ตั้งวอร์รูมรับมือเอลนีโญ ส่ง “เผือกร้อน” รอรับรัฐบาลใหม่

ฉันทานนท์ วรรณเขจร-ผยง​ ศรีวณิช-เกรียงไกร เธียรนุกูล
ฉันทานนท์ วรรณเขจร-ผยง​ ศรีวณิช-เกรียงไกร เธียรนุกูล

สถานการณ์เอลนีโญ หรือฝนน้อย น้ำน้อย กำลังมีแนวโน้มที่จะเกิด “ภัยแล้ง” ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า สถานการณ์เอลนีโญในไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคมอยู่ในระดับปานกลางที่ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2558/2559 ซึ่งเป็นปีที่ภัยแล้งรุนแรงที่สุด

โดยปีนั้นอยู่ที่ 1.2 ล่าสุดปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2566 ก็ “ต่ำกว่า” ระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลางที่มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40% ทั้งหมดนี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่า เอลนีโญจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ด้านกรมชลประทานประเมินปริมาณน้ำฝนของไทยออกมาพบว่า เฉลี่ยลดลงจากเดิม 5% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปี รวมถึงคาดว่าปริมาณน้ำในเขื่อนของปีนี้จะ “น้อยกว่า” ปี 2565 อยู่ถึง 50% ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ในพื้นที่ชลประทาน

วิกฤตน้ำเขื่อนเหมือนปี’58

ด้วยเหตุนี้ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือ โดย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า กกร.ประเมินผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้ อาจสร้างมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยสูงถึง 53,000 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 2566 ถึงครึ่งแรกของปี 2567

โดยเมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับวิกฤตในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตก มีปริมาณน้ำใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง

ขอทบทวนแผนน้ำ EEC

เช่นเดียวกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มองว่า ภัยแล้งนอกจากจะกระทบต่อโอกาสส่งออกแล้ว ยังกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศที่ตอนนี้เริ่มมีสัญญาณ “ที่ไม่ดีด้วย” ขณะที่ในภาคการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ทาง กกร.หารือร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำใน EEC เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ได้ข้อสรุปว่า

Advertisment

ในส่วนภาครัฐรับที่จะจัดทำ water balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่ และ “ทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า” โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำบางพระ, อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญที่มีระยะยาวนานและผันผวนมากขึ้น

รวมถึงเสนอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความมั่นคงระยะยาวที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และขอให้ทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ EEC และพื้นที่อื่น ๆ

Advertisment

ตั้ง War Room อีกแล้ว

ขณะที่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร สัปดาห์ที่ผ่านมามีมติให้ตั้ง “วอร์รูม-war room” เพื่อติดตามสถานการณ์เอลนีโญของโลกและไทย รวมถึงติดตามการผลิต การตลาด และสถานการณ์ราคาในตลาดโลกของข้าวและพืชผลทางการเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ

โดย war room จะประกอบด้วย นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธาน และผู้แทนส่วนราชการทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งภาคเอกชนและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง โดยให้เสนอแนวทางตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไป และยังมอบหมายให้ทูตพาณิชย์จาก 58 ประเทศทั่วโลกติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต ราคา และการตลาดของพืชเกษตรทุกตัวโดยเฉพาะ “ข้าว” เพื่อรายงานให้กระทรวงพาณิชย์ทราบทุก 1-2 สัปดาห์

ข้าวราคาพุ่ง ไทยมีได้มีเสีย

จากภาพรวมสถานการณ์เอลนีโญ ประกอบกับมาตรการระงับการส่งออกข้าวขาวของอินเดียที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลกับตลาดข้าวทั่วโลก เนื่องจากอินเดียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 40%

ดังนั้นการระงับการส่งออกข้าวของอินเดียจึงส่งผลให้ข้าวในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้นทันที 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน ด้านหนึ่งอาจจะเป็นโอกาสที่ดีของการส่งออกข้าว หากตลาดแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดที่มีการบริโภคข้าวจากอินเดียหันมาซื้อข้าวไทย “ก็น่าจะเป็นอานิสงส์ราคาข้าวมาถึงชาวนาไทยได้”

แต่อีกด้านหนึ่งจากรายงานของกรมการข้าว ได้ประเมินสถานการณ์ปริมาณข้าวไว้ว่า ผลผลิตข้าวไทยปี 2566 น่าจะ “น้อยกว่า” ปี 2565 โดยนาปรังปีนี้คาดว่าผลผลิตข้าวจะลดลงเหลือ 6.59 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ได้ 7.7 ล้านตัน ส่วนนาปีเดิมที่ 26.6 ล้านตัน จะลดลงมาอยู่ที่ 25.7 ล้านตัน หรือคิดเป็น 3.27%

แต่ยังต้องเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์เพาะปลูกข้าวจริงอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ “ประเทศไทยต้อง ‘หาจุดสมดุล’ ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น แต่ผู้บริโภคข้าวสารบรรจุถุงก็อาจจะได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่แพงขึ้นเช่นกัน”

ซึ่งในส่วนนี้ กรมการค้าภายในแจ้งว่า ราคาข้าวหอมมะลิ 100% ปัจจุบันราคา 210 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 209.36 บาท ส่วนราคาข้าวขาว 100% ปัจจุบันอยู่ที่ 117 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ 119 บาท แต่ยังมองว่า “ตลาดข้าวถุง” เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทั้งยังมีการจัดโปรโมชั่นราคาในห้าง ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระได้

น้ำน้อยกระทบปลูกข้าวนาปรัง

ขณะที่กรมชลประทานจะมีการประชุมวางแผนบริหารจัดการน้ำในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งถือเป็นปีน้ำของปี 2567 โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีน้ำใช้การได้ที่ 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากปัจจุบันที่มี 16,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจะต้องจัดลำดับความสำคัญให้กับน้ำอุปโภคบริโภคก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงจะกระจายสู่น้ำภาคการเกษตร การผลิต และการค้า

โดยในกรณีที่มี “น้ำน้อย” ก็จะกระทบกับการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 6 ล้านไร่ และการปลูกข้าวในลุ่มน้ำแม่กลองจำนวน 800,000 ไร่ และอาจจะไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ ทำให้ผลผลิตข้าวจะลดลงไปราว 3-4 ล้านตัน ดังนั้นช่วงเวลานี้ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการกักเก็บน้ำฝนสำหรับใช้ในฤดูแล้งต่อไป

ลุ้น GDP เกษตรขยายตัว 2.5%

แน่นอนว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงเอลนีโญ เป็นเดิมพันต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร กระดูกสันหลังของประเทศ โดย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 ว่า จะขยายตัวในช่วง 1.5-2.5% จากปี 2565 แม้ว่าภาวะ GDP ภาคเกษตรไตรมาส 2 ปี 2566 (เมษายน-มิถุนายน) ขยายตัวเพียง 0.3% แต่ยังเหลือเวลากว่าครึ่งทางที่จะต้องผลักดันให้ GDP ภาคเกษตรเป็นไปตามเป้าหมาย

ท่ามกลางปัจจัยที่มีผลต่อ GDP ภาคเกษตรที่ยังมีมากมาย ทั้งราคาปัจจัยการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อและการลงทุนของเกษตรกร ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้

และที่สำคัญการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านเกษตรของภาครัฐ ที่ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ เนื่องจากต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่าจะสามารถแต่งตั้งได้ทันในเดือนสิงหาคมนี้หรือไม่ หรือเท่ากับว่า รัฐบาลชุดใหม่จะมีเวลาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้นที่จะต้องรับมือกับภาวะเอลนีโญ กับดักภาคเกษตรที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567