การไฟฟ้านครหลวง อัพเดตสายไฟฟ้าลงใต้ดิน อืด เสร็จ 62 กม.

สายไฟ
ภาพ Pixabay

ครม.รับทราบ การไฟฟ้านครหลวง นำสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2565 เสร็จ 62 กม. แผนตั้งแต่ปี 2527-2570 กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ 236.1 กม. ปรับแผนเร่งรัดให้เร็วยิ่งขึ้น

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการดําเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปี 2565 ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565

โดย กฟน.มีแผนดําเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กม. กรอบระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่ปี 2527-2570 สรุปดังนี้

1.แผนงาน/โครงการที่ดําเนินการแล้วเสร็จ 62.0 กม. ได้แก่ 1.1 แผนปรับปรุงและขยายระบบจําหน่ายพลังไฟฟ้า โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา (16.2 กม.)

1.2 แผนปรับปรุงและขยายระบบจําหน่ายไฟฟ้า โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท (24.4 กม.) 1.3 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) และโครงการนนทรี (14.3 กม.)

1.4 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ในโครงการรอบพระตําหนักจิตรลดารโหฐาน (7.1 กม.)

2.แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดําเนินการ 174.1 กิโลเมตร ดังนี้

2.1 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ระยะทางรวม 25.2 กม. มีกําหนดแล้วเสร็จปี 2567 ได้แก่ โครงการพระราม 3 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 80.68 จากแผนงานที่กําหนดร้อยละ 82.70

2.2 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 22.5 กม. มีกําหนดแล้วเสร็จปี 2568 ได้แก่ โครงการรัชดาภิเษก-อโศก และโครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 34.26 จากแผนงานที่กําหนดร้อยละ 44.00

3.แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็น มหานครแห่งอาเซียน ระยะทางรวม 127.3 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการ 120.2 กม. มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2568 ได้แก่ (1) โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน (2) โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง

และ (3) โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น ตามแนวรถไฟฟ้า สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีน้ำเงิน สายสีเขียวเหนือ สายสีเขียวใต้ สายสีส้ม สายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายสีม่วง โดยอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างและการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 43.24 จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 45.49

4.แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ระยะทางรวม 20.5 กม. มีกําหนดการแล้วเสร็จปี 2570 ได้แก่ (1) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.รัตนาธิเบศร์ (ถ.ราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก)

(2) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.กรุงเทพฯ-นนทบุรี ถึง ถ.ติวานนท์ และ (3) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถ.สุขุมวิท (ซ.สุขุมวิท 81-ซ.สุขุมวิท 107) โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 21.88 จากแผนงานที่กําหนดร้อยละ 24.73

ทั้งนี้ กฟน.ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2565 จำนวนเงิน 4,576.39 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2565 ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 3,228.44 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.55 ของแผนการเบิกจ่าย ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือโดยเร็วต่อไป อย่างไรก็ตาม กฟน.ได้รายงานปัญหาและอุปสรรคในการดําเนินโครงการ พร้อมแนวทางแก้ไข มีดังนี้

1.การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเมือง ซึ่งมีโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคเดิมเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องแก้ไขและเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ จึงทำให้เกิดความล่าช้า

2.ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีปริมาณมากขึ้น เป็นผลให้ต้องมีการปรับแบบการก่อสร้างเพื่อรองรับ การจ่ายไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น 3.ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในการดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคไม่เป็นไปตามแผน

ทั้งนี้ กฟน.ได้พิจารณาร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแผนดำเนินการโดยเร่งรัดระยะเวลาในการก่อสร้างให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน