กรมชลฯรับมือ “เอลนีโญ” แล้งในฝน ชะลอปลูกข้าว 4 ล้านไร่

สัมภาษณ์พิเศษ

เอลนีโญกำลังเป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิดตามที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้และยืดเยื้อนาน 3-4 ปี ผลกระทบสำคัญจะทำให้เกิดภาวะแล้งและฝนทิ้งช่วง แม่งานอย่างกรมชลประทานต้องเตรียมรับมือทั้งยังวางยุทธศาสตร์ 20 ปีแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่ไทยต้องเผชิญมาโดยตลอด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ประพิศ จันทร์มา” อธิบดีกรมชลประทาน ถึงสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ

สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก

ปัจจุบันใน 4 เขื่อนหลักของเจ้าพระยามีน้ำ 3,700 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังมากกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 700 กว่าล้าน ลบ.ม. วันนี้สิ่งที่ได้เตรียมพร้อมนอกเหนือจากขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำประหยัด หลังจากนี้ต้องมีแหล่งน้ำสำรองเตรียมการไว้ไม่ว่าเครื่องจักร เครื่องมือ รถขุด รถขน เครื่องสูบน้ำไปช่วย น้ำอุปโภคบริโภคอย่างไรต้องไม่ขาด ส่วนน้ำเกษตรและน้ำอุตสาหกรรมก็รองลงไป

“ตอนนี้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำ แบบหน้าแล้งในฤดูฝนอยู่ ซึ่งปกติถ้าฝนมาก็ทำนาใช้ฝนเป็นหลักแล้วใช้น้ำชลประทานเสริม แต่วันนี้ขอให้รอฝนก่อน กลางเดือนน่าจะมาบ้าง แต่ต้องขอให้ประหยัดน้ำ สำหรับคนที่ทำเกษตรอยู่แล้ว 4.2 ล้านไร่จาก 8 ล้านไร่ เราก็ช่วยดูแลให้ดีสูบน้ำไปช่วยไม่ให้เสียหาย

ส่วนคนที่ยังไม่ทำอีก 4 ล้านไร่ ก็อย่าเพิ่งทำ รอฝนก่อน ขอความร่วมมือชาวนา เขาไม่ได้ดื้อ เขาเข้าใจ ทุกคนเขารู้หมดว่าแล้ง เราเลยบริหารแล้งในฝน หลัก ๆ คือ น้ำกินน้ำใช้จะอย่างไรก็ไม่ให้ขาด น้ำรักษานิเวศก็ไม่ให้ขาด”

พ.ย.มีน้ำ 8 พันล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไม่น้อยกว่า 8,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการได้ครบทุกกิจกรรม โดยหลักคือ น้ำอุปโภคบริโภค ส่วนในกิจกรรมรองลงมา เช่น การเกษตร ต้องวงในพื้นที่ตรงไหน แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ก็ต้องดู เป็นการคาดการณ์ หลังจาก 1 พฤศจิกายนแล้วจะเริ่มเห็นภาพข้อเท็จจริงแล้ว

“เมื่อพยากรณ์ก็ต้องมาคาดการณ์ว่าฝนน้อยไม่น่าจะต่ำกว่า 8,000 ล้าน อันนี้เป็นการคาดการณ์ แต่ 1 พฤศจิกายนอันนี้จะเห็นของจริง พอดูของจริงก็มาวางแผน ที่พูดว่า 4 ล้านไร่อาจจะไม่ถึง หรือว่าอาจจะมากกว่า 8,000 ล้าน

อาจจะวางแผนได้มากกว่านั้น อันนี้คือการวางแผน เราเอาน้ำต้นทุนมาตั้งไว้ก่อนแล้วมีความต้องการก็กระจายไป ฉะนั้นการวางแผนอยู่ที่ต้นทุน เราเป็นหน่วยงานที่ทำงานกับอนาคต ผมว่าแผนได้ 8,000 ล้าน ถ้ามาจริงหมื่น หรือ 5 พันล้าน ลบ.ม. ก็ต้องปรับ โดยต้องดูอุปสงค์ อุปทาน”

ขาดที่เก็บเสียโอกาส

“เอลนีโญตอนนี้ 1) ถามว่าฝนตกมาเยอะไหม ตามค่าเฉลี่ยแต่อาจจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยไม่มาก หากถามว่าตอนนี้ประเทศไทยขาดน้ำไหม เราไม่ได้ขาดน้ำ แต่เราพบว่าสิ่งสำคัญที่ขาด คือตุ่มที่เก็บน้ำ ทั้งในส่วนของภาครัฐและบ้านเรือน ทำให้เสียโอกาสในการเก็บน้ำ โดยปกติมีน้ำ 280,000 ล้าน ลบ.ม. แต่สามารถเก็บไว้ได้เพียง 84,000 ล้าน ลบ.ม.”

หากมีที่เก็บน้ำจะได้ประโยชน์ใน 2 มิติ คือ ถ้าฝนตกลงมาสามารถเก็บน้ำไว้ แทนที่จะปล่อยน้ำไหลลงทะเลหมด ช่วยตัดยอดน้ำไว้ข้างบนชะลอไม่ให้ลงข้างล่างเร็ว ช่วงหน้าแล้งฝนไม่ตกก็มีน้ำในตุ่มที่เก็บไว้เอามาใช้กัน ตอนนี้ไม่มีที่เก็บเพียงพอ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน หรือแต่ละบ้านควรช่วยกันเก็บน้ำ

การแก้ไขคือสร้างตุ่มเพิ่ม ซึ่งจะใช้พื้นที่ ใช้งบประมาณ แต่ไม่ยากเท่ากับกระบวนการต่าง ๆ ค่อนข้างนาน โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยต้องศึกษาถึง 2 ฤดูกาล ฝน 2 แล้ง 2 รวมเวลาศึกษาอาจจะเป็น 3 ปีด้วยซ้ำ หลังจากนั้นก็ต้องส่งเข้าผ่านคณะกรรมการ แล้วมาขออนุญาตราชการส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ เป็นต้น ฉะนั้นต้องมีการพูดคุย ตัวบทกฎหมายมันค่อนข้างใช้เวลา

ระยะยาวยุทธศาสตร์ 20 ปี

กรมมียุทธศาสตร์ 20 ปี เริ่มปี 2561 กำหนดว่าภายในปี 2580 จะเพิ่มที่เก็บน้ำให้ได้ 13,000 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่เก็บอ่าง 18-19 ล้านไร่ แต่โดยข้อจำกัดหลาย ๆ เรื่อง แต่ละปีก็ 4-3 แสนไร่ น้ำก็เก็บได้ 200 ล้าน ลบ.ม.

“เรามีเป้าหมายเพิ่ม แต่ข้อจำกัดในเรื่องพัฒนาแหล่งน้ำที่ส่วนใหญ่อยู่ในส่วนของราชการฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบกฎหมาย เรื่องของการมีส่วนร่วม หรือเรื่องของประชาชนที่ใช้พื้นที่ทำกินอยู่ อันนี้ต้องการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ

โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมาย เช่น ถ้าอยู่ในพื้นที่ป่าโซน C หรือป่าอนุรักษ์ 500 ไร่ การทำศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ฤดูกาล แล้วมาขอใช้พื้นที่อีกก็คือ 2 ปี กระบวนการทางด้านกฎหมายค่อนข้างนาน ในเรื่องการก่อสร้างไม่ยาก แต่โครงการหนึ่งใช้เวลา 3-5 ปี”

เป้าหมายปี’66-แผนปี’67

เป้าหมายเฉพาะปี 2566 มีแผนดำเนินโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 0.2263 ล้านไร่ เก็บน้ำเพิ่ม 136.69 ล้าน ลบ.ม. (กราฟิก)

ตาราง ยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี

“การเมืองหากรัฐบาลมาช้าอาจกระทบกับแผนบ้าง อย่างเช่น แผนงบฯ เดือนนี้ควรอยู่ขั้นตอนของกรรมาธิการได้แล้ว แต่ปีนี้ยังไม่ได้เข้า ครม.งบประมาณปี’67 เลย ก่อนเข้า ครม.ต้องเข้าไปชี้แจงกับส่วนราชการต่าง ๆ มีไทม์ไลน์ต้องทำอะไรบ้าง

งบประมาณแต่ละปี ซึ่งน่าจะเริ่มได้รัฐมนตรีเดือนสิงหาคม กันยายนก็น่าจะมีโรดแมปที่ต้องทำก็อาจจะช้า ลักษณะเหมือนปีงบประมาณ 2563 ที่เลือกตั้งรัฐบาลปี 2562 ก็ช้าไปประมาณ 2-3 เดือน แผนน้ำที่ทำไว้อาจต้องมีทบทวน รัฐบาลใหม่มาก็ต้องปรับปรุง แต่ยังสามารถใช้งบประมาณเดิมไปพลางก่อนสำหรับโครงการเดิมโครงการต่อเนื่องต่าง ๆ แต่ในส่วนงานที่จะเปิดใหม่จะทำไม่ได้ เพราะต้องผ่าน ครม. งานเปิดใหม่ต้องรอก่อน”

ทดลองโมเดลเอกชนร่วมทุน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโซนที่ไม่มีตุ่มเก็บน้ำเลย คือ แม่น้ำยม และสะแกกรัง มีแต่อ่างเล็ก ๆ แม่น้ำยมอีก 3-5 ปีข้างหน้ามีตุ่ม 100 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแม่น้ำชีจากเดิมในอดีตไม่มีตุ่มเก็บเลย อีก 3-5 ปีข้างหน้ามี 300 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้กำลังเริ่ม จะสร้างเสร็จปี’68 จะมีตุ่มดักต้นน้ำได้

ส่วนโครงการคลองบางไทรเป็นไปตามแผน แผนพัฒนาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เรามีทั้งหมด 9 แผน นี่แผนที่ 2 ส่วนแผนอื่นก็คือปรับลอกระบบชลประทานเดิม บางไทรอีกประมาณสัก 2-3 ปี น่าจะเสร็จเรียบร้อย

“กรมมีแนวคิดร่วมทุนเอกชนตอนนี้มีการศึกษาอยู่ เช่น การผันน้ำเขื่อนภูมิพล ศึกษาว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณมากจะให้เอกชนมาร่วมทุน แต่ว่าอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่เดินหน้าไปมากมาย จะเป็นลักษณะเป็นเงินให้เอกชนทำ แล้วก็รัฐค่อยผ่อน ไม่เหมือน PPP ที่เอกชนมาร่วมลงทุน ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง”

ค่าน้ำ 50 สต.มา 48 ปี

ในส่วนค่าน้ำ กรมชลฯเก็บตาม พ.ร.บ. ราคา 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนเอกชนที่เอาน้ำจากเราก็นำไปลงทุนทำท่อก็มีการบวกค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ซึ่งนั่นเป็นในส่วนของเอกชนที่จะคำนวณตามต้นทุน ส่วนค่าน้ำ กรมชลฯเก็บไม่เกิน 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร ใช้ตอนนี้ตั้งแต่ปี 2518 หรือประมาณ 48 ปีแล้ว