สั่งชลประทานทั่วประเทศตั้งรับฝนถล่ม 21 จังหวัดปลายสัปดาห์

ชลประทาน

ตั้งรับฝนถล่ม 21 จังหวัดปลายสัปดาห์ สั่งชลประทานทั่วประเทศปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าได้กำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่เสี่ยงดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มาปรับเป็น 6 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทาน

เพราะตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติฉบับที่ 4/2566 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2566 เรื่อง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนตกเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-1 มิ.ย. 66 ในพื้นที่ 21 จังหวัดทุกภูมิภาค

สำหรับ 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1.กักเก็บเต็มประสิทธิภาพ 2.คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง 3.หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง 4.ระบบชลประทานเร่งระบาย 5.เตรียมพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร และ 6.แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ รวมถึงการเตรียมรับมืออุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น พร้อมวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำท่า

และกำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน จัดสรรทรัพยากร อาทิ เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่น ๆ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบัน (25 พ.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 41,438 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างรวมกัน สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีก 34,899 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,191 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างรวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 12,680 ล้าน ลบ.ม.

พร้อมกันนี้นายประพิศ ติดตามการเดินหน้าโครงการประตูระบายน้ำบ้านดอยอิสานพร้อมอาคารประกอบ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ตั้งอยู่ที่บ้านดอยอิสาน หมู่ที่ 2 ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีลักษณะเป็นประตูบานตรงรับน้ำ 2 ทาง จำนวน 6 ช่อง ความจุเก็บกักประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 61

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำอีก 3 แห่ง ได้แก่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านดอยอิสาน ม.2 บ้านดอยอิสาน ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา พื้นที่ชลประทาน 1,900 ไร่ (ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2567-2568), สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านป่าตึงงาม 1 ม.6 บ้านม่อนป่ายางใต้ ต.หนองแรด อ.เทิง จ.เชียงราย พื้นที่ชลประทาน 2,100 ไร่ (ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2569),

สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านป่าตึงงาม 2 ม.3 หนองแรดใต้ ต.หนองแรด อ.เทิง จ.เชียงราย พื้นที่ชลประทาน 1,800 ไร่ (ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2569) และยังมีแผนดำเนินการขุดลอกลำน้ำอิง พร้อมปรับปรุงแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบในปี 2569 อีกด้วย


ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองแรด ตำบลเวียง ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา สามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูฝนได้ประมาณ 12,000 ไร่ และฤดูแล้งได้ประมาณ 7,200 ไร่ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้ต่อปีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต