สุพัฒนพงษ์ ชู ปตท. ต้นแบบสร้างนวัตกรรม ปั๊มยอดลงทุน 1 ล้านล้านอีกครั้ง

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

สุพัฒนพงษ์ ยกโมเดล ปตท. ต้นแบบเอกชนไทย ขับเคลื่อนนวัตกรรมพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ หวังพาไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดันตัวเลขลงทุนนิวไฮ ทะลุ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง

วันที่ 1 มีนาคม 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาในงาน PTT Group Tech & Innovation Day “Beyond Tomorrow : นวัตกรรมนำอนาคต” ซึ่งจัดโดยกลุ่ม ปตท. ว่า ปตท.ได้เตรียมพร้อมด้านนวัตกรรมมา 3 ปี ทั้งยังได้เปลี่ยนแปลงวิธีการให้เร็วขึ้น ด้วยการหาผู้ร่วมทุนทั้ง มิตซุย เดนโซ่ และฟอคคอน ทำให้มีการพัฒนานวัตกรรมหลายอย่าง ให้เกิดขึ้น และนำมาจัดแสดงในวันนี้

สปีดนวัตกรรม ปตท.

“อยากให้ทุกคนภาคภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำ เพราะมันมีพัฒนาการ เราแสวงหาการลงทุนกับต่างชาติเพื่อพัฒนา Technology ให้ Beyond ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้วางรากฐาน และจากนี้จะเพิ่มอัตราเร่งในปีที่ 4-5”

“ผมก็เคยเป็นคน ปตท. ผมเชื่อว่าคนที่นี่มีศักยภาพ ย้อนกลับไปรุ่นเก่ารุ่นพี่ เราใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจทำในสิ่งใหม่ ๆ ให้คนไทย ต่อยอดให้ประเทศชาติ และสร้างคุณูปการมาถึงทุกวันนี้ อย่างแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่เราเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยหากเทียบกับเพื่อนบ้าน ถือว่าไม่สูงเพราะเรามีการใช้พลังงานสะอาดสะสมมา และในวันนี้เรายังคงเดินหน้าต่อด้วยวัฒนธรรมความกล้าหาญ”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วันนี้ต่างจาก 30-40 ปีที่แล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีสะสมเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้เราไปอยู่แถวหน้า จงภูมิใจ ได้ทำให้สิ่งนี้ ใครกลัวแต่เราไม่กลัว

โยนสมัยอดีตทำไทยพัฒนาช้า

“ในอดีตการพัฒนาของไทยล่าช้า ย้อนมาตั้งแต่ปี 2553 เราโตช้า พอมาปี 2554 เราเจอน้ำท่วม เม็ดเงินต่าง ๆ ถูกใช้ไปกับฟื้นฟู Infrastructure ทำให้เราเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ แต่ผมก็จะไม่โทษใคร แต่เราไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ เราได้แต่ทำซ้ำ ๆ อุตสาหกรรมขนาดเล็กก็เล็กมาก ใช้แรงงานต่างด้าวเยอะ เราพลาดโอกาสพัฒนาประเทศมาหลายสิบปี”

แต่มาในวันนี้ ไม่ได้สายเกินไป กติกาโลกเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หลายฝ่ายกังวัลว่าปัญหานี้จะส่งผลกระทบไม่ใช่เพียงแค่ชีวิตความเป็นอยู่แต่จะกระทบถึงการเพาะปลูกพืชเกษตร นำไปสู่ปัญหา Food Security ซึ่งได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ไปแทรกในการประชุม APEC ด้วย

อนาคตต่อไป เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้เกิดปัญหา ประเทศที่ยากจนจะยิ่งจนลง ประเทศร่ำรวยจะรวยขึ้น จนเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

“ไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา และกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 ต้องอาศัยความกล้า ทำให้เราเป็นประเทศแรกในอาเซียน”

หลังจากนั้น ปี 2020 หน่วยงานทั้ง ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยใน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) ภาคไฟฟ้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์ ลม ให้ได้มากกว่า 50% ภายในปี 2043

2) ภาคขนส่งส่งเสริมการใช้อีวีตามนโยบาย 30@30 และการลงทุนในสถานีชาร์จและแบตเตอรี่

3) ภาคอุตสาหกรรม อาคารที่อยู่อาศัย เพิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงานลดความเข้มการใช้พลังงานลง 40% ในปี 2050

4) การลดนอกเหนือจากค่าพลังงานเช่นกระบวนการในอุตสาหกรรมเกษตรและการลดของเสีย 5) การปลูกป่า 6) การส่งเสริมมาตรการและเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น การดักจับคาร์บอน (CCS)

โดยมีเป้าหมายว่าไทยจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จาก 280 ล้านตันต่อปี ให้เป็น 0 ในปี 2050 ซึ่งต้องขอบคุณ ปตท.ที่ตอบสนองนโยบายและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

สำหรับการพัฒนาแหล่งกักเก็บคาร์บอนนั้นทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลองไปดูที่เหมืองแม่เมาะร่วมกับ ปตท.สผ.ว่าจะพัฒนาใช้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนในเหมืองว่ามีศักยภาพมากน้อยเพียงใดนอกจากนี้ยังมีการดูที่อ่าวไทยและแหล่งอื่น ๆ ด้วย

มุ่งลดการพึ่งพานำเข้าพลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวย้ำว่า การพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้ประเทศไทยเข้มแข็งขึ้นและช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างชาติ

“วันนี้เรานำเข้าน้ำมัน 80 ถึง 90% นำเข้าก๊าซธรรมชาติ 30% และเมื่อเจอวิกฤตสงครามรัสเซียยูเครนเราก็ได้รับผลกระทบเป้าหมายของการทำงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ช่วยลดการพึ่งพา การนำเข้า หลายคนอาจจะกลัวว่า ปตท.อาจจะเล็กลง ธุรกิจจะเล็กลงแต่มันไม่เล็กลง แน่นอน หากทำสำเร็จ ปัญหาของปตท.ก็จะหมดไป ขณะเดียวกันก็จะมีอุตสาหกรรมใหม่ใหม่เกิดขึ้นมาทดแทน”

สร้าง Value chain ใหม่

พร้อมกันนี้หากอุตสาหกรรมใหม่ก็จะทำให้เกิดการสร้าง Value chain ใหม่ สร้างระบบนิเวศของธุรกิจและทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มที่มีส่วนร่วม

“ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปตท.เป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและ หากขยายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ก็จะทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าส่งเสริมให้เกิดระบบ Smart Grid”

อัพตัวเลขลงทุนทะลุ 1 ล้านล้าน

สุดท้ายรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานกล่าวสรุปว่า หากทุกบริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเช่นเดียวกับ ปตท.จะทำให้ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6.6 ล้านล้านบาทเพิ่มไปเรื่อย ๆ จนถึง 1 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับปีที่เคยสูงสุด