ปตท. เทงบฯ 30% สร้างนวัตกรรมเพิ่มรายได้ธุรกิจใหม่

บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปตท. เทงบฯ 30% สร้างนวัตกรรม หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจใหม่ 30% ในปี 2573 แนะคีย์เวิร์ด ‘เทค-คน-ทุน’ ทางรอด

วันที่ 1 มีนาคม 2566 นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา PTT Group Tech & Innovation Day หัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่และนวัตกรรมของ ปตท. เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า กลุ่ม ปตท.มีเป้าหมายปรับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 30% ภายในปี 2573 ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

“เพื่อสร้างการเติบโตตามเป้าหมายนั้น ปตท.ได้วางสัดส่วนเงินลงทุนในช่วง 5 ปี 2565-2569 ประมาณ 30% จากงบลงทุนในแต่ละปี หรืออยู่ที่ปีละประมาณ 300,000 ล้านบาท ในปี 2576 ธุรกิจน็อนฟอสซิลและนวัตกรรมมีสัดส่วนเพิ่มกว่า 50% เพื่อสนับสนุนให้เป็นบริษัทที่เติบโตบนเทคโนโลยี และคนอยากมาอยู่ใน ปตท. ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เติบโตและพาร์ตเนอร์ธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกันทั่วโลก”

นายบุรณินกล่าวว่า ธุรกิจใหม่ที่ได้ลงทุนกำลังจะสามารถสร้างรายได้กลับคืนมาให้ ปตท. บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่ได้ไปร่วมทุนกับ บริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical) บริษัทยาระดับโลกของไต้หวัน สามารถทำตลาดได้ดี และในปี 2565 โลตัส ฟาร์มาซูติคอล ก็มียอดขายที่ 15,000 ล้านบาท ทำกำไรได้เกือบ 2,000 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด ก็เริ่มเห็นความชัดเจนทั้งเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และเรื่องแบตเตอรี่ จะแล้วเสร็จในปี 2567 จะสามารถรับจ้างผลิตได้ที่ 50,000 คัน

“นโยบายภาครัฐ และการขับเคลื่อนไปพร้อมกับเอกชนที่ไปในทิศทางเดียวกัน และรับฟังซึ่งกันและกัน นับเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงเท่านั้นสิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนด้วย Passion and purpose มี 3 ส่วนสำคัญคือ 1.เทคโนโลยี 2.ทุน 3.คน ที่ต้องให้ความสำคัญ วันนี้ Purpose พร้อมแล้ว แต่ต้องหานักลงทุนที่มี passion ซึ่ง ปตท.โชคดีมีความชัดเจนทั้ง 2 เรื่อง ซีอีโอของ ปตท. เมื่อวันเข้ามารับตำแหน่งได้ขับเคลื่อนองค์กรได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็น Powering Life with Future Energy and Beyond จากการที่ ปตท.ประสบความสำเร็จในยุค 3.0 ที่เป็นผู้นำองค์กรสำคัญให้กับประเทศได้ดีแล้ว พอมีในยุค 4.0 ก็ต้องตัดสินใจทำเรื่องใหม่ ๆ และเทรนด์การดำเนินธุรกิจอนาคต”

ขณะที่คีย์เวิร์ดเรื่องเทคโนโลยีที่สำคัญใน Sense of Urgency และเรื่องของ Strategic focus ถือว่าอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่นำเสนอ สะท้อนเทรนด์อุตสาหกรรมโลก ถือเป็นความได้เปรียบที่ ปตท.ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว

ปตท.ก็ต้องเร่ง ดังนั้น จึงต้องหาพันธมิตรในรูปแบบ Partnership and Platform ซึ่งกลุ่ม ปตท.ใช้วิธีนี้เพื่อเร่งความเร็ว และสิ่งสำคัญคือ Open Innovation เพื่อบรรลุเป้าหมายได้โดยเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อ Accelerate Scale อีกทั้งการทำสิ่งต่าง ๆ จะต้องมีทุน

“ทาเลนต์ โมบิลิตี้ และหาฟิวเจอร์สกิล ซึ่งแต่ก่อนทำเรื่องปิโตรเคมี ต่อไปจะต้องมีวิศวกรไฟฟ้าด้านสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ คน ปตท.ในสถาบันนวัตกรรมกว่า 100 คนได้ออกมานอกห้องวิจัย ทำเรื่องใหม่ ๆ ที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จนสามารถพัฒนาฟิวเจอร์สกิลต่าง ๆ จนตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ”

สุดท้ายฝากเรื่องการใช้ยุทธศาสตร์ทั้งเทคโนโลยี คน และเงินทุนในการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยเฉพาะในเรื่องของการรวมพลังของคนทั้งประเทศ เริ่มตั้งแต่คนระดับภาครัฐและเอกชน ส่วนระดับบริษัทจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทจนถึงพนักงาน

กลุ่ม ปตท.ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเพื่อที่จะทำให้เติบโต ถ้าไม่ทำจะไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ดังนั้น ความสำเร็จหลักจะอยู่ที่คน และต้องยอมรับฟังความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อให้เห็นปัญหาและทางออกของปัญหา หากทำผิดพลาดก็ต้องให้กำลังใจ ถ้าล้มก็จับมาแต่งตัวปัดใหม่และวิ่งต่อไปพร้อมกัน