จิสด้าปั้น “กิจการอวกาศ” “New Space Economy”

ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ว่าที่ผู้อำนวยการสำนักภูมิสารสนเทศและอวกาศ (จิสด้า)
แฟ้มภาพ : ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ว่าที่ผู้อำนวยการสำนักภูมิสารสนเทศและอวกาศ (จิสด้า)
สัมภาษณ์พิเศษ

หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า แทน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่1 มิถุนายน 2563 “ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์” ให้โอกาส “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวทางปรับบทบาทจิสด้า สู่ facilitator ด้านกิจการอวกาศ หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย new S-curve เพื่อสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยด้วยการลงทุนพัฒนากิจการด้านอวกาศ นำไปสู่ “new space economy” หรือเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต

อวกาศไม่ใช่แค่เรื่องดาวเทียม

ส่วนที่จิสด้าพัฒนามาตลอดต่อเนื่อง 10 ปีหลังก็ยังเดินหน้าต่อ โดยจะมุ่งเน้นนำข้อมูลจากอวกาศมาใช้ประโยชน์กับสังคมให้มากที่สุด ส่วนสำคัญแบ่งเป็น2 เรื่อง คือ กิจการอวกาศ และเรื่องข้อมูลส่วนแรกเรื่องกิจการอวกาศ เราเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ กิจการอวกาศไม่ใช่แค่เรื่องดาวเทียม แต่หมายถึงหลาย ๆ เรื่อง ถ้ามองเฉพาะการส่งดาวเทียมหรือส่งคนสู่อวกาศ มันอาจไกลตัว แต่เชื่อไหมว่าต่างชาติต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก อย่างในสิงคโปร์มีสตาร์ตอัพเกี่ยวกับอวกาศถึง 300สตาร์ตอัพ สะท้อนว่าอุตสาหกรรมนี้ยังมี opportunity ที่บอกว่า กิจการอวกาศไม่ใช่แค่ดาวเทียม แต่หมายถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การส่งคนไปอวกาศต้องมีชุดเครื่องมือ เสื้อผ้า เครื่องจักรกล

ชิ้นส่วนซอฟต์แวร์ สิ่งเหล่านี้คนไทยสามารถทำได้หมดเลย เรามีอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมจักรกล อุตสาหกรรมพลังงาน มีโปรแกรมเมอร์เรื่องนี้ ถ้าเราผลักดันให้เกิดขึ้นได้จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล

“ไม่ได้แปลว่าเรื่องอวกาศจะต้องส่งคนไปสำรวจดวงจันทร์ หรือดาวอังคาร อาจจะมีคนมองว่าขนาดเงินจะเลี้ยงชาวบ้านยังไม่มีเลย ทำไมจะต้องไปทำเรื่องอะไรแปลก ๆ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างอุตสาหกรรม เพื่อสร้างงานในอนาคต เพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า new space economy”

สู่ New Space Economy

new space economy ไม่ใช่แค่digital economy หรือ space economy ถ้าศึกษาข้อมูลจะพบว่าในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น กำลังเป็นคำที่ไปไกลมาก ประเทศไทยจะช้าไม่ได้ พอมีเป้าหมายแล้วต้องหาพาร์ตเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน เราตั้งใจร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐพัฒนาเรื่องนี้ ทั้งกระทรวงดีอี กองทัพอากาศ ดาราศาสตร์ ภาคการศึกษา กสทช. และจะร่วมกับภาคเอกชน เช่น การส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศน่าสนใจ มีอุตสาหกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เช่น ก่อสร้าง พลังงาน การท่องเที่ยวฐานปล่อยอาจจะใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต หรือด้านสิ่งแวดล้อม และ การสร้างคน เตรียมพร้อมและรองรับให้ถึงจุดนั้น

“ผมจะเปิดกว้าง โดยเราจะวางบทบาทเป็น facilitator ผู้ประสานงาน เชื่อมโยง และผลักดัน เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ บางอย่างจะเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน บางอย่างลงทุนโดยภาครัฐ หรืออาจใช้แนวทางการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน (PPP) อะไรก็ได้ ขอให้มันเกิด ผมไม่ไมนด์ เพียงแต่ขอให้ดีกับประเทศชาติเท่านั้น ใครเก่งเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้น แต่ขอให้มาเชื่อมโยงกันแบบ consortium”

ดันกฎหมายกิจการอวกาศ

เราต้องเชื่อมโยงสถานศึกษา สร้างบุคลากร ลงพื้นที่ให้มีความรู้ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เปิดภาควิชาเกี่ยวกับอวกาศ เพื่อสร้างบุคลากรด้านนี้ และเรามีเด็กไทยส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ แต่ไทยยังไม่มีหน่วยงานที่จะดูแลจิสด้าเป็นหน่วยงานหลักที่ประสานและสนับสนุนเรื่องนี้ เป็นผู้แทนภาครัฐที่ได้รับมติเห็นชอบจาก ครม.เมื่อเดือนที่ผ่านมา ใครจะส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศต้องจดทะเบียนกับเรา

จากนี้จะผลักดันให้เกิดหน่วยงาน “สำนักงานกิจการอวกาศ” ยังไม่ได้ชื่อจริง ๆ แต่กำลังผลักดันจัดตั้งหน่วยงานนี้เพื่อดูแลหลาย ๆ ด้าน ทั้งงานทั้งแอดมิน ดาวเทียมสำรวจ ดาวเทียมจีพีเอส ทุกเรื่อง ร่วมกับต่างประเทศ

ส่วนร่าง พ.ร.บ. กิจการอวกาศ ได้ปรับปรุงแก้ไขไปแล้วบางส่วน อาจจะคุยอีก 1-2 รอบ ค่อนข้างสมบูรณ์เพราะได้ผ่านการหารือหลายหน่วยงานแล้ว เข้าสู่การพิจารณาโดยคณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเดือนกรกฎาคมนี้ และจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 4-6 เดือนนี้

ปมร้อน THEOS-2

เรามองบียอนด์ธีออส 2 ไปแล้ว ตั้งใจว่า ธีออส 2 จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในอนาคตเท่านั้น ใน 1-2 ปี ที่จะต้อง settle down เป็นเรื่องหนึ่งของเรา แต่มีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ เช่นการเชื่อมโยงโครงข่ายลอร่าแวน คือ ตอนนี้มี IOT อยู่ข้างล่างถ้าเกิดมีการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านสายขึ้นสู่ดาวเทียมแล้วลงมาข้างล่าง เชื่อไหมว่าเรามีเซ็นเซอร์อยู่ทั่วประเทศ ทั้งเซ็นเซอร์ฝนตก-น้ำท่วม ส่งไปสู่ลอร่าแวนและลงมาสู่กราวนด์สเตชั่น ส่งข้อมูลให้ประชาชนได้ โครงการนี้่ทำได้ง่าย ลงทุนแค่หลักร้อยล้านบาทเท่านั้น

“อีกเรื่องคือ ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากที่จะส่งจรวดสำรวจขึ้นสู่อวกาศ และขณะนี้ไทยมีดาวเทียมขนาดเล็กเต็มไปหมดที่พยายามจะส่งขึ้นสู่อวกาศ ถ้าเรามีสถานที่ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว คือ อยู่ในจุดที่ใกล้ทะเลและเส้นศูนย์สูตร มีการศึกษาถ้าอยู่ตรงนั้น เราจะได้ค่าเช่าในการสำรวจและจัดทำผลการศึกษา EIA ทางเราต้องการศึกษาว่าทำแล้วคุ้มไหม โอกาสที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศมีมากในไทย”

แผนงานในปีงบ”64

“ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จิสด้าเน้นลงทุนธีออส 2 ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและการสร้าง ซึ่งผมเข้ามาต่อเนื่องงานหากถามว่ากลัวไหม ผมคิดว่าไม่กลัว ทำด้วยความถูกต้องไม่มีอะไรที่น่ากลัว ซึ่งมันถูกต้องอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เรียบร้อยสมบูรณ์ เป็นเรื่องใหม่สำหรับหน่วยงาน ในปีนี้เราจะทำแล็บเอไอที คลีนรูม ซึ่งจะเสร็จต้นปีหน้า จะมีการวิจัยและสร้างดาวเทียมเล็กด้วยตัวเอง”

เรื่องที่ 2 การพัฒนาระบบ AIP (actionable intelligence policy platform) ด้วยการนำข้อมูลดาวเทียม ข้อมูล GIS มาประกอบกัน เพื่อจะใช้ในการกำหนดนโยบายในเรื่องสำคัญของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้เรากำลังศึกษาในพื้นที่ EEC และพื้นที่ จ.น่าน และกำลังจะศึกษาอีก 1 พื้นที่ AIP เป็นแพลตฟอร์มสำหรับใช้ในการกำหนดนโยบายสำคัญของพื้นที่นั้น ๆ เช่นในพื้นที่นั้นจะมีทั้งเรื่องควัน มีเรื่องแม่น้ำ จราจร การศึกษา ในเชิงนโยบายกระทบต่อชีวิตยังไงบ้าง เช่น มีอีอีซีเกิดขึ้นสร้างงานไหม มีสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง คนเป็นยังไงบ้าง เป็นโซลูชั่นในการแก้ปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ ในองค์รวมเชิงนโยบาย ตอนนี้เรานำร่องทำกับพันธมิตรคือ แอร์บัส แต่ต่อไปอนาคตจะขยายไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่น

นอกจากนี้ มองถึงโอกาสการลงทุนดาวเทียมค้างฟ้า ลักษณะเหมือน CCTV เป็นกล้องที่ค้างฟ้า สามารถดูข้อมูลไม่ใช่เฉพาะเรื่องอวกาศ แต่ยังมีเรื่องความปลอดภัยของประเทศ ตอนนี้ทั้งอเมริกา ฝรั่งเศส หรือจีน ก็กำลังพัฒนาเรื่องนี้

Space Economy ดัน GDP

“ทั้งหมดเป็นสิ่งที่วางแนวทางว่า ช่วง 6 เดือน-1 ปีแรก จากวาระที่รับตำแหน่ง 4 ปี จะต้องศึกษาอะไรที่เป็น quick win สามารถทำได้เลยก็ต้องทำ รูปแบบไม่ได้เน้น ภาครัฐจะใช้รูปแบบอะไรก็ได้ที่มองว่าดีกับประเทศ มีการศึกษาไว้ว่าอุตสาหกรรมอวกาศสร้างรายได้เข้าประเทศ 56,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานในอนาคต 36,000 คน”

อีกด้านจะรักษาบทบาทผู้ดูแลข้อมูลภูมิสารสนเทศ (GIS) โดยพยายามจะบูรณาการข้อมูล GIS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงใช้เวลาสัก 2 ปี อยากให้ข้อมูล GIS ไปสู่ประชาชนจริง ๆ

นอกจากนี้ จะศึกษาขยายโอกาสที่จะนำข้อมูล GIS มาใช้เรื่องโลจิสติกส์ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากช่วงโควิด และได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ถึงแนวคิดที่จะนำข้อมูล GIS มาเป็นพารามิเตอร์ชี้วัดทางเศรษฐกิจ เช่นว่า สศก.อยากรู้ว่ารัฐบาลจ่ายชดเชยเยียวยาคนไปถึงไหน ก็มาคุยกันว่าคนกระจุกตัวตรงไหน ดูจากแสงไฟ หรือปริมาณรถได้ไหม สรุปภาพเป้าหมายใน 1 ปี ผมอยากให้จิสด้าได้เริ่มจับมือร่วมกับรัฐและเอกชน เดินหน้ากิจการอวกาศในประเทศบูรณาการข้อมูลและมีส่วนร่วมสนับสนุนรัฐบาลเยียวยาประชาชนจากโควิด