“วิกรม” เปิดทางคนนอกตระกูลกรมดิษฐ์ ขึ้นเป็น CEO ยันไม่ลงเล่นการเมือง

วิกรมกรมดิษฐ์ อมตะมอบทรัพย์สินส่วนตัวให้มูลนิธิอมตะ เปิดทางคนนอกเป็น CEO
วิกรม กรมดิษฐ์

“วิกรม กรมดิษฐ์” เจ้าสัวแห่ง “อมตะ คอร์ปอเรชัน” มอบทรัพย์สินส่วนตัว 95% กว่า 20,000 ล้านบาท ให้มูลนิธิอมตะ พร้อมประกาศถอยจากตำแหน่ง CEO เป็นที่ปรึกษา เปิดทางคนนอกตระกูลกรมดิษฐ์ ขึ้นเป็นเบอร์ 1 แทน สานความฝันในวัย 70 ปี มุ่งสร้าง Smart City เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ยันไม่ลงเล่นการเมือง อยากได้นายกฯ แบบสิงคโปร์

วันที่ 17 มีนาคม 2566 นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ กล่าวว่า ตนได้ตัดสินใจมอบทรัพย์สินส่วนตัวในสัดส่วน 95% มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ให้กับสาธารณะ ภายใต้การบริหารจัดการของมูลนิธิอมตะ ซึ่งเงินในส่วนนี้จะนำไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ 6-7 โครงการ

โดยเฉพาะในเรื่องของทุนการศึกษา การทำหนังสือด้านความรู้ สร้างงานและอาชีพ ดูแลรักษาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขาใหญ่ รวมถึงอุทยานต่าง ๆ การสร้างบุคลากร การสร้างนวัตกรรม เช่น การพัฒนาหาบุคลากรอัจฉริยะเพื่อมาช่วยในการเดินหน้าโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

“ผมอายุครบ 70 ปี ใช้เวลาในการสร้างทุกอย่างมาอย่างยากลำบาก เงินในส่วนนี้เป็นเงินส่วนตัวไม่ใช่เงินของครอบครัว ปกติจะลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ที่ไม่ให้ 99% เพราะจะเหลือเงินส่วนหนึ่งประมาณ 200-300 ล้านบาท เผื่อไว้ลงทุนส่วนตัวอีกเล็กน้อย อย่างการสร้างคฤหาสห์อมตะคาสเซิล ในพื้นที่สนามกอล์ฟ อมตะ สปริงค์ คันทรี คลับ จ.ชลบุรี ซึ่งส่วนนี้ลงทุนไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท ก็ยังคงลงทุนเพิ่มเรื่อย ๆ”

เปิดทางคนนอกนั่งเก้าอี้ CEO

สำหรับแผนธุรกิจ ตนจะถอยจากบทบาท CEO ในอมตะฯ เพื่อไปเป็นที่ปรึกษา ซึ่งจะทำหน้าที่คอยให้คำปรึกษา แนะนำ ดูนโยบายโดยไม่ลงมาเป็นระดับบริหาร ส่วนด้านงานบริหารทั้งหมด โครงสร้างองค์กรนับจากนี้ จะต้องมีตระกูลกรมดิษฐ์นั่งระดับบริหารไม่เกิน 3 คนเท่านั้น และควรผลักดันให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบอร์ด กำหนดเป้าหมาย ดูนโยบาย และจะเปิดทางให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็น CEO

“การไม่ยึดติดเรื่องของคนในครอบครัวมานั่งบริหารย่อมดีกว่า โดยสเป็กที่ต้องการคือ อายุระหว่าง 40-50 ปี คนเก่ง จบด้านวิศวะ สุขภาพดี และต้องมีหลักการในการบริหาร ซึ่งขณะนี้ได้แบ่งเค้กส่วนงานต่าง ๆ ออกเป็นก้อน และสรรหาบุคคลที่ต้องการเข้ามาบริหารตามสัดส่วนที่แบ่งไว้ ดังนั้น เมื่อ CEO เข้ามาจะมีหน้าที่บริหารงานได้เต็มที่ ซึ่งจะทำให้อมตะฯ เติบโตได้ดี

สำหรับความฝันของตนและต้องการทำให้สำเร็จ คือการสร้างเมือง เมือง Smart City โดยเราร่วมมือกับหลายพาร์ตเนอร์ หลายประเทศ อย่างโยโกฮามาประเทศญี่ปุ่น เพราะอมตะฯ เราไม่มีอะไรเลย เราเก่งแค่เรื่องพัฒนาที่ดินและให้บริการสาธารณูปโภค เราจึงต้องดึงเอาพาร์ตเนอร์มาร่วมทำ Smart City ของอมตะฯ จะต้องเป็นโมเดลต้นแบบเมืองตัวอย่างให้ได้”

ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าจะไม่เข้าสู่เส้นทางการเมืองแน่นอน เพราะไม่ใช่ไลฟ์สไตล์และสิ่งที่ชอบ และบุคคลที่จะอยู่ในการเมือง ตนมองว่าจะต้องเป็นบุคคลที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามภูมิอากาศ ซึ่งไม่เหมาะกับตนแน่นอน

ส่วนนายกรัฐมนตรีที่ตนต้องการอยากได้ 1.จะต้องเป็นบุคคลที่ทำงานเป็นด้านเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้ GDP โต 6-7% 2.ใช้กฎหมายบังคับและบทลงโทษให้จริงจัง 3.ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดี

“นายกฯ จะเป็นใครก็ได้ที่ทำ 3 เรื่องนี้ได้ และเราอยากได้คนแบบลีกวนยู หรือนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์”