สัมภาษณ์พิเศษ
หลายสถาบันการเงินได้ประเมินเศรษฐกิจจีน ปี 2566 หดตัวลงจากที่คาดการณ์ ผลกระทบจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เป็นตามคาด รวมถึงผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ทำให้จีนต้องเร่งมือในครึ่งปีหลัง โดยมีการส่งสัญญาณเข้าร่วม ความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายสกรรจ์ แสนโสภา” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถึงทิศทางเศรษฐกิจและโอกาสการค้าจีนว่า
สารพัดปัจจัยลบถมเศรษฐกิจจีน
ธนาคารโนมูระ ญี่ปุ่น ประเมินเศรษฐกิจจีนในปี 2566 ลดลงจาก 5.5% เหลือ 5.1% ขณะที่ S&P เป็น Global Rating Agency ได้ปรับลดตัวเลขประมาณการ GDP จีน ลงจาก 5.5% เหลือ 5.2% รวมทั้งหลายหน่วยงานต่างก็ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจจีนลดลงไปในทิศทางเดียวกัน
ผลจากการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ดีขึ้น การขยายตัวของภาคค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ต่ำกว่าคาด และตัวเลขว่างงานของกลุ่มแรงงานอายุน้อยที่สูงเป็นประวัติการณ์ คือ 20.8%
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจจีน ที่จะส่งผลกระทบภาพรวมในระยะยาวด้วย ทั้งภาวะอุปสงค์จากตลาดต่างประเทศที่ลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ และสหภาพยุโรป ปัญหาความยืดเยื้อของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบต่อราคาพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร ความวิตกกังวลของผู้บริโภค และบรรยากาศการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวโดยรวมของโลก
ขณะที่มาตรการของสหรัฐ และพันธมิตรที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงสินค้า/บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน โดยเฉพาะ Chips Act ของสหรัฐ และสหภาพยุโรป และการที่นโยบายของสหรัฐ และสหภาพยุโรปที่พยายามลดความเชื่อมโยง และการพึ่งพาจีนในฐานะฐานการผลิต (de-coupling/de-risking)
โดยส่งเสริมหรือจูงใจให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุนในประเทศ หรือหันไปลงทุนในประเทศอื่น เช่น อินเดีย เวียดนาม เม็กซิโก ทดแทนจีน รวมถึงมาตรการดึงดูดการลงทุนโดยตรง (FDI) และส่งเสริมการค้า-การลงทุนของประเทศเหล่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้จีนมีคู่แข่งมากขึ้น และต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการดึงดูด FDI มากขึ้น รวมถึงอาจต้องออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย
“ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของจีน อาจส่งสัญญาณไม่ค่อยดี สะท้อนว่า เศรษฐกิจของจีนจะถูกกดดันมากขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ”
“ภายหลังการเปิดประเทศโดยยกเลิกมาตรการ Zero COVID จนถึงปัจจุบัน ภาคส่วนหลัก ๆ ที่รัฐบาลจีนได้ประกาศว่า engine ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ การบริโภคภายในประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง และการส่งออก แต่เครื่องยนต์ทำหน้าที่ไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามคาดการณ์ไว้ ทำให้รัฐบาลจีนต้องรีบออกมาตรการรองรับหรือแก้ไขปัญหาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ”
จีนเร่งฟื้นเศรษฐกิจ
ล่าสุดจีน พร้อมเดินหน้าสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมผู้บริหารสภาแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน (วันที่ 16 มิถุนายน 2566) ระบุว่า จะให้ความสำคัญต่อการดำเนินการ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การมีมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์
2) ใช้มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ เช่น การลดข้อจำกัดในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การกระตุ้นการบริโภคของผู้มีรายได้ระดับน้อยและปานกลาง
3) การสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจอย่างเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ และ 4) การป้องกันและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น การลดผลกระทบจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับสหรัฐ โดยหันมาพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยี รวมถึง R&D มากขึ้น
“กระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่าจะกระตุ้นตลาดและการบริโภคในประเทศโดยการพัฒนารถยนต์ เครื่องใช้ในบ้าน การบริโภคสินค้าแบรนด์คุณภาพ และบริการจัดหาอาหาร รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้กำหนดให้ปี 2566 เป็นปีแห่งการฟื้นฟูการบริโภค
อาทิ การบริโภคสีเขียว การบริโภคระหว่างประเทศ เทศกาลช็อปปิ้ง 618 สำหรับเทศกาลแข่งเรือมังกร เทศกาลท่องเที่ยวยามราตรี และเทศกาลการบริโภคดิจิทัล ทั้งยังสร้างสรรค์เครื่องมือส่งเสริมการบริโภคใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ด้านการส่งออกครึ่งหลังของปี 2566 จะดีแม้ยังมีแรงกดดัน และเชื่อรัฐบาลจึงต้องช่วยเหลือส่งเสริมภาคการส่งออกต่อเนื่อง”
เดินหน้าร่วม CPTPP
ขณะเดียวกัน จีนเร่งดำเนินการเพื่อเข้าร่วม CPTPP โดยนายหวัง โซ่วเหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวใน APEC China CEO Forum 2023 ว่า จีนอยู่ระหว่างการปฏิรูปและแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสูงของ CPTPP ซึ่งมีประมาณ 2,300 เงื่อนไข
แต่จีนก็เต็มใจและมีความสามารถที่จะเข้าร่วม CPTPP โดยย้ำว่าการเข้าร่วม CPTPP จะสร้างประโยชน์ให้แก่สมาชิก CPTPP ทุกประเทศ อำนวยความสะดวกต่อการค้าเสรีและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ขณะเดียวกัน จีนจะเดินหน้าเปิดประเทศระดับสูงและเพิ่มความพยายามในการดึงดูด FDI ต่อไป โดยใช้จุดเด่นคือ โอกาสในตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากร 1,400 ล้านคน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่โปร่งใส ห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัย มีเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพ รวมถึงบริการด้านการลงทุนที่สะดวกมากขึ้น
โอกาสส่งออกของไทย
ในช่วง 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) ปี 2566 การค้าระหว่างไทยและจีน มีมูลค่า 54,056.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.9% โดยจีนส่งออกไปไทยมูลค่า 33,003.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.9% และจีนนำเข้าจากไทยมูลค่า 21,052.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปจีนหดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
ประเทศที่จีนนำเข้าสูงสุด ได้แก่ ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย เยอรมนี บราซิล มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
“ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยอาจจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยง เตรียมการหรือรองรับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจและตลาดของจีนที่สำคัญ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามแผนผลักดันการส่งออกที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินการในครึ่งปีหลังของปี 2566 สนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีโอกาสเชื่อมโยงหรือสร้าง exposure ในตลาดจีน หรือในกลุ่มคู่ค้าชาวจีนมากขึ้น ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่มีคุณภาพ และ e-Commerce
โดยเฉพาะ SMEs ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาเลือกคู่ค้าจากจีนที่เหมาะสมและมีศักยภาพอย่างแท้จริง การทำสัญญาการค้า และการเลือกใช้ช่องทางชำระเงินที่ปลอดภัยและการตรวจสอบสินค้าที่มั่นใจได้ด้วย”
ในส่วนภาครัฐ สิ่งสำคัญยังคงต้องติดตามจับตาผลจากมาตรการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการอุดหนุนต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการทุ่มตลาดสินค้า และการใช้มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า เพื่อปกป้องผู้ประกอบการและขยายการส่งออกในปีนี้ ให้เป็นไปตามเป้าหมายเพิ่มขึ้น 1%