ตั้งรับวิกฤตราคาอาหารโลก “เอลนีโญ-สงคราม” ช็อกตลาดข้าว

ข้าว อินเดีย
ตลาดค้าส่งข้าวในเมืองอมฤตสาร์ ประเทศอินเดีย (Photo by Narinder NANU / AFP)

จับตาวิกฤตอาหารโลกรอบใหม่ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่จบ ยกเลิกสัญญา “ส่งออกธัญพืช” ผ่านทะเลดำ ทุบซ้ำด้วยปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ถล่มผลผลิตเกษตร-ข้าวเสียหาย เกิดภาวะขาดแคลน “อินเดีย” ผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 โลก ระงับส่งออก-ตุนสต๊อกดันราคาข้าวโลกพุ่ง 100 เหรียญต่อตัน ในสัปดาห์เดียว ตลาดสะวิงแรง “ผู้ส่งออกข้าวไทย” ชะลอรับออร์เดอร์ เผยตลาดช็อก “ไม่กล้าซื้อขาย” หวั่นขาดทุน-ไม่มีผลผลิตส่งมอบ คนไทยอ่วมครึ่งปีหลังราคาอาหารพุ่ง “ข้าวถุง” ในประเทศนำร่องขยับราคา 10-20 บาท/ถุง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิกฤตราคาอาหารโลกแพงกำลังรุนแรงขึ้นอีกครั้ง จากที่ล่าสุดเวิลด์แบงก์รายงานเมื่อเดือน ก.ค.ว่า ราคาอาหารในโลกสูง ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อหลายประเทศทั่วโลก โดยมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 5% และมากกว่า 50% ของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ ต้องประสบกับเงินเฟ้อ 2 หลัก โดยมีการประเมินว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อยู่ในแอฟริกา อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา เอเชียใต้ ยุโรป และเอเชียกลาง

เอลนีโญทุบซ้ำปัญหา

สาเหตุของวิกฤตอาหารโลกราคาพุ่งสูงขึ้น มาจากการที่โลกต้องเผชิญกับ 2 วิกฤตซ้อนกัน ทั้งสภาพอากาศแปรปรวนจาก “เอลนีโญ” ทั่วโลก การพังทลายของเขื่อนโนวาคาคอฟกา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำสำหรับพื้นที่ภาคเกษตร และที่สำคัญ เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ จากการที่รัสเซียยกเลิกการทำตามข้อตกลงที่อนุญาตให้ยูเครนส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำ

               

จากที่เคยส่งออกได้ 32 ล้านตัน ต้องเปลี่ยนเส้นทาง ซึ่งการปฏิเสธที่จะไม่ต่อสัญญาของรัสเซียครั้งนี้ทำให้การส่งออกหยุดลง และส่งผลกระทบต่อปริมาณธัญพืชในตลาดโลกลดลง ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับเอลนีโญทั่วโลกกำลังก่อตัวขึ้น

โดยมีการประเมินความเสียหายจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกไว้ถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ (80.5 ล้านล้านบาท) เพราะคาดการณ์ไว้ว่าปรากฏการณ์นี้จะกินระยะเวลายาวนานถึง 5 ปี ระหว่างปี 2566-2570

ภาวะขาดแคลน-กักตุน

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางตรงทั่วโลก คือจะมีคนกว่า 780 ล้านคน ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับสูงขึ้น ทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มออกมาตรการเพื่อเอาตัวรอดในการกักตุนอาหาร เช่น อินเดีย ประกาศงดส่งออกข้าวชั่วคราว ซึ่งผลพวงนี้ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับขึ้นทันที ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย คือ เอลนีโญสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอ

กระทบต่อเนื่องไปถึงวัตถุดิบในการผลิตอาหาร หรือสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น พืชไร่อย่างสับปะรดจะลดลง 29% จากปีก่อนที่มีปริมาณ 1.4 ล้านตัน และข้าวโพดหวาน ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีผลผลิต 660,000 ตัน ต้องรอประเมินความเสียหายจากเอลนีโญ่อีกครั้ง และอาจลุกลามไปถึงสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าเฉพาะความเสียหายจากข้าวและผลผลิตปีนี้จะอยู่ที่ราว 48,000 ล้านบาท

“สิ่งที่ต้องติดตามคือไทยยังมีความเสี่ยงจากความไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลที่เนิ่นช้ายาวนานออกไป ส่งผลกระทบต่อการกำหนดมาตรการรับมือผลกระทบภัยแล้งรุนแรง”

หนุนส่งออกอาหารโต 5%

ด้านนายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมอาหารในช่วง 6 เดือนแรกปี 2566 ตลาดส่งออกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ค่อยดีนัก ส่งผลให้การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารขยายตัวเพียง 2-5% อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปี 2566 การส่งออกกลุ่มนี้จะขยายตัวได้ 5% มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมูลค่าเทียบเท่ากับตลาดอาหารบริโภคในประเทศ

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก หรือเป็นสถานการณ์ธัญพืชในตลาดโลก หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลับมาตึงเครียด ทำให้ยูเครนไม่สามารถขนส่งสินค้าธัญพืช ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ผ่านทะเลดำ จึงต้องเปลี่ยนเส้นทาง ซึ่งทำให้การขนส่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น และต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 15% นอกจากธัญพืชแล้ว ปัญหารัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลต่อราคาวัสดุทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ย ที่ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอีกรอบ

นอกจากนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากการเกิดเอลนีโญ ที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรทั่วโลกลดลง ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตอาหารอย่างอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก หยุดส่งออกชั่วคราว เพราะก่อนที่จะมีเอลนีโญ ทางอินเดียก็ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องด้วยพายุน้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคการเกษตร ทำให้ผลผลิตลดลง ราคาอาหารในอินเดียโดยเฉพาะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น จึงต้องระงับการส่งออก

“ราคาสินค้า” พุ่งครึ่งปีหลัง

นายเจริญกล่าวว่า แนวโน้มราคาอาหารในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะปรับสูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบธัญพืช ยังไม่นับรวมต้นทุนเรื่องค่าไฟฟ้า ซึ่งแม้ล่าสุดทาง กกพ.จะปรับลดค่า Ft ทำให้ค่าไฟลดจากหน่วยละ 4.70 บาท เหลือ 4.45 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังต่ำกว่าที่ ส.อ.ท.ขอให้ปรับลดลงเหลือ 4.25 บาท เพราะก่อนหน้านี้ค่าไฟปรับขึ้นมา 3 ครั้ง จาก 3 บาทไปเป็น 5 บาทกว่า เพิ่งจะปรับลงแค่ 2 ครั้ง แล้วก็ลดลงไม่มาก

ซึ่งหากประเมินภาพรวมของต้นทุนรวมในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะปรับขึ้นประมาณ 5% ซึ่งก็จะทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาสินค้าประมาณ 5% เช่นกัน แล้วแต่ชนิดและขนาด แต่บางตัวที่เป็นสินค้าควบคุมก็อาจจะปรับราคาไม่ได้ การที่ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อของไทยจะปรับสูงขึ้นตาม

“แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาอาหารน่าจะปรับสูงขึ้นประมาณ 5% โดยเฉพาะกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากธัญพืช ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ที่ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น แป้งขนมปัง เบเกอรี่และเส้น รวมถึงกลุ่มข้าวถุง แต่หากสินค้าใดเป็นสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายในก็อาจจะยังไม่ปรับขึ้น”

นายเจริญกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลในเรื่องของการนำเข้าวัตถุดิบ อย่างเช่น ปุ๋ยจากแหล่งอื่น เพื่อมาทดแทนการนำเข้าจากรัสเซียและยูเครน ตลอดจนจัดการเรื่องน้ำเพื่อรับมือกับปัญหาเอลนีโญ และจัดการเรื่องราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น

ขณะเดียวกันขอให้รัฐบาลพิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับการใช้นโยบายการปรับขึ้นค่าแรง เพราะหากปรับขึ้นในคราวเดียวก็จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ ดังนั้นหากจะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงก็ขอให้ทยอยขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่า

ผู้ส่งออกข้าวหยุดรับออร์เดอร์

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทย กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวครึ่งปีแรกทำได้ 4 ล้านตัน ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องจับตา 2 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการส่งออกข้าว คือ ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ยูเครนไม่สามารถส่งออกธัญพืชได้ ส่งผลเชื่อมโยงมาถึงอินเดีย

ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้ข้าวสาลีจำนวนมาก จึงได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวทุกชนิด ยกเว้นบาสมาติ ทำให้ราคาส่งออกข้าวปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งหลายฝ่ายจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจะกระทบกับผลผลิตข้าวนาปีเสียหายหรือไม่

“ช่วงนี้ผู้ส่งออกส่วนหนึ่งไม่กล้ารับออร์เดอร์ รอดูสถานการณ์ก่อนเพราะข้าวจะออกเดือนหน้า ก็ยังมีความกังวลกันเรื่องเอลนีโญกันมาก ซึ่งจะกลายเป็นว่าราคาดี แต่ไม่มีของขาย แต่ทุกประเทศที่ผลิตข้าวก็น่าจะโดนผลกระทบเหมือนกัน ยังมาเจอเรื่องข้าวสาลียูเครนอีกก็หนัก อินเดียกินข้าวสาลีเยอะก็เลยชะลอส่งออก ส่งผลปริมาณข้าวของอินเดียในตลาดจะลดลง แต่ยังไม่เยอะ ต้องรอดูสถานการณ์ ตอนนี้ภาพรวมส่งออกข้าวของไทยที่จะส่งมอบเดือนหน้า (ส.ค.) ยังมองว่าน่าจะทำได้ 550,000-600,000 ตัน ภาพรวมทั้งปีน่าจะได้ 7.5 ล้านตัน ขณะที่ราคาข้าวต้องยอมรับว่าจะสูงขึ้นทั้งตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ”

ขณะที่ตัวเลขการส่งออกข้าวไทยปี 2565 อยู่ที่ 7.69 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 138,451.8 ล้านบาท คิดเป็น 3,970.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

จับตาโรงสีเบี้ยวส่งมอบ

ขณะที่นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวว่า ครึ่งปีหลังแนวโน้มตลาดน่าจะมีความต้องการซื้อข้าวไทยมากขึ้น ปัจจัยหลักมาจากอินเดียหยุดส่งออก ส่วนเรื่องเอลนีโญ มองว่าปีนี้จะยังไม่กระทบมาก แต่จะไปกระทบในปีหน้า ซึ่งกรณีที่อินเดียระงับการส่งออกข้าวก็ทำให้ออร์เดอร์มาไทยเพิ่มขึ้นเยอะ โดยเฉพาะจากแอฟริกา รองลงมาคือ เอเชีย อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อินเดียหยุดส่งออกก็จริง แต่ยังเอาแน่ไม่ได้ เพราะอินเดียเคยประกาศหยุดส่งออก แต่หยุดเพียงแค่ 1-2 สัปดาห์ก็กลับมาส่งออกใหม่ ซึ่งทำให้ราคาผันผวนมาก ทำให้ต้องระมัดระวัง ทั้งผู้ส่งออกและโรงสี ซึ่งโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกราคาตันละ 15,000-16,000 บาท ซึ่งบางรายมีสต๊อก บางรายเป็นการตั้งราคาขายล่วงหน้าสำหรับข้าวในนาที่ยังไม่ออก (ขายอนาคต)

จึงอาจนำมาสู่ปัญหาว่า ข้าวไม่ได้มีตามที่รับออร์เดอร์ไว้ ตอนนี้ราคาตลาดพุ่งขึ้นไป 18,000 บาท โรงสีที่รับออร์เดอร์ผู้ส่งออกไว้แล้ว แต่ไม่สามารถซื้อข้าวเปลือกได้ ทำให้ไม่มีข้าวที่จะส่งมอบ ประเด็นนี้ก็จะกระทบไปถึงผู้ส่งออกไม่มีข้าวส่งมอบปลายทาง

ราคาข้าวพุ่งเกือบ 100 เหรียญ

นายศุภชัยกล่าวว่า ขณะที่ผู้ส่งออกก่อนหน้านี้รับออร์เดอร์ไว้ที่ราคา 470-480 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลักษณะแบบซื้อมาขายไป ซึ่งบริษัทเรามีสต๊อกก็สามารถส่งออกได้ แต่ผู้ส่งออกบางรายไม่มีข้าวก็ไม่สามารถส่งออกได้ แต่การจะไปซื้อข้าวมาสต๊อกไว้ก่อนแล้วค่อยไปรับออร์เดอร์ขายส่งออกก็เป็นเรื่องยาก เพราะราคาข้าวขยับขึ้นมาเยอะ ดังนั้นรับออร์เดอร์ไว้แล้วราคาพุ่งไปอีกก็เสี่ยง ส่วนที่ยอมซื้อกันตอนนี้ คือการซื้อเพื่อไปส่งมอบออร์เดอร์เก่า

แต่ตอนนี้ไม่รับออร์เดอร์ใหม่เพราะราคาส่งออกก้าวกระโดดขยับไปเกือบ 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในเวลาแค่สัปดาห์เดียว โดยเรื่องของอินเดียเป็นตัวแปรหลัก แต่ตอนนี้อินเดียห้ามส่งออกเฉพาะข้าวขาว แต่ยังส่งออกข้าวนึ่ง ซึ่งทำให้เราประเมินว่าไม่ช้าก็เร็ว อินเดียจะกลับมาส่งออกแน่นอน

“การที่อินเดียไม่ส่งออก ลูกค้าก็ถามมาที่ไทย เพื่อขอให้ส่งมอบข้าวเดือน 8 เดือน 9 แต่ทางผู้ส่งออกก็ไม่กล้าเปิดราคาเหมือนกัน เพราะต่างคนต่างกลัว เราก็ไม่กล้าที่จะเสนอราคาใหม่ จึงต้องรอสักพัก เพราะถึงราคาขึ้นไปมาก ไม่ใช่จะขายกันได้ดี บางโรงสีก็ยังติดส่งมอบออร์เดอร์เก่าอยู่ ต่อให้มีคนมาซื้อให้ราคา 19,000 บาทต่อตัน ก็ยังไม่กล้าขาย เป็นภาวะตลาดช็อกเหมือนกัน แต่อานิสงส์ตอนนี้ไปตกที่ชาวนา ราคาข้าวสดขยับขึ้นทะลุ 10,000 หมื่นบาทต่อตัน”

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการส่งออกข้าวเดือนสิงหาคม ยอดยังไม่ลดลงมากนัก เพราะผู้ส่งออกยังมีสต๊อกเพียงพอที่จะส่งมอบ แต่ต้องรอดูสถานการณ์ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาด ต้องดูว่าจะออกปริมาณมากน้อยเพียงใด ภาวะแล้งจะกระทบมากน้อยเพียงใด แต่มองว่ายังไม่กระทบมากเพราะมีฝนมา แต่จะทิ้งช่วงหรือไม่ และต้องดูว่าภาวะการช็อกไม่กล้าซื้อไม่กล้าขายจะหายหรือยัง

ราคาข้าวถุงใน ปท.ขยับราคา

นายศุภชัยกล่าวว่า ขณะที่ตลาดข้าวถุงในประเทศมีการทยอยปรับราคาไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยขนาดถุง 5 กก. ปรับขึ้นถุงละ 10-20 บาท เพราะได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบข้าว และค่าไฟ โดยอัตราการปรับขึ้นรุนแรงเป็นข้าวขาว 5% ข้าวขาว 100% จะปรับขึ้นแรงกว่าข้าวหอมมะลิ ข้าวพื้นนุ่มต่าง ๆ เพราะราคาข้าวขาวในตลาดปรับขึ้นไปมาก จากตันละ 14,000-15,000 บาท ตอนนี้ปรับไปถึง 18,000 บาท ยังไม่นับรวมค่าถุง ค่าไฟ ค่าแรงงาน และค่าเครื่องจักร หากจำหน่ายเข้าห้างก็จะมีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อีก 15-20%

“ครึ่งปีหลังมีโอกาสจะปรับขึ้นราคาข้าวถุงอีกรอบ แต่ข้าวถุงที่จำหน่ายในห้างอาจจะยังไม่เห็นผลชัด เพราะยังติดสัญญากับห้าง แต่ถึงอย่างไรภาพรวมต้องปรับแน่นอนในเดือน ส.ค. เพราะซัพพลายเออร์คงแบกรับไม่ไหว ซึ่งคนกินก็ปรับพฤติกรรมมากินข้าวตัวถูกจะขายดีขึ้น ข้าวขาวพื้นนุ่มจะเยอะขึ้น แต่ตัวแพงยอดขายก็ลดลง”