แล้งกระทบจีดีพีเกษตรเหลือ 1.5-2.5% เกษตรเตรียมถกมาตรการรับมือเอลนีโญ

ภัยแล้ง

สศก.ชี้ภัยแล้งกระทบผลผลิต ปรับลดเป้าจีดีพีเกษตรปี’66 จาก 2-3% เหลือ 1.5-2.5% เตรียมหารือมาตรการรับมือเอลนีโญ 26 ก.ค. 2566

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก.ปรับเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคเกษตร ในปี 2566 จาก 2-3% เหลือ 1.5-2.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 688,780-695,570 ล้านบาท จากประมาณการเดิม 2-3% หรือคิดเป็นมูลค่า 692,177-698,963 ล้านบาท หรือจีดีพีภาคเกษตรลดต่ำกว่าที่คาดคิดเป็นมูลค่า 3,397-3,393 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าจีดีพีปีนี้สูงกว่าปี 2565 มูลค่า 10,175-16,965 ล้านบาท ที่จีดีพีภาคเกษตรอยู่ที่ 2.4% หรือมูลค่า 678,605 ล้านบาท

ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เป็นผลให้ต้นทุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะราคาปุ๋ยที่ไทยนำเข้ามาแนวโน้มสูงขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้

               

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ อาทิ บริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและตอบโจทย์ผู้บริโภค แปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีในการผลิต การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 2/2566 (เมษายน-มิถุนายน) พบว่าขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักและมีสัดส่วนมากที่สุดของภาคเกษตรหดตัวลง เนื่องจากปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เพียงพอต่อการเติบโตของพืช

อีกทั้งยังมีสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงปลายปี 2565 ถึงช่วงต้นปี 2566 ทำให้พื้นที่ทางภาคตะวันออกมีฝนตกชุกต่อเนื่องสลับกับมีลมพายุ ส่งผลให้สินค้ากลุ่มผลไม้ ดอกและผลร่วงหล่นเสียหาย ขณะที่พื้นที่ทางภาคใต้มีฝนน้อยและสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้สินค้าปาล์มน้ำมันและยางพารามีผลผลิตลดลง

นายฉันทานนท์กล่าวอีกว่า ราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญหลายชนิดยังอยู่ในระดับสูง ทั้งปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการผลิต ลดปริมาณการผลิตหรือใช้ปัจจัยการผลิตลดลง ส่งผลให้ภาพรวมของภาคเกษตรขยายตัวได้ไม่มากนัก เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช ติดลบ 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 3.2%

สินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกรและไก่เนื้อ สาขาประมง ขยายตัว 5.7% สินค้าประมงที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ กุ้งขาวแวนนาไม สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2% เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก โดยกิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินเพิ่มขึ้นในพื้นที่ปลูกพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 (ปีเพาะปลูก 2566/67) และกิจกรรมการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นในพื้นที่พืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ปีเพาะปลูก 2565/66) ส่งผลให้ภาพรวมในสาขาบริการทางเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2% โดยไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษภายในประเทศ และการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น จีน และลาวที่เพิ่มขึ้น

“ในช่วงที่ประเทศอยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ กระทรวงเกษตรฯไม่ได้หยุดนิ่ง ยังมีการเดินหน้ามาตรการที่สามารถดำเนินการได้อยู่เสมอ โดยหลังจากนี้จะมีการเดินหน้าผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ส่วนในเรื่องของการป้องกันผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยในวันที่ 26 กรกฎาคม กระทรวงเกษตรฯจะมีการประชุมหารือ เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งต่อไป” นายฉันทานนท์กล่าว