จุรินทร์ เคาะ 22 มาตรการ ดูแลผลไม้ปี 2566 ตั้งเป้าส่งออก 4.4 ล้านตัน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

จุรินทร์ สั่งเดินหน้า มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 รับมือผลไม้ที่จะออกสู่ตลาด 6.78 ล้านตัน เคาะ 22 มาตรการเชิงรุก ตั้งเป้าส่งออกผลไม้ปีนี้ 4.4 ล้านตัน

วันที่ 20 มีนาคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนมอบหมายให้ นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดผลไม้ ปี 2566 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลผลิตผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดในปี 2566 และมาตรการดูแล โดยคาดว่าผลไม้จะออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 3%

สำหรับมาตรการดูแลผลไม้ในปี 2566 แบ่งออกเป็น 4 ด้าน 22 มาตรการ ได้แก่  แผนการผลิต แผนการตลาดในประเทศ แผนการตลาดต่างประเทศ และแผนดูแลด้านกฎหมาย  ส่วน 22 มาตรการนั้น ประกอบด้วย

  • มาตรการที่ 1 เร่งรัดตรวจและรับรอง GAP เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง
  • มาตรการที่ 2 ใช้อมก๋อยโมเดล ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจับคู่เกษตรกร-ผู้ค้า 100,000 ตัน
  • มาตรการที่ 3 ช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกร กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 90,000 ตัน
  • มาตรการที่ 4 สนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในช่วงที่ผลไม้ออกมาก 30,000 ตัน
  • มาตรการที่ 5 ประสานงานห้าง ร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้แก่เกษตรกร 100,000 ตัน
  • มาตรการที่ 6 รณรงค์บริโภคผลไม้ไทย จัดงาน Fruit Festival ในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบิน ฟรี 20 กก. ปริมาณรวม 42,000 ตัน
  • มาตรการที่ 7 สนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภค ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำนวน 300,000 กล่อง หรือ 3,000 ตัน
  • มาตรการที่ 8 อบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เรื่องการค้าออนไลน์ ขายตรงให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงอบรมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้น ตั้งเป้าอย่างน้อย 2,500 ราย
  • มาตรการที่ 9 ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายแรงงาน
  • มาตรการที่ 10 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เตรียมความพร้อมสนับสนุนกำลังพล ช่วยเก็บเกี่ยว คัดแยกและขนย้ายผลไม้ ในบางช่วงที่หากมีปัญหาแรงงาน
สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์
  • มาตรการที่ 11 เชื่อมโยงผลไม้ โดยทีมเซลล์แมนจังหวัด-ประเทศ ประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ
  • มาตรการที่ 12 ส่งเสริมการแปรรูปช่วยค่าบริหารจัดการแปรรูปผลไม้ เช่น ลำไยอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็งเพื่อการส่งออก
  • มาตรการที่ 13 เจาะตลาดนิคมอุตสาหกรรม เปิดพรีออร์เดอร์ผลไม้ กว่า 15,000 ตัน ใน 60 นิคม 30,000 โรงงาน
  • มาตรการที่ 14 เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก โดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกผลไม้กิโลกรัมละ 4 บาท ปริมาณ 100,000 ตัน
  • มาตรการที่ 15 เจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ ออฟไลน์ มุ่งเน้นตลาดใหม่
  • มาตรการที่ 16 จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างประเทศ เช่น ส่งออกผลไม้สู่ตลาดจีนในโครงการ Thai Fruits Golden Months การขายผ่าน TV Shopping
  • มาตรการที่ 17 ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น THAIFEX-Anuga Asia และ GULF FOOD
  • มาตรการที่ 18 จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย เช่น Country Brand ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย
  • มาตรการที่ 19 จัดมหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค
  • มาตรการที่ 20 มุ่งเจรจาผ่านคลายมาตรการทางการค้า ทั้งการลดภาษี ลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า
  • มาตรการที่ 21 ตั้งวอรูม คณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย ภาครัฐร่วมกับเอกชน ติดตามสถานการณ์ ประสานงานแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ผลักดันส่งออกไป 3 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV
  • มาตรการที่ 22 ให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ เวลา 8.00 น. หรือทันทีที่เปิดทำการรับซื้อ

กระทรวงพาณิชย์และจังหวัดยังคงบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ให้เกษตรกรขายผลไม้ที่มีคุณภาพ ได้ราคาดี ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายชั่งตวงวัดโดยเคร่งครัด

นายจุรินทร์  กล่าวอีกว่า ผลการประชุมทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือ การติดตามดูแลผลผลิตผลไม้ในปีนี้ พร้อม กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10%

ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนบริหารจัดการผลไม้ผ่าน 18 มาตรการเชิงรุก รวมทั้งแก้อุปสรรคการส่งออก การเปิดด่าน เร่งรัดส่งออกจับคู่ส่งผลไม้เพื่อการส่งออก


ส่งผลให้สามารถรักษาระดับราคาผลไม้ในประเทศ และส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาดได้ ทำให้ราคาผลไม้ปี 2565 เกือบทุกชนิดสูงกว่าปีที่ผ่านมา เฉลี่ยสูงขึ้น 44% เช่น ทุเรียนเกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 142.50 บาท/กก. ลำไย ช่อส่งออก AA ราคาเฉลี่ย 35-45 บาท/กก. มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 45 บาท/กก. ลองกองเกรดคละ ราคาเฉลี่ย 26 บาท/กก. ดังนั้น การดูแลผลไม้ในปีนี้ พร้อมเดินหน้าเต็มที่