กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเซ็นแบ่งผลผลิต PSC 2 บริษัท 3 แปลง 18 ล้านไร่

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

​กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเซ็นแบ่งปันผลผลิต PSC แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยร่วมกับ 2 บริษัทที่ได้รับสัมปทาน 3 แปลง ขนาดกว่า 18 ล้านไร่ เสริมความมั่นคงด้านพลังงานระยะยาว

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้บริหารของกระทรวงพลังงานร่วมพิธีลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับ 2 บริษัทผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 จำนวน 3 แปลง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี)

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้บริหารของกระทรวงพลังงานร่วมพิธีลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)

ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 20,133.87 ตารางกิโลเมตร และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนาม

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตในครั้งนี้ ได้เพิ่มโอกาสพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงธรรมชาติจากแหล่งภายในประเทศ

สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์

รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังนับว่าเป็นมาตรการที่ช่วยขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจจากธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจภาคขนส่งรวมถึงธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมอีกด้วย

“การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทำให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมถึงได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท”

“และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นกำไรอีกด้วย” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ส่วนการสำรวจในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชเป็นไปตามแผนการที่คาดไว้ โดยเดือนกรกฎาคมปี 2566 จะมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน คาดว่าจะมีกำลังผลิตอยู่ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีกำลังผลิตสูงสุดที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน ปี 2567

อย่างไรก็ตาม นายสุพัฒนพงษ์กล่าวเสริมว่า แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ อาทิ ถ่านหิน ทว่า ประเทศไทยมีเป้่าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ทำให้ในระยะยาวต้องหาพลังงานทางเลือกอื่นมาทดแทนในอนาคต เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งต้องแก้ปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางพลังงาน

ส่วน ​นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในฐานะบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย มีภารกิจในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

ดังนั้น ปตท.สผ. มีความพร้อมที่จะสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แปลงด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่สะสมมาตลอด 38 ปี โดยทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับโครงการของแปลงสำรวจ G1/61 และ G2/61 ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยในระยะยาว

ในขณะที่ นายรณรงค์ ชาญเลขา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ว่า บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทย ซึ่งได้นำมาสู่การร่วมลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตในวันนี้

“เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการพัฒนาแปลงสำรวจหมายเลข G2/65 อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และแนวทางปฏิบัติงานมาตรฐานระดับโลก”

“เพื่อส่งมอบพลังงานที่สะอาดขึ้น อย่างปลอดภัย และเชื่อถือได้ ให้กับประเทศ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำในระยะยาวต่อไป​”