ส.อ.ท. ถกจีนใช้ไทยเป็นฮับลงทุน EV ขยายตลาดอาเซียน-ทั่วโลก

ส.อ.ท. ถกจีนใช้ไทยเป็นฮับลงทุน EV

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถก “หาน จื้อเฉียง” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย หารือความร่วมมือ-แลกเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุน ถ่ายทอดด้านเทคโนโลยี สร้างความมั่นคงด้าน Supply Chain หวังชูให้ไทยเป็นฮับ EV ตั้งฐานการผลิตขยายตลาดในอาเซียนและทั่วโลก

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. พร้อมด้วยนายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน ร่วมประชุมหารือกับ ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และคณะติดตาม ในโอกาสให้เกียรติเยือน ส.อ.ท.

โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส.อ.ท.เป็นตัวแทนของภาคเอกชนไทย ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเชื่อมต่อการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีนตลอดมา ส่งผลให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจีนอีกหลายหน่วยงาน

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีความเข้มแข็งและได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศจีนได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ส่งผลให้ไทยเป็นพันธมิตรที่ดีในการสร้างความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Security)

ส.อ.ท.จึงเชิญชวนให้จีนพิจารณาให้ไทยเป็นฐานหลักในการผลิตเพื่อขยายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน โดยตอกย้ำความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการผลิตของไทยในด้านต่าง ๆ อาทิ

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV Automobile)

ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Top 5 ชั้นนำของจีนได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส.อ.ท.จึงเสนอให้ประเทศจีนใช้ประเทศไทยเป็นฮับ (Hub) ในการขยายตลาดในอาเซียนและทั่วโลก

อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food)

ไทยมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบที่มีคุณภาพและศักยภาพการผลิตที่ทั่วโลกให้การยอมรับ อีกทั้งยังดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาลไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น

อุตสาหกรรมการแพทย์ (Healthcare)

อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของทั่วโลก เนื่องจากสังคมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Generation Industry)

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน เพื่อขับเคลื่อนด้านต่าง ๆ ดังนี้ ทั้งด้านการนำดิจิทัลมาปรับใช้ (Digital Transformation) เนื่องจากจีนมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เครือข่าย 5G และการให้บริการทางดิจิทัล (Digital Services) ซึ่งจะช่วยสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของไทยให้มีทักษะดิจิทัลมากขึ้น

ด้านการขยายเส้นทางขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างไทยกับจีน ส่งเสริมนโยบายข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt, One Road รวมทั้งเส้นทางใหม่ ๆ เช่น การขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในประเด็นด้านความยั่งยืน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาและลดภาวะโลกร้อน ซึ่งทาง ส.อ.ท.ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมช่วยกันแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีการจัดตั้ง “สถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และอุตสาหกรรมระหว่างสองประเทศ และยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจีนหลากหลายหน่วยงาน เช่น สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน หรือ China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) เป็นต้น


การประชุมหารือครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวและยกระดับให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืนต่อไป