ปตท.ลงทุน 3 แสนล้านต่อยอดนวัตกรรม

PTT ปตท.

ปตท.ต่อยอดธุรกิจ smart electronic กางแผนศึกษาโอกาสผนึกพันธมิตรลงทุนกลางน้ำ-ปลายน้ำ พร้อมส่งบริษัทลูกบุกธุรกิจใหม่ พลังงานสีเขียว เอไอ ดิจิทัล ดีคาร์บอนฯ เตรียมเทงบฯลงทุน 30% มูลค่า 3 แสนล้าน ปรับพอร์ตธุรกิจใหม่ด้านนวัตกรรม เพิ่มสัดส่วนรายได้ 50% ในปี’76 มั่นใจพร้อมทั้ง “เทคโนโลยี-คน-ทุน”

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา PTT Group Tech & Innovation Day ว่า ในปี 2576 ธุรกิจน็อนฟอสซิลและนวัตกรรมจะมีสัดส่วนเพิ่มกว่า 50% จากที่กลุ่ม ปตท.วางเป้าหมายปรับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 30% ภายในปี 2573 ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2593 โดยได้วางสัดส่วนเงินลงทุนในช่วง 5 ปี 2565-2569 ประมาณ 30% จากงบฯลงทุนในแต่ละปี หรือ 300,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เป็นบริษัทที่เติบโตบนเทคโนโลยี

โดยธุรกิจใหม่จะประกอบไปด้วย ธุรกิจพลังงานสีเขียว (smart and green energy) ธุรกิจการขับเคลื่อนแห่งอนาคต (future mobility) ธุรกิจไลฟ์ไซเอนซ์ (life science) ธุรกิจเอไอ โรโบติกส์ และดิจิทัล ธุรกิจสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอน (decarbonization)

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของ ปตท.ที่ขยับขยายจากฟอสซิลฟิลด์ออกไปเป็นธุรกิจใหม่ จากปัญหาเรื่องวิกฤตพลังงานในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าช่วงโควิดน้ำมันลงไปต่ำกว่า 20 เหรียญ แต่ตอนนี้ขยับขึ้นมา 100 เหรียญ หรือตอนนั้นราคา LNG sport ถูกมาก เราจึงซื้อสปอร์ตเยอะ แต่พอมาตอนนี้ LNG sport แพงมาก ก็มีการตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงซื้อสปอร์ตเยอะ

ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ ปตท.ต้องหาโอกาสในการทำธุรกิจในน่านน้ำใหม่ ซึ่ง ปตท.ได้ทำเรื่องนี้มา 2-3 ปีแล้ว มีการติดตามเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนั้นยังไม่สามารถทำถึงในระดับเชิงพาณิชย์ได้ แต่พอพ้นจากโควิด เทคโนโลยีหลายอย่างเติบโตขึ้น ทำให้สามารถทำเชิงพาณิชย์ได้ ตอนนี้เราจึงมองเทรนด์โลกเป็นหลัก และลงทุนตามเทรนด์นั้น และคิดว่าอีก 10 ปี เทรนด์นี้ก็ยังไม่เปลี่ยน”

ต่อยอด Smart Electronic

นายบุรณินกล่าวว่า ขณะนี้บริษัท ฮอริซอน พลัส จํากัด ที่ร่วมลงทุนกับบริษัท ฟ็อกซ์คอน จากไต้หวัน ก็เริ่มเห็นความชัดเจนทั้งเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและเรื่องแบตเตอรี่ โดยการก่อสร้างโรงงานผลิตอีวีจะแล้วเสร็จในปี 2567 จะสามารถรับจ้างผลิตได้ 50,000 คัน อนาคตมองถึงโอกาสของการต่อยอดไปสู่การเป็นผู้พัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronic) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา โดยเรื่องชิปก็มีการคุยหลายเจ้า ฟ็อกซ์คอนก็เป็นเจ้าหนึ่งที่มีประสบการณ์

“เมื่อพูดถึงสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เรามองว่าไม่ใช่เพียงเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ แต่ตัวไหนที่เป็น opportunity ประเทศด้วย ซึ่งต้นน้ำเราทำไม่ได้ (ไม่มีวัตถุดิบ) แต่อาจจะทำมาที่ของกลางน้ำ ก็คือการนำชิ้นส่วนมาประกอบ และต่อไปในส่วนของปลายน้ำ ก็คือทำอุปกรณ์ที่ใช้ชิปได้”

เหตุที่ ปตท.มองเห็นโอกาส smart electronic เพราะว่าทุกอุปกรณ์ใช้ชิปเป็นส่วนประกอบ ยกตัวอย่าง ปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนมากกว่าประชากร 7,000 ล้านคน ซึ่งถ้ามีการเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างเข้าด้วยกันก็จะมีความต้องการใช้ชิปจำนวนมาก ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของกลุ่ม ปตท. เพื่อนำไปสู่การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

อีกด้านที่กำลังจะดำเนินการในปีนี้คือ อรุณพลัส เพื่อจะก้าวไปสู่ AI และโรโบติก รวมถึงการต่อยอดไปสู่โดรน โดยเฉพาะโดรนสำหรับใช้ในภาคการเกษตร และเร่งการพัฒนาสมาร์ทโลจิสติกส์ (smart logistic) การเชื่อมโยงระบบการขนส่ง รถไฟ แอร์คาร์โก้ และท่าเรือ ซึ่ง ปตท.ได้มีการลงทุนแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านโลจิสติกส์ เพื่อช่วยเสริมแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานประเทศในอนาคต

กราฟฟิก ปตท.

ชู EECi ฐานนวัตกรรม

นายบุรณินยังกล่าวถึงการพัฒนาต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มบริษัทลูก ปตท.ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าและกำลังสร้างรายได้กลับคืนมาให้ ปตท. เช่น บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่ร่วมทุนกับ บริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด บริษัทยาระดับโลกของไต้หวัน สามารถทำตลาดได้ดี ในปี 2565 โลตัส ฟาร์มาซูติคอล มียอดขาย 15,000 ล้านบาท และมีกำไร 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันอินโนบิกมีบริษัทลูก 30 บริษัทแล้ว และเริ่มจะก้าวไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเรื่องการแยกยีนส์ (Gene Sequencing)

ขณะที่ธุรกิจด้านพลังงานสีเขียว บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ได้ร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ ในการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานลมที่ไต้หวัน และมีโซลาร์ฟาร์มที่อินเดีย เช่นเดียวกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC มีการลงทุน smart material เพื่อนำไปใช้ต่อยอดผลิตสินค้าต่างประเทศ ส่วนบริษัท ไออาร์พีซีซึ่งทำเรื่องโพลิเมอร์และได้มีโรงงานร่วมกับอินโนบิก จัดทำวัสดุสำหรับผลิตหน้ากากอนามัย และชุด PPE ทางการแพทย์

ซึ่งตอนนี้ขยายไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ เช่น ผ้าปูเตียงของโรงพยาบาล และทำ 3D printing อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้ง โออาร์ ที่มีการพัฒนาเรื่องค้าปลีก (smart retail) การขับเคลื่อน (mobility) และพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยเอสเอ็มอี ในส่วนของธุรกิจดั่งเดิม มีการลงทุนเพื่อที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ใช้ data analytic เป็นตัวที่ทำให้เชื่อมโยงต้นน้ำ และพัฒนาไปสู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยการปลูกป่าเพิ่ม และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีการพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS)

“ธุรกิจใหม่ก็มีการลงทุนธุรกิจเดิมปรับตัวไปสู่คาร์บอนต่ำ ซึ่งจะต่อยอดไปถึงเรื่องของ EECI ที่บริษัทใช้เป็นฐานในการพัฒนานวัตกรรม จะช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีและบริษัทในไทยเติบโตไปด้วยกัน เรื่องไหนที่คนอื่นยังไม่ทำ ปตท.เราจะทำก่อน ลงทุนไปก่อน และนำเรื่องที่ได้มาต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์กับคนในประเทศ สัดส่วนธุรกิจใหม่ปีนี้คงยังไม่ถึง 10% แต่ในอนาคตจะต้องเพิ่มขึ้น การขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศนับเป็นยุทธศาสตร์ที่ทุกประเทศดำเนินการ

แต่จากที่ ปตท.ทำมา 2-3 ปี เราเห็นว่าส่วนสำคัญต้องดูว่ามีเทคโนโลยี-ทุน-คน พร้อมหรือไม่ แต่หากไม่พร้อมก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำ เพราะถึงไม่พร้อม แต่หากมี passion พร้อมก็ทำให้ขับเคลื่อนได้ ซึ่ง passion และ purpose สำคัญมาก ปตท.โชคดีมีความชัดเจนทั้ง 2 เรื่อง การขับเคลื่อนนวัตกรรมต้องทำเร็ว หรือสปีด ต้องสเกลอัพ และต้องสร้างผลตอบแทนกลับมาต่อการลงทุน ปตท.จึงต้องหาพันธมิตร partnership and platform เพื่อให้เกิดความเร็ว และสเกลอัพ และสิ่งสำคัญคือ open innovation เพื่อบรรลุเป้าหมายได้โดยเร็วและมีประสิทธิภาพ”