
“มิลค์บอร์ด” มีมติเห็นชอบเสนอ ครม.ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบขึ้น 2.25 บาท/กก. ขึ้นราคาน้ำนมโคหน้าโรงงาน 2.75 บาท/กก. มอบ ‘พาณิชย์’ เคาะราคานมพาณิชย์ หวังให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต้นทุนที่สูงขึ้น พร้อมช่วยราคาอาหารสัตว์ บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
วันที่ 14 มีนาคม 2566 นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk board) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเรื่องการทบทวนราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566
โดยให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ปี 2566 เพิ่ม 2.25 บาท จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 21.25 บาท และให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโคหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 เพิ่ม 2.50 บาท จากกิโลกรัมละ 20.25 บาท เป็น 22.75 บาท โดยหลังจากนี้จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วนต่อไป

ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk board) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอราคาน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม พิจารณาทบทวนการกำหนดราคาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่ง
คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้นำเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 รวมทั้งหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องในวันนี้
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอราคาน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม พิจารณาทบทวนการกำหนดราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ของต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา และให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแนวทางในการควบคุมราคาปัจจัยการผลิตและราคาอาหารสัตว์ รวมถึงพิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม (นมพาณิชย์) ให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งต้นทุนน้ำนมดิบและต้นทุนอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม มอบให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนพิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม (นมโรงเรียน) ให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งต้นทุนน้ำนมดิบและต้นทุนอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ และเสนองบกลางให้กับหน่วยจัดซื้อ และให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมแจ้งมติให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ยังได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์ รวมทั้งแนวทางอื่น ๆ ในการปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงโคนมได้อย่างยั่งยืน มิใช่เพียงการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วย