จีนเบียดญี่ปุ่น เบอร์ 1 ลงทุนไทย 10,987 ล้าน 2 เดือน ต่างชาติเพิ่ม 113 ราย

นักธุรกิจจีน

สินิตย์ เผย 2 เดือนแรกปี 2566 ต่างชาติลงทุนในไทย 113 ราย มูลค่า 26,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 305 % จีนเบียดขึ้นแท่นลงทุนอันดับหนึ่ง 10,987 ล้านบาท ญี่ปุ่น 8,545 ล้านบาท สิงคโปร์ 3,090 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,651 คน

วันที่ 18 มีนาคม 2566 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า 2 เดือนแรก (มกราคม – กุมภาพันธ์) ปี 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 113 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 37 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 76 ราย

ทั้งนี้ รวมเป็นเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 26,756 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,651 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 25 ราย (22%) เงินลงทุน 8,545 ล้านบาท สิงคโปร์ 19 ราย (17%) เงินลงทุน 3,090 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 13 ราย (12%) เงินลงทุน 1,314 ล้านบาท จีน 10 ราย (ร้อยละ 9%) เงินลงทุน 10,987 ล้านบาท และ สมาพันธรัฐสวิส 6 ราย (5%) เงินลงทุน 966 ล้านบาท

รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การสร้างแบบจำลองแบบ 3 มิติ และการทำงานของแดมเปอร์เฉพาะทางบนคอมพิวเตอร์ องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการเจาะลอด (Horizontal Directional Drilling) และองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความผิดพลาดในกระบวนการผลิตสินค้าประเภทนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) เป็นต้น

จ้างงานคนไทย 1,651 คน

เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 51 ราย คิดเป็นร้อยละ 82 (เดือน ม.ค. – ก.พ.66 อนุญาต 113 ราย / เดือน ม.ค. – ก.พ.65 อนุญาต 62 ราย) มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 20,154 ล้านบาท คิดเป็น 305% (เดือน ม.ค. – ก.พ.66 ลงทุน 26,756 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ก.พ.65 ลงทุน 6,602 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 412 ราย คิดเป็น 33% (เดือน ม.ค.-ก.พ.66 จ้างงาน 1,651 คน / เดือน ม.ค.-ก.พ.65 จ้างงาน 1,239 คน) โดยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565

ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ

1.บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า

2.บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

3.บริการก่อสร้าง รวมทั้ง ติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก

4.บริการพัฒนา EMBEDDED SOFTWARE ซึ่งเป็นการพัฒนาและติดตั้งซอฟต์แวร์ฝังตัวสำหรับเครื่อง INTERLOCK

5.บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ

ม.ค.-ก.พ.2566 ลงทุน EEC เพิ่ม 21 ราย มูลค่ากว่า 2 พันล้าน

นอกจากนี้ การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 2,078 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 7 ราย ลงทุน 1,352 ล้านบาท จีน 5 ราย ลงทุน 529 ล้านบาท ไต้หวัน 3 ราย ลงทุน 37 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 6 ราย ลงทุน 160 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการทางวิศวกรรมด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจวิศวกรรมยานยนต์ 2) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก และ 3) การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 61 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 15 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 46 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 21,627 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,353 คน

4 กลุ่ม ธุรกิจต่างชาติได้รับอนุญาตประกอบการในไทย

ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการเจาะลอด (Horizontal Directional Drilling) องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบงานศูนย์เครือข่ายโรมมิ่ง (Roaming Hub) และองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความผิดพลาดในกระบวนการผลิตสินค้าประเภทนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

1.บริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก

2.บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบ วางแผน และให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคเกี่ยวกับระบบโทรคมนาคม เป็นต้น

3. บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็นการบริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม

4.การทำกิจการโรงแรม ตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน