GISTDA จับมือ DTI ผลักดัน Spaceport ลุยพัฒนากิจการอวกาศไทย

GISTDA จับมือ DTI ผลักดัน Spaceport ลุยพัฒนากิจการอวกาศไทย

GISTDA จับมือ DTI เดินหน้าพัฒนากิจการอวกาศไทย ผลักดันการพัฒนาท่าอวกาศยาน “Spaceport” เพิ่มขีดความสามารถไทยสู่สากล

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการอวกาศ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ พลเอกชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการ DTI ร่วมลงนาม

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งเพราะทั้ง 2 หน่วยงานต่างมีเจตนารมณ์และเป้าหมายเดียวกันเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและกิจการอวกาศสู่ความยั่งยืน โดยการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอวกาศสู่ระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความมั่นคง

พร้อมกันนี้จะร่วมกันผลักดันการพัฒนาท่าอวกาศยาน (Spaceport) และการเตรียมความพร้อมในการจัดทำประเด็น เรื่องความเป็นไปได้และผลกระทบของ Micro-Launcher พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาบุคลากร อันก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันด้านอวกาศ ให้เกิดขึ้นภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอวกาศซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนากิจการอวกาศอย่างยั่งยืนต่อไป

สิ่งหนึ่งที่ GISTDA และ DTI ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ การให้ความรู้กับเยาวชน โดยหลังจากนี้ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านอวกาศ อาทิ Space Camp หรือการประกวดแข่งขัน CanSat เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนให้เกิดความตระหนักและสนใจเรียนรู้เพื่อต่อยอดในการพัฒนากำลังคนด้านอวกาศซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอวกาศต่อไปในอนาคต

ด้านพลเอกชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการ DTI กล่าวว่า DTI มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมส่งเสริมภารกิจของ GISTDA โดยเฉพาะการร่วมเตรียมความพร้อมในการจัดทำประเด็นประกอบการชี้แจงคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ความเป็นไปได้และผลกระทบของ Micro-Launcher ที่จะดำเนินการในประเทศไทย ซึ่งเป็น Action Plan ลำดับแรกที่สถาบันตระหนักถึงความเร่งด่วนศึกษาแนวทางการปรับปรุงและพัฒนา กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากิจการอวกาศที่ใช้บังคับในประเทศไทยให้มีความสอดคล้องกับหลักสากล อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาจัดทำร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ ตลอดจนแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง และการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การพัฒนากิจการอวกาศร่วมกัน