กองทุนน้ำมัน ชงรัฐบาล เลิกอุ้มภาษีดีเซลพุ่ง 37 บ./ลิตร

น้ำมันดีเซล

กองทุนน้ำมันฯ เตรียมทำหนังสือถึง รัฐบาลรักษาการ-ว่าที่รัฐบาลใหม่ สะกัดดีเซลพุ่ง 37 บาทต่อลิตร หลังคลังเลิกช่วยภาษีสรรพสามิต 21 ก.ค. นี้

วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์. ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี รมว.พลังงาน เป็นประธานได้สั่งการให้ กองทุนเตรียมสรุปสมมุติฐานต่าง ๆ เสนอทั้งรัฐบาลรักษาการ และรัฐบาลใหม่ เพื่อให้ทราบทิศทางและให้นโยบายทางการเมืองว่าจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับทิศทางราคาดีเซล

หลังกระทรวงการคลังประกาศกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ยกเลิกประกาศการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป หรือเท่ากับไม่มีการขยายมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค.นี้ จะทำให้ราคาขายปลีกดีเซลในประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อลิตร

โดยปัจจุบันราคาขายปลีกดีเซลหน้าปั๊มอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร ภายใต้การลดภาษีสรรพสามิต ดีเซล 5 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 20 ก.ค. 2566 โดยมีการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 1.34 บาทต่อลิตร และเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนในส่วนของดีเซลที่ 5.43 บาทต่อลิตร

ดังนั้น เบื้องต้น กบน.ได้ศึกษาความเป็นไปได้ 2 แนวทาง ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันตลาดโลก อยู่ที่ราคาปัจจุบันประมาณ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คือ

1.กรณีนโยบายภาครัฐให้ขึ้นภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร หลังวันที่ 20 ก.ค. 2566 กบน.จะรักษาระดับราคาดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตร ด้วยการลดการจัดเก็บเงินกองทุนประมาณ 5 บาทต่อลิตร เหลือเงินนำส่งเข้ากองทุนสำหรับดีเซล 43 สตางค์ต่อลิตร ก็จะเพียงพอในการดูแลสภาพคล่องกองทุนได้

2.กรณีรัฐบาลต้องการให้ลดราคาดีเซลต่ำกว่า 32 บาทต่อลิตร กรณีนี้รัฐบาลก็ต้องใช้นโยบายภาษีเข้ามาร่วมดูแลด้วยโดยแทนที่จะขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตร ก็จะต้องทยอยขึ้น อาจจะเป็น 2-3 บาทต่อลิตร แนวทางนี้กองทุนก็จะร่วมดูแลโดยการลดการจัดเก็บเงินกองทุนควบคู่ไปด้วย เช่น หากต้องการเห็นดีเซล 30 บาทต่อลิตร ก็ต้องลดภาษีต่ออีก 2 บาทต่อลิตร และลดการจัดเก็บเงินกองทุนลง 5 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงผันผวน ก็ต้องพิจารณาแนวทางอื่นร่วมด้วย

“น้ำมันโลกลดทำให้จัดเก็บเงินน้ำมันได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ทำให้มองว่าอีก 2 เดือน เงินกองทุนจะติดลบเหลือ 5 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบัน ณ วันที่ 21 พ.ค. 2566 กองทุนติดลบรวม 72,731 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 26,111 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 46,620 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์โลกเปลี่ยน น้ำมันผันผวน ก็ต้องพิจารณาแนวทางอื่นร่วมด้วย

หากลดเงินกองทุนที่เก็บดีเซลจาก 5.43 บาทต่อลิตร เหลือประมาณ 43 สตางค์ต่อลิตร จากยอดการใช้ดีเซลราว 65-67 ล้านลิตรต่อวัน ก็คาดว่าจะมีเงินไหลเข้ากองทุนส่วนนี้ ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน น่าจะมีเงินเพียงพอในการจ่ายคืนเจ้าหนี้ที่กองทุนกู้แล้ว 5 หมื่นล้านบาท และจะกู้เพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท เป็น 7 หมื่นล้านบาทภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งกู้เท่านี้ก็จะเพียงพอไม่ต้องกู้เพิ่มอีกตามกรอบได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวงเงิน 150,000 ล้านบาท บรรจุเป็นหนี้สาธารณะของประเทศไปแล้ว 110,000 ล้านบาท” นายวิศักดิ์กล่าว

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังควรต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 21 ก.ค.นี้ออกไปอีก เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าขนส่ง

ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงราคาสินค้าปรับสูงขึ้นตามไปอีก จะกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน ส่วนการต่ออายุมาตรการครั้งนี้ กระทรวงการคลังอาจพิจารณาว่า ยังมีความจำเป็นต้องลดลงลิตรละ 5 บาทตามเดิมหรือไม่ อาจค่อย ๆ ลดลงมาเหลือลิตรละ 4 บาท ลิตรละ 3 บาท เนื่องจากช่วงนี้ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกเริ่มปรับลดลงมา ไม่สูงเหมือนในอดีต และไม่ให้กระทบต่อรายได้ฐานะการคลังมากนัก เป็นประเด็นที่กระทรวงการคลัง จะพิจารณาร่วมกับกระทรวงพลังงานต่อไป