ค่าไฟงวดใหม่ต่ำกว่า 5 บาท กกพ.อุ้มเอกชนสกัดเงินเฟ้อ

“ส.อ.ท.-สรท.” กระทุ้งลดค่าไฟงวด 2 ลดแรงกดดันเงินเฟ้อ “คมกฤช” เผยถกค่าเอฟที 8 มี.ค.ใช้สูตรรับฟังความเห็น โปรยยาหอมเอกชนไม่ต้องกังวล คาดค่าไฟต่ำกว่า 5 บาท/หน่วย แจงผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนที่อกหักงานประมูลยื่นร้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว เบรก กกพ. ประกาศชื่อผู้ชนะประมูล 10 มี.ค.นี้

ทันทีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุจะมีการประชุมบอร์ด กกพ. ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 เพื่อพิจารณาสรุปตัวเลขค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดใหม่ (พฤษภาคม-สิงหาคม 2566) โดยมีกระแสว่าค่า Ft รอบนี้อาจปรับราคาลงจากงวดก่อน (มกราคม-เมษายน 2566)

เนื่องจากปัจจัยการคำนวณต้นทุนไม่ตึงเครียดเหมือนก่อน คือค่าพลังงาน ราคา LNG, ดีเซล, น้ำมันเตาที่ลดตามตลาดโลก ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยคาดว่าซัพพลายจะมีมากขึ้นในกลางปีนี้เช่นกัน

เอกชนกระทุ้งให้ลดต่อเนื่อง

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังค่าไฟปรับขึ้น 13% เมื่อเดือนมกราคม 2566 เป็น 5.33 บาท จากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วยสำหรับภาคธุรกิจ ส.อ.ท.ยังคงติดตามและขอให้รัฐปรับลดค่า Ft ให้กลับมาที่ราคาไม่เกิน 93 สตางค์ เพื่อให้ภาคธุรกิจอยู่ได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงกว่า 4.72 บาทต่อหน่วย เหมือนงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565

ขณะที่ภาคครัวเรือนก็ไม่ควรจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าเดิม รวมถึงกลุ่มเปราะบางที่รัฐตรึงราคาไว้ ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยตรง

พร้อมนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องจัดสรร LNG จากอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้าภายในประเทศให้เต็มที่ รองรับ peak load ช่วงฤดูร้อนนี้ มากกว่าไปสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ส่วนใหญ่ใช้ในการส่งออก โดยมีทางเลือกอื่นรองรับ

ทั้งนี้ การชำระหนี้และปัญหาสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ซึ่งรับผิดชอบการผลิตและราคาไฟฟ้านั้น ก็ควรประคอง การคืนหนี้จากค่า Ft ที่เหมาะสม เพราะต้นทุนพลังงานลดลงแล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งคืนหนี้ให้ EGAT เมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม

ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังไม่มีโอกาสร่วมหารือตามที่เคยแจ้งไว้เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วิกฤตพลังงานและค่าไฟฟ้ายังคงเป็นปัญหาหมักหมมที่รอวันสะสางจากผู้รับผิดชอบที่กล้าหาญและจริงใจ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ต้นทุนพลังงานในตลาดโลกยังผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ

ซึ่ง สรท.ขอให้รัฐควบคุมการปรับขึ้นค่า Ft ในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลกที่ต้องขับเคลื่อนการส่งออกให้เติบโต 1-2% ในปีนี้ ด้วยมูลค่า 291,000-292,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท.กล่าวเสริมว่า ผู้ส่งออกยังกังวลเรื่องค่าไฟฟ้า เพราะทำให้การแข่งขันลำบาก แล้วช่วง 1-2 เดือนมานี้ เราไม่สามารถสู้ราคากับจีนและเวียดนามได้เลย ทำให้ต้องเสียลูกค้าไป และออร์เดอร์ใหม่ก็ไม่เข้ามา โดยเฉพาะลูกค้าตลาดยุโรปและสหรัฐ

กกพ.เตรียมถกค่าไฟ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 8 มีนาคม 2566 จะมีการประชุม กกพ. เพื่อพิจารณาแนวทางการเปิดประชาพิจารณ์ทบทวนอัตราค่า Ft งวดใหม่ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าจะมีสูตรคำนวณกี่สูตร ก่อนเปิดรับฟังความเห็นต่อไป

“เรารับทราบข้อกังวลของภาคเอกชน จากข้อมูลที่อัพเดตมีแนวโน้มว่าค่าไฟน่าจะต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย แต่จะเป็นเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับการรับฟังความคิดเห็นและ กกพ.”

ประมูลไฟฟ้าสีเขียวป่วน

ต่อกรณีการพิจารณาผลสรุปโครงการที่ กกพ.เปิดให้เอกชนยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ feed in tariff (FIT) ขนาด 5,203 เมกะวัตต์นั้น กกพ.ได้ประกาศผลคัดเลือก มีผู้ผ่านเกณฑ์ 318 โครงการ รวม 7,729 เมกะวัตต์ จากที่ยื่น 550 โครงการ มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ 230 โครงการ รวม 6,126 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างให้เอกชนยื่นอุทธรณ์ผลพิจารณา และเตรียมประกาศผลอุทธรณ์ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 นี้

ปรากฏว่า มีเอกชนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประมาณ 4-5 ราย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความคุ้มครองชั่วคราวให้ กกพ.ชะลอโครงการดังกล่าวก่อน

นายคมกฤชกล่าวว่า กรณีที่มีผู้ยื่นร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์นั้น ถือเป็นไปตามกระบวนการที่ผู้ร่วมประมูล ที่จะสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้ตามขั้นตอน และหากศาลพิจารณาให้คุ้มครองชั่วคราวก็ต้องหยุดการประกาศผลสรุปโครงการไว้ก่อน ไม่สามารถทำต่อได้ ก็อาจจะทำให้การดำเนินโครงการดังกล่าวล่าช้าออกไป จากเดิมที่คาดว่าจะสรุปได้ในเดือนมีนาคมนี้

ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนต้าน

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทราบมาว่ามีผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านการพิจารณายื่นร้องต่อศาลปกครอง เบื้องต้นประมาณ 4 ราย และจะไปยื่นเพิ่มเติมอีกใน 1-2 วันนี้ เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครอง ให้ทันก่อนประกาศผลการอุทธรณ์วันที่ 10 มีนาคมนี้

“เท่าที่ทราบเป็นการฟ้อง กกพ. ร่วมกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตาม กกพ. โดยประเด็นที่ร้องส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่เรื่องระบบการประมูลบิดดิ้ง ส่วนประเด็นที่หลักเกณฑ์การประมูลกำหนดตั้งราคารับซื้อฟิกไว้ โดยไม่ให้มีการแข่งขัน”

รับรอง REC เข้าทาง EGAT

แหล่งข่าวผู้ผลิตไฟฟ้า ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลหนึ่งที่มีการประมูลและกำหนดให้เป็นระบบ REC เพราะ EGAT เป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้หรือไม่ ให้ EGAT ทำก็จะเป็นการไปเรียกค่าใช้จ่ายบวกเข้าไปในค่าไฟ หรือเรียกว่า “ราคาพรีเมี่ยม” ออกมา และเมื่อขายรายได้ก็จะกลับเข้าสู่ EGAT ซึ่งเท่ากับว่าวิธีการให้รัฐออกใบ REC นี้ จะทำให้ EGAT มีรายได้สูงขึ้น

แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือผู้บริโภค เพราะต้นทุนการออกใบรับรองนี้จะถูกบวกเข้าไปในค่าไฟฟ้า และคิดไปเป็นราคาสินค้าในท้ายที่สุด สมมุติว่าผู้ประกอบการต้องซื้อไฟพรีเมี่ยมจากต้นทุน 5 บาท ก็บวก 1 บาทรวมเป็น 6 บาท ซึ่งค่าประกอบการสูงขึ้นจะถูกบวกไปในราคาสินค้าผู้บริโภครับก็วนกลับมาเป็นเงินเฟ้อเหมือนเดิม

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) จะเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากกว่าเป้าหมายของภาครัฐที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลงของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเดิม) หลังจากได้เปลี่ยนระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) ไปเมื่อช่วงวันที่ 7-8 มี.ค. 2566

ทั้งนี้ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแปลง G2/61 ปรับลดลงประมาณ 107-152 บาทต่อล้านบีทียู (ปรับจาก 279-324 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงเหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียู) คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.-ธ.ค. 2566) ช่วยสร้างเสถียรภาพของราคาก๊าซธรรมชาติที่จะนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ลดต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และลดผลกระทบเกี่ยวกับราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนได้