สำนักงาน กขค.จัดประชุมการแข่งขันการทางการค้า ผู้สนใจเข้าร่วมถึง 18 ประเทศ อนาคตร่วม MOU ระหว่างกัน เพื่อหาแนวทางดูแลการค้าที่เป็นธรรม
วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายไมตรี สุเทพากุล ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Fair Trade Commission : JFTC)
จัดประชุมผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าแห่งเอเชียตะวันออก The 18th EAST ASIA TOP LEVEL OFFICIALS’ MEETING ON COMPETITION LAW AND POLICY (EATOP) และการประชุมกฎหมายและนโยบายการแข่งขันทางการค้าแห่งเอเชียตะวันออก (The 15th EAST ASIA CONFERENCE)
การประชุมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดทำนโยบายการแข่งขันทางการค้าและการนำแนวนโยบายไปปฏิบัติระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า
รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเป้าหมายและมุมมองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และการประชาสัมพันธ์กฎหมายการแข่งขันทางการค้า
อาทิ
- การส่งเสริมการแข่งขันผ่านการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า : ความท้าทายและโอกาส
- ความสำคัญของนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ กับการเติบโตและความสำเร็จของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ มีผู้เข้าแทนจากหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเข้าร่วมจำนวน 18 หน่วยงาน ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บรูไน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย
พร้อมด้วย Mr.Kazuyuki Furuya, ประธานองค์กรกำกับดูแล การแข่งขันทางการค้าแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Fair Trade Commission : JFTC) และ Mr.Seungju Baek, รองคณบดีแห่งธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank Institute : ADBI) เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
ด้านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย กรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทย โดยครั้งหน้าจะจัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบายในการร่วมหาแนวทางการแข่งขันที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นระหว่างประเทศ พร้อมป้องกันการฮั้วกันด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน กขค.ให้ความสำคัญในด้านการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อลดการผูกขาดทางการค้า อนาคตอาจจะมี MOU ระหว่างหน่วยงานร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแข่งขันทางการค้าให้มีมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น