พิธาถก ส.อ.ท. รับปากดูแลภาคเอกชน พร้อมขึ้นค่าแรง 450 ให้โตไปพร้อมกัน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธานำทีมเศรษฐกิจก้าวไกล ถก ส.อ.ท. ให้คำมั่นขึ้นค่าแรง 450 บาท มีมาตรการช่วย SMEs ให้โตไปพร้อมกัน ชูโมเดลยกเครื่องอุตสาหกรรมไทย 3F Firm Fair Fast เร่งเจรจา FTA ไทย-อียู

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล, นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รวมถึงนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย พบสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายจากภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อกังวลของตัวแทนภาคอุตสาหกรรม

นายพิธากล่าวว่า ตนมีโอกาสทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมครั้งแรกตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ในวันนั้นประเทศไทยคุยกันเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมคลัสเตอร์พลัส แต่เวลาผ่านไปเห็นได้ว่าหลายเรื่องที่คุยกันค้างไว้ไม่ได้มีการทำต่อ

พรรคก้าวไกลจึงต้องการเข้ามาผลักดันอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ใหม่ ๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น blockchain มาใช้ การสร้างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่โดยเฉพาะการเปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น Made with Thailand ที่ประเทศไทยไม่ใช่แค่รับจ้างผลิต แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมไทยเข้าไปอยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมโลก

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

อุตสาหกรรมไทยในอนาคตจำเป็นต้องมี 3F หนึ่งคือ Firm Foundation หรือพื้นฐานที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สองคือ Fair หรือความเป็นธรรม เพราะ 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทยเติบโตจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สิ่งที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำ ในการพาประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงจำเป็นที่จะต้องคิดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้วย

และสุดท้าย คือ Fast Growing Industry ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการผลักดันการวิจัยและพัฒนา (R&D) และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ประเทศไทยถึงแม้ไม่มีทรัพยากร เช่น โคบอลต์ นิกเกิล ที่จำเป็นในการผลิตแบตเตอรี่แบบต่างประเทศ แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องหาช่องว่างในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ยังมีคู่แข่งน้อย เช่น การผลิตชิป ซิลิคอนคาร์ไบด์ นี่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน

“ประเทศไทยในอนาคตต้องเติบโตด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มการใช้เทคโนโลยี ให้ผลิตสิ่งที่มีมูลค่าสูง ไม่ใช่เติบโตด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำและกดความสามารถในการแข่งขันให้ต่ำ” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวว่า การทำ MOU จัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นคือความสำเร็จของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติ ภายหลังจากที่ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว เชื่อว่าการเจรจา FTA ไทย-อียู จะเสร็จสิ้นได้โดยเร็ว

แต่ในขณะเดียวกันเมื่อดูอัตราการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (FTA Utilization) ก็จะเห็นว่าการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ภายใต้รัฐบาลใหม่การใช้ประโยชน์จาก FTA นี้จะต้องเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานต่อไป

ทั้งนี้ ในการพูดคุย สภาอุตสาหกรรมฯได้เสนอนโยบายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Next-GEN Industries, นโยบายด้านพลังงาน, นโยบายด้านแรงงาน, นโยบายด้าน SMEs ส่วนใหญ่เห็นตรงกันกับนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนโยบายด้านราคาพลังงานที่มีความเป็นธรรม ซึ่งศิริกัญญากล่าวว่า มีสัญญาณที่ดีจากคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานที่พร้อมเปลี่ยนสูตรการจัดสรรก๊าซธรรมชาติ สามารถทำได้ทันทีที่มีรัฐบาลใหม่ จะเห็นผลในบิลค่าไฟที่ลดลงภายในเดือนมกราคม 2567

นายพิธายังระบุถึงความกังวลในการปรับขึ้นค่าแรงของภาคธุรกิจว่า ให้คำมั่นว่าการเพิ่มผลิตภาพแรงงานต้องทำไปพร้อมกับการดูแลปากท้องของพี่น้องแรงงาน ถ้าท้องไม่อิ่มก็ไม่สามารถคิดเรื่องการเพิ่มทักษะได้ แต่นโยบายพรรคก้าวไกลเป็นการขึ้นค่าแรงพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน การเสริมทักษะแรงงาน และมีระบบในการปรับขึ้นค่าแรงทุกปีตามสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพื่อให้ผลิตภาพและรายได้ของประชาชนเป็นสิ่งที่เติบโตไปด้วยกัน

“ความท้าทายของโลกยุคปัจจุบันคือภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำของโลก (Global Minimum Tax) ที่จะทำให้การดึงดูดการลงทุนด้วยการใช้มาตรการทางภาษีแบบเดิมเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป การดึงดูดการลงทุนในอนาคต ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องการจูงใจทางภาษี แต่เป็นเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจ การกิโยตินกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น การปราบคอร์รัปชั่น

การที่ไทยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นอันดับ 5-6 ของอาเซียน แย่กว่าฟิลิปปินส์ แย่กว่าอินโดนีเซีย เป็นเรื่องที่มีความท้าทายพอสมควร ตอนนี้เรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และความท้าทายทางสังคมอื่น ๆ เป็นเรื่องเดียวกัน” นายพิธากล่าว

แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า ส่วนในขั้นต่อไปที่ตนและพรรคก้าวไกล อยากทำงานต่อกับสภาอุตสาหกรรมฯ คือการตั้งคณะทำงานรายคลัสเตอร์ โดยเอาโจทย์ของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกันมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย เทคโนโลยี เงินทุน แรงงาน เพื่อทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

พิธายันค่าแรง 450 บาท ทำทันที ขึ้นน้อยๆ ไม่แรง ไม่กระทบนายจ้าง

วันเดียวกันที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า เรื่องการจัดทำ MOU เป็นแค่การทำงานวาระร่วมกันขั้นต่ำ ในส่วนพรรคก้าวไกล 300 นโยบายที่หาเสียงไว้ จะผลักดันต่อให้สำเร็จมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านสามกลไก 1.กลไกฝ่ายบริหาร เมื่อตนเป็นนายกฯ มีอำนาจบริหารจัดการให้วาระของพรรคก้าวไกล เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ 2.รัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่อยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ผลักดันวาระที่ไม่อยู่ใน MOU แต่เป็น 300 นโยบายที่เราเสนอไว้

3.แม้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวงนโยบายเหล่านั้น แต่ยังสามารถผลักดันในพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้รัฐมนตรีท่านนั้นผลักดันนโยบายของพรรคก้าวไกลได้

ในขณะเดียวกันหลายเรื่องเป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะกฎหมาย 45 ฉบับ ที่เราได้รับปากประชาชนไว้ว่าจะผลักดัน เนื่องจากเรามี ส.ส. 152 คน ก็สามารถผ่านกฎหมาย ได้ เช่น พ.ร.บ.น้ำประปาสะอาด พ.ร.บ.คำนำหน้าอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นต้น

นายพิธากล่าวว่า คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล วันนี้ได้ประชุมกับสภาอุตสาหกรรมหารือกันหลายเรื่อง ทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสนับสนุน SMEs การหาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ทรัพยากรน้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาส รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพค่าแรง มีการพูดถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสม่ำเสมอ ตามเงินเฟ้อ หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ

พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนในช่วงของแพง ค่าแรงถูก ยังมีแน่นอน พรรคก้าวไกลเสนอ 450 บาท/วัน พรรคเพื่อไทย เสนอ 400 บาท/วัน แต่ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงเหรียญอีกด้านหนึ่งคือผู้ประกอบการ โดยสนับสนุนสมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนแรก หรือมีค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 2 เท่า 2 ปี สามารถหักภาษีได้ หรือนโยบายลดภาษีให้กับ SMEs จาก 20% เป็น 15% จาก 15% เป็น 10%

“มีการพูดว่าพอเป็นรัฐบาลผสม ค่าแรง 450 บาท/วัน ยังทำไม่ได้ทันที ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริง เรายังเดินหน้ารับฟัง สภาอุตสาหกรรมที่เป็นรุ่นเด็กลงมาหน่อย สภาหอการค้าไทย สภาแรงงาน สภา SMEs รับฟังให้รอบคอบ แต่ยังยืนยันกับพี่น้องแรงงานว่าค่าแรงขั้นต่ำ มีความจำเป็นต้องขึ้นจริง ๆ และต้องขึ้นสม่ำเสมอ อัตโนมัติ เพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายนายจ้าง

ซึ่งนายจ้างสามารถควบคุมต้นทุนของตัวเองได้ เพราะไม่ได้ขึ้นแรงมาก ขึ้นน้อย ๆ ขึ้นบ่อย ๆ แต่ฝ่ายของลูกจ้างก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในที่สุดสามารถทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จริง ๆ” นายพิธากล่าว