ราคาน้ำมันดิบ (11 พ.ค. 66) ปรับลด หลังดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดิบ
Photo by Paul Ratje / AFP

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น ขณะที่สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้นสวนคาด

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์และเวสต์เทกซัสปรับลด หลังได้รับการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ (CPI) ปรับเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่อยู่อาศัย และรถยนต์มือสองที่พุ่งสูงขึ้น แสดงถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงแข็งแกร่ง

ทั้งนี้เป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นร้อยละ 4.9 ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งลดลงจากระดับร้อยละ 5.0 ในเดือน มี.ค.

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 10 พ.ค. 2566 อยู่ที่ 72.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.15 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 76.41 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.03 เหรียญสหรัฐ

ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนเดือน เม.ย. 66 ปรับลดลงสู่ 42.41 ล้านตัน หรือ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 66 และปรับลดลงร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 65 โดยเป็นผลมาจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ยังสูง รวมทั้งเป็นช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นประจำปี

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 5 พ.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.0 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 462.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 9 แสนบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในอินเดียยังคงได้รับแรงหนุนในช่วงฤดูกาลขับขี่ ถึงแม้จะมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดและฝนตกในบางที่อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในอินโดนีเซียและมาเลเซียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังผ่านช่วงเทศกาลวันอีด

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์ในอินเดียปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังโรงกลั่นในเวียดนามที่ปรับเพิ่มกำลังการผลิต