NT ปิ๊งไอเดีย แก้โจทย์สายไฟ-สายสื่อสารลงดิน

NT

NT เผย แนวคิดดีล กฟน. กฟภ. ใช้ท่อร้อยสายไฟฟ้าแรงกลาง-ต่ำ ของ NT แทนการขุดใหม่ อัพสปีดการรื้อเสาไฟ ก่อสภาพบังคับให้สายสื่อสารลงดินตาม ตอบโจทย์การจัดระเบียบเมือง

วันที่ 22 เมษายน 2566 นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยว่า ขณะนี้ NT ได้ทำการทดสอบแนวคิด (Proof of concept) ในการใช้ท่อร้อยสายสื่อสายสำหรับรองรับสายไฟฟ้าความดันต่ำ-กลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายไฟฟ้าในเขตเมือง

นายมรกตกล่าวว่า แต่เดิมทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง และ NT ต่างทำงานในส่วนของตนเองตามนโยบายจัดระเบียบเมืองด้วยการนำสายไฟฟ้าสาย-สื่อสารลงดิน ซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้า

เนื่องจาก ก่อนนี้คิดว่าการไฟฟ้าจะต้องขุดดินลึกสามเมตรเพื่อฝังสายไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้เวลาในดำเนินการนาน ในขณะที่พื้นที่เมืองที่เป็นเป้าหมายในการนำสายไฟลงดินหลายแห่งหน่วยงานท้องถิ่นไม่อนุญาตให้เจาะพื้นผิวถนนได้นานขนาดที่จะทำให้การไฟฟ้าดำเนินการได้สมบูรณ์ ทำให้การไฟฟ้าเองก็คิดหนัก

ขณะเดียวกัน ปัญหาในการจัดระเบียบสายสื่อสาร คือ สายสื่อสารของโอเปอเรเตอร์ได้รับการคุ้มครอง ตามอำนาจของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ทำให้สายสื่อสารที่อยู่บนเสาไฟฟ้านั้นจะให้ หน่วยงานอื่น ๆ ไปสั่งการให้เอาลงเห็นจะยาก

“NT เรานั่งทับขุมทรัพย์มายาวนาน ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของเราเอง ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองรวมกว่า 4,000 กิโลเมตร ที่เราสร้างไว้ตั้งแต่ยังเป็นองค์การโทรศัพท์เมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งสายสื่อสารในขณะนั้นเป็นสายทองแดงที่มีขนาดใหญ่ แต่เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่มาถึง สายสื่อสารไฟเบอร์ เส้นไยนำแสง มีขนาดเล็กและเบากว่าทองแดงมาก เรารื้อสายทองแดงทั้งหมดมาขายเพื่อใช้เทคโนโลยีใหม่แล้วเราพบว่า รูท่อร้อยสาย หรือ Duct ที่เรามีตลอดเส้นทางกว่า 4,000 กิโลเมตรมีมหาศาลและรูใหญ่มาก”

นายมรกตเล่าต่อไปว่า เมื่อตรวจสอบแล้วว่าสายไฟฟ้าแรงดันต่ำ-กลาง ที่พาดผ่านเขตเมืองทั้งหลาย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าท่อร้อยสายที่ NT มี จึงสามารถร้อยสายไฟฟ้าเข้าไปได้ ทั้งเทคโนโลยีสายไฟฟ้าและวัสดุในการทำท่อร้อยสายนั้นมีความปลอดภัยและมีมาตรฐานรองรับการทำงานของสายไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ยังมี Duct เหลือ

สำหรับท่อร้อยสายสื่อสารส่งไปถึงปลายทางของบ้านประชาชนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้ในคราวเดียวกัน

“เรากำลังเจรจาในเชิงแนวคิดกับการไฟฟ้า นี่จะเป็นการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์และการซินเนอร์จีระหว่างรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่มาก ซึ่งหากการไฟฟ้าเห็นตรงกันว่าจำเป็นที่จะต้องเร่งเอาสายไฟลงดิน จะทำให้การดำเนินการต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็ว และประชาชนจะได้รับประโยชน์จากความเป็นระเบียบ สวยงาม ที่สำคัญคือก่อให้เกิดความปลอดภัย”

ประเด็นสำคัญ คือ หากการไฟฟ้าเห็นตรงกัน ก็จะเริ่มทำการทดสอบโปรเจ็กต์ Pilot ทันที สิ่งที่ตามมาก็คือ การไฟฟ้าจะเอาสายไฟฟ้ากลางเมืองลงดินได้เร็วขึ้น จากนั้นเมื่อไม่มีสายไฟฟ้าก็ไม่จำเป็นต้องมีเสาไฟฟ้า เมื่อไม่มีเสาไฟฟ้า สายสื่อสารก็ไม่สามารถแขวนบนอากาศได้อีก

“นี่คือสภาพบังคับที่จะเกิดเมื่อเสาไฟฟ้าถูกนำออกจากเมือง”

แก้โจทย์สายไฟ-สายสื่อสารลงดิน

นอกจากนี้ โอเปอเรเตอร์ก็จะสามารถลดต้นทุนตัวเองลงได้เมื่อใช้ท่อร้อยสายของ NT ที่เตรียมระบบ Single Last Mile ที่เชื่อมต่อกับบ้านลูกค้าได้แล้ว ซึ่งค่าเช่านั้นจะอยู่ราว 90-120 บาท เช่าเท่าที่ใช้ โอเปอเรเตอร์มีลูกค้าอยู่กี่หลังก็เช่าแค่นั้น เมื่อลูกค้าเลิกใช้บริการ สายสื่อสารยังอยู่แต่โอเปอเรเตอร์ไม่ต้องจ่ายต่อ นี่คือหลักในการ “แบ่งปันสายสื่อสาร” ทำให้โอเปอเรเตอร์ไม่ต้องลงทุนสร้างและบำรุงสายสื่อสารเอง

“ผมมองไม่เห็นว่า อุปสรรคในการเจรจากับการไฟฟ้าจะมีอุปสรรคอะไร วิธีการนี้จะทำให้ทุกฝ่ายวิน-วิน ทั้งการไฟฟ้าที่อยากจะนำสายลงดิน หน่วยงานท้องที่ท้องถิ่นที่อยากให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย โอเปอเรเตอร์ที่ไม่ต้องลงทุนสร้างและบำรุงสายสื่อสารเอง และท้ายที่สุดคือประชาชนที่ได้รับความปลอดภัยและความเป็นระเบียบของเมือง”

อย่างไรก็ตาม นายมรกตเน้นย้ำว่า แนวคิดดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะเห็นผลการเจราจาเร็ว ๆ นี้