โจทย์ใหญ่รัฐบาลหน้า คลังส่งสัญญาณขึ้นภาษีดีเซล 5 บาท

ราคาน้ำมันวันนี้

หลังจากที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญคือ จะไม่มีการขยายมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 กรกฎาคมนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติ ก่อนที่จะมีการยุบสภา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลหน้าสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศจะถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราเดิม (5 บาท/ลิตร) หรือเท่ากับหลังวันที่ 20 กรกฎาคมราคาน้ำมันดีเซลจะถูกปรับขึ้นไปอีก 5 บาท หากรัฐบาลรักษาการ หรือรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลออกมาอีก

ไม่ลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตร

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า กฎกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเษกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งหมายความว่า มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตรก็จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ “ขณะนี้เรายังไม่สามารถตอบได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะเรื่องนี้ยังมีเวลาเหลืออีก 2 เดือน ขอให้ใกล้ถึงเวลาก่อนจึงค่อยว่ากันอีกที”

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันสิ้นสุด ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ปรากฏกองทุนน้ำมันมีฐานะติดลบอยู่ -69,427 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นตัวเลขติดลบจาน้ำมัน -22,920 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบอยู่ -46,507 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซล (ตรึงไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร) และความช่วยเหลือราคา LNG ต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน จนเกินความสามารถของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะรับไว้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องภาษีน้ำมันดีเซลจะกลับไปเก็บ 5 บาทต่อลิตรหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังมีเวลาพิจารณา โดยตอนนี้ภาษียังลดตามเดิมไปจนถึงวันที่ 20 ก.ค. 2566 ซึ่งระหว่างนั้นกระทรวงการคลังจะต้องหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไร

“คงต้องหารือกับกระทรวงพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ผมเข้าใจว่าฐานะกองทุนน้ำมันตอนนี้ดีขึ้นมาก ซึ่งในหลักการก็คงไม่ให้กระทบราคาขายปลีก คงเป็นเรื่องภาษีกับการบริหารเงินนำส่งกองทุนน้ำมันแทน” นายกฤษฎากล่าว

สองสมมติฐานดูแลดีเซล

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ได้จัดทำสมมติฐานเพื่อให้ทราบทิศทางราคาน้ำมันดีเซล หลังกระทรวงการคลังประกาศกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ยกเลิกประกาศการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป

หรือเท่ากับไม่มีการขยายมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตรที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค.นี้ จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 37 บาท/ลิตร

จากราคาขายปลีกดีเซล ณ หน้าสถานีบริการน้ำมันอยู่ระหว่างที่ 31-32 บาท/ลิตร โดยจะมีการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 1.34 บาท/ลิตร และเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนในส่วนของน้ำมันดีเซลที่ 5.43 บาท/ลิตร โดยสมมติฐานที่จัดทำขึ้นประมาณการราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 90 เหรียญ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 33-35 บาท/เหรียญสหรัฐ

1) กรณีนโยบายภาครัฐให้ขึ้นภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร หลังวันที่ 20 ก.ค. 2566 กบน.จะรักษาระดับราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตร ด้วยการลดการจัดเก็บเงินกองทุนประมาณ 5 บาท/ลิตร เหลือเงินนำส่งเข้ากองทุนสำหรับดีเซล 43 สตางค์/ลิตร ด้วยเงินนำส่งจำนวนนี้ สกนช.คาดการณ์ว่าจะเพียงพอในการดูแลสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันได้

2) กรณีรัฐบาลต้องการให้ลดราคาน้ำมันดีเซล “ต่ำกว่า” 32 บาท/ลิตร และรัฐบาลต้องการใช้นโยบายภาษีเข้ามาดูแลราคาน้ำมันดีเซล ก็จะต้องบริหารจัดการด้วยการ “ทยอย” ขึ้นภาษีสรรพสามิตหลังวันที่ 20 ก.ค. แทนที่จะขึ้นเต็มที่อัตราจัดเก็บ 5 บาท/ลิตร ก็อาจจะต้องทยอยขึ้นทีละ 2-3 บาท/ลิตร และต้องลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อใช้หนี้เงินกู้คืนด้วย อาทิ หากต้องการให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 30 บาท/ลิตรก็ต้องลดภาษีสรรพสามิตต่ออีก 2 บาท/ลิตร และลดการจัดเก็บเงินกองทุนลงอีก 5 บาท/ลิตร เป็นต้น

“ช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง เราจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้เพิ่มขึ้น ผมมองว่าอีก 2 เดือนเงินกองทุนน้ำมันจะติดลบลดลงเหลือประมาณ 50,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน ณ วันที่ 28 พ.ค. 2566 กองทุนติดลบรวม -69,427 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์โลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบผันผวน เราก็ต้องพิจารณาแนวทางอื่นร่วมด้วย” นายวิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่เก็บจากน้ำมันดีเซลปัจจุบันจาก 5.43 บาท/ลิตร เหลือประมาณ 43 สตางค์/ลิตร จากยอดการใช้ดีเซลราว 65-67 ล้านลิตร/วัน คาดว่าจะมีเงินไหลเข้ากองทุนส่วนนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท/เดือน

น่าจะมีเงินเพียงพอในการจ่ายคืนเจ้าหนี้ที่กองทุนน้ำมันไปกู้ยืมมาแล้ว 50,000 ล้านบาท และจะกู้เพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท เป็น 70,000 ล้านบาทภายในเดือนมิถุนายนนี้ จากกรอบวงเงินกู้ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. 150,000 ล้านบาท และบรรจุเป็นหนี้สาธารณะของประเทศไปแล้ว 110,000 ล้านบาท

ภาษีต่ำเป้า 5 หมื่นล้าน

มีรายงานจากกระทรวงการคลังเข้ามาว่า ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565-เม.ย. 2566) กรมสรรพสามิต สามารถจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 276,901 ล้านบาท หรือ “ต่ำกว่า” ช่วงเดียวกันปีก่อน 43,717 ล้านบาท หรือลดลง 13.6% และ “ต่ำกว่า” ประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 53,808 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 16.3% ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต “อยากให้กลับไปเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตราเท่าเดิม” เนื่องจากการลดภาษีสรรพสามิต 5 บาท/ลิตร ทำให้สูญรายได้ไปแล้วเกือบ 158,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลดภาษีสรรพสามิตครั้งที่ 1 (18 ก.พ.-20 พ.ค. 2565) ลดภาษี 3 บาท/ลิตร รัฐสูญเสียรายได้ 18,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 2 (21 พ.ค.-20 ก.ค. 2565) ลดภาษี 5 บาท/ลิตร รัฐสูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท ครั้งที่ 3 (21 ก.ค.-20 ก.ย. 2565) ลดภาษี 5 บาท/ลิตร รัฐสูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท ครั้งที่ 4 (21 กย.-20 พย.2565) ลดภาษี 5 บาท/ลิตร รัฐสูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 5 (21 พ.ย. 2565-20 ม.ค. 2566) ลดภาษี 5 บาท/ลิตร รัฐสูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท ครั้งที่ 6 (21 ม.ค.-20 พ.ค. 2566) ลดภาษี 5 บาท/ลิตร รัฐสูญเสียรายได้ 40,000 ล้านบาท และครั้งที่ 7 (21 พ.ค.-20 ก.ค.2566) ลดภาษี 5 บาท/ลิตร รัฐสูญเสียรายได้ 40,000 ล้านบาท

โดยเป็นเม็ดเงินภาษีหายไปเดือนละกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งภาษีดังกล่าวควรจะเข้าแผ่นดินเพื่อใช้เป็นงบประมาณไปดูแลประชาชน หากรัฐบาลจะต่อมาตรการลดภาษีเหมือนเดิมอีกก็ต้องทำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา เพราะยังเป็นช่วงของรัฐบาลรักษาการ

“โครงสร้างราคาน้ำมันตอนนี้มีส่วนที่เก็บเข้ากองทุนน้ำมันประมาณ 5 บาท/ลิตร จากการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาท/ลิตร แล้วก็ยังมีมาร์จิ้นของผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันอีก 2-3 บาท/ลิตร ถามว่า ถ้ารัฐบาลไม่ต่อเวลาลดภาษีสรรพสามิตอีก แล้วกองทุนน้ำมันก็ไม่ลดการเก็บเงินเข้ากองทุน ราคาขายปลีกน้ำมันก็จะขึ้นไปที่ 37-38 บาท/ลิตรทันที

แต่ข้อสังเกตก็คือ ปกติแล้วในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงมาร์จิ้น (ค่าการตลาด) ของบริษัทน้ำมันควรจะอยู่ 0.5-1 บาท แต่วันนี้ค่าการตลาดปาเข้าไป 2-3 บาท/ลิตร ต้องถามว่าทำไมปล่อยให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันมีกำไรมากขนาดนี้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า วิธีการที่ผ่านมาก็คือ การนำเม็ดเงินภาษีไป “อุ้มกองทุนน้ำมัน” เป็นหลัก ซึ่งหากไปดูสถานะกองทุนน้ำมันตอนนี้มีรายได้เข้ามาแล้ว ทำให้ติดลบเหลือแค่ระดับ 69,427 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่กองทุนน้ำมันติดลบมากกว่า 100,000 ล้านบาท