ส่องพอร์ต Nonpower 6 พันล้าน ราชกรุ๊ปผุดโรงพยาบาล-ต่อยอดเวลเนส

ชูศรี เกียรติขจรกุล ราชกรุ๊ป
ชูศรี เกียรติขจรกุล

ส่องพอร์ตธุรกิจ nonpower ราชกรุ๊ป ปี’66 เทงบฯ 6 พันล้านบาท ผนึก รพ.ปริ๊นซ์ สปีดขยาย 7 สาขา เจาะตลาดลูกค้าจังหวัดเมืองรอง-ชายแดนเพื่อนบ้านอาเซียน พร้อมชิมลางธุรกิจ wellness-ต่อยอดศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง “หัวใจ-มะเร็ง” เสริมแกร่งพอร์ต พร้อมแง้มแผนลุยธุรกิจน้ำเสีย Q2 เดินหน้าโรดแมปแผน 5 ปีสู่ 4 เป้าหมาย EBITDA โตไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนธุรกิจนอกภาคไฟฟ้า (nonpower business) เป็นหนึ่งในเป้าหมายของราช กรุ๊ป โดยในปี 2566 บริษัทได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับการลงทุนไว้ประมาณ 6,000 ล้านบาท จากภาพรวมของงบฯลงทุน Capex 35,000 ล้านบาท ส่วนอีก 29,000 ล้านบาท จะใช้ขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยบริษัทมีเป้าหมายว่าจะรักษาระดับผลการดำเนินงานในปี 2566 ให้มีระดับ EBITDA ไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ 5 ปี (2566-2570) ที่วางไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ แผนกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัทปี 2566-2570 มุ่งเน้นเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ 1) การเติบโตของผลตอบแทน โดยตั้งเป้าหมาย EBITDA เติบโตจาก 12,000 ล้านบาทในปี 2566 เป็น 15,000 ล้านบาทในปี 2570 2) การขยายธุรกิจ nonpower กำหนดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5% ในปีนี้ และปี 2570 ธุรกิจนี้จะสร้างรายได้เข้ามาเสริมให้บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 2% เป็นระดับ 5% โดยในจำนวนนี้แบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

3) เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน ให้ได้ 20% ของกำลังการผลิตรวม และเพิ่มขึ้นมาเป็น 25% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

และ 4) พัฒนาการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล และเตรียมความพร้อมสำหรับการประกาศความมุ่งมั่นความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2570

เจาะพอร์ต Nonpower

นางสาวชูศรีกล่าวว่า การขยายกลุ่มธุรกิจ nonpower จะมุ่งเน้นที่ธุรกิจบริการสุขภาพ และ HealthTech โดยยังคงจับมือกับกลุ่ม PRINC ส่วนธุรกิจด้านนวัตกรรมยังดำเนินการผ่านบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เป็นแกนหลักในการลงทุนด้านนวัตกรรมและพลังงานสีเขียว อีกทั้งยังมีการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนากรีนไฮโดรเจน โดยมีแผนจะดำเนินการนำร่องในออสเตรเลียเป็นแห่งแรก

นายนพรัตน์ ท้วมประดิษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และธุรกิจใหม่ ราช กรุ๊ป เปิดเผยว่า แผนการลงทุนในธุรกิจใหม่ 6,000 ล้านบาทนั้น ทางบริษัทวางนโยบายการลงทุนไปในธุรกิจสุขภาพ มีการโฟกัสใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ธุรกิจด้านโรงพยาบาล ที่ลงทุนร่วมกับกลุ่ม PRINC ขณะนี้ถือหุ้นสัดส่วน 10% มีแผนจะเพิ่มจำนวนสาขา 7 แห่งจากปัจจุบันที่มี 13 แห่งให้เป็น 20 แห่งในปี 2566-2568 โดยกำลังศึกษาโอกาสการลงทุนกระจายไปในจังหวัดเมืองรอง เช่น มุกดาหาร หนองคาย นครพนม และเพิ่มเติมใน จ.พิษณุโลก เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดการรักษาไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนกลุ่มที่ 2 ขยายการลงทุนในธุรกิจด้านสุขภาพ (wellness) กลุ่มที่ 3 อาจจะขยายไปสู่การรักษาเฉพาะทางเฉพาะโรค เช่น ศูนย์รักษาโรคหัวใจ หรือศูนย์รักษาโรคมะเร็ง

“รูปแบบการลงทุนใช้พิจารณาร่วมลงทุนกับทาง รพ.ปริ๊นซ์ หรือลงทุนเอง แต่จะพิจารณาโอกาสการลงทุนร่วมกัน พร้อมกันนี้ บริษัทมองถึงการเตรียมบุคลากรรองรับธุรกิจสุขภาพ โดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลซึ่งอาจต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากขึ้น”

นอกจากนี้ยังมองถึงโอกาสที่ขยายการลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสีย เราอาจจะมองหาพันธมิตรที่มีความชำนาญเรื่องนี้ และมองพื้นที่เป้าหมายอาจจะขยายไปยังต่างประเทศในประเทศที่มีฐานการผลิตอยู่แล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2 จากปัจจุบันที่บริษัทมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในมอเตอร์เวย์เส้น M6 และ M81 และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู จะเสร็จในไตรมาส 2-3 ปีนี้ ส่วนการลงทุนใหม่ต่อไปมีโอกาสจะขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังผ่านการเลือกตั้ง

ส่วนผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านไฮโดรเจนในออสเตรเลีย ขนาดที่ผลิตปริมาณ 500,000-1 ล้านตันต่อปี เหตุที่ยังไม่สามารถผลิตขนาดใหญ่ได้ เพราะจะต้องใช้พลังงานรีนิวเอเบิลเป็นวัตถุดิบ เช่น ผลิต 1 ล้านตัน ต้องใช้รีนิวเอเบิล 20 กิกะวัตต์ หรือประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ เพื่อมาผลิตไฮโดรเจน ปัจจุบันราคา 4.9 เหรียญสหรัฐต่อตัน ครึ่งหนึ่งจะเป็นต้นทุนค่าขนส่ง

แผนลงทุนการไฟฟ้า

สำหรับงบประมาณการลงทุน Capex แต่ละปีเฉลี่ยที่ 10,000 ล้านบาท แต่ปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มงบประมาณขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าถึง 25,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตทดแทนโรงไฟฟ้าที่หมดอายุสัญญา

ทำให้ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวมอยู่ที่ 9,801.85 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่ขายไฟฟ้าในประเทศและอีก 6 ประเทศ คือ สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก 7,874.12 เมกะวัตต์ และพลังงานทดแทน 1,927.73 เมกะวัตต์ สามารถสร้างรายได้ในปี 2565 รวม 81,788.08 ล้านบาท

ในปี 2566 มีแผนจะใช้งบประมาณลงทุนในส่วนของโรงไฟฟ้า 29,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนปี 2566 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 518.66 เมกะวัตต์ ปี 2568 เพิ่มขึ้นอีก 918.20 เมกะวัตต์ ปี 2570 เพิ่มขึ้นอีก 252.77 เมกะวัตต์ และปี 2573 อีก 213 เมกะวัตต์ รวมเป็น 1,902.63 เมกะวัตต์

รายได้โรงไฟฟ้า

สำหรับโครงการที่บริษัทจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 1,207.13 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าราช เอ็นเนอร์จี ระยอง 49.98 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติสแน็ปเปอร์ พอยต์ ออสเตรเลีย 154 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม ลินคอล์น แก็ป 1&2 ในออสเตรเลีย 212 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าพลังน้ำค็อดซาน เวียดนาม 17.37 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าซองเกียง 2 เวียดนาม 17.10 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ในเวียดนาม 15.16 เมกะวัตต์

โดยจะเริ่มการเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน ในอินโดนีเซีย ให้เสร็จในไตรมาส 2/2566 จะมีกำลังการผลิตเพิ่ม 741.52 เมกะวัตต์

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 785 เมกะวัตต์ จะเสร็จเฟสแรก เดือนมีนาคม 2567 และเฟส 2 ในปี 2568 ทั้งนี้ รายได้ปีนี้หลัก ๆ จะเพิ่มมาจาก 2 กลุ่ม เน็กส์ซิฟ และไพตัน 4,500-5,000 ล้านบาท