน ลดลง 4.2% จาก 7.10 ล้านตัน”
ประเทศผู้นำเข้าข้าวปีนี้ จีนนำเข้า 5.20 ล้านตัน ฟิลิปปินส์นำเข้า 3.60 ล้านตัน ไนจีเรีย 2.20 ล้านตัน อิรัก 1.6 ล้านตัน
จับตาเงินบาทผันผวน
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยตั้งแต่มกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 รวม 43 วันอยู่ที่ 9.8 แสนตัน ลดลง 12.5% จากเดิมปกติจะต้องส่งออกได้ประมาณ 1 ล้านตัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะสหรัฐมีการนำเข้าไปช่วงโควิดและยังคงมีสต๊อก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ส่งผลให้ช่วงนี้มีการชะลอนำเข้า คาดว่าจากนี้น่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ดี การส่งออกข้าวไทยสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการให้มีการติดตามและดูแลมากที่สุดคือเรื่องของความผันผวนของค่าเงินบาทเพราะมีผลต่อการแข่งขัน เห็นได้จากตอนนี้ผู้นำเข้าเริ่มมีความกังวลจากค่าเงินบาทที่มีความผันผวน แต่หากค่าเงินบาทมีความผันผวนจะมีผลต่อราคา อย่างเงินบาทผันผวนมีผลต่อราคาข้าวขาวลดลง 15 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวหอมมะลิลดลง 30 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ดังนั้น ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาติดตามและดูแลให้ค่าเงินบาทมีความเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจุบันราคา FOB ข้าวขาว 5% ไทยอยู่ที่ 470 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากเดิมที่ 480-490 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนเวียดนามอยู่ที่ 450 เหรียญสหรัฐต่อตัน อินเดียอยู่ที่ 430-440 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 850 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่เคย 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน
วอนรัฐบาลชุดใหม่
ในการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็น คือการ มีนโยบายที่ไม่บิดเบือนกลไกตลาด ไม่กำหนดราคาข้าวอย่างไม่สมเหตุสมผล และไม่ติดใจหากรัฐบาลจะใช้นโยบายประชานิยมดูแลเกษตรกรแต่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ หากต้องมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากและไม่เกิดประโยชน์
เพราะแต่ละปีใช้งบประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท และมูลค่าการส่งออกข้าวต่อปี 1.3 แสนล้านบาทเท่านั้น การใช้งบประมาณก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่อย่างจริงจัง ตอนนี้มีการพัฒนาออกมาแล้ว 6 สายพันธุ์ เพื่อให้อนาคตประเทศไทยยังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากเวลานี้ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวไปไกลมากแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ และไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร