หวั่น “เอลนีโญ” ลากยาว 5 ปี ทุเรียนตะวันออกวูบ 40%

กู้ภัยแล้ง

“ตราด” หนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกที่ปกติมีปริมาณฝนตกมากเฉลี่ยเกือบ 5,000 มิลลิเมตร/ปี ขณะที่ “จันทบุรี” มีปริมาณฝนตกเฉลี่ย 2,500 มิลลิเมตร/ปี แต่ปีนี้ฤทธิ์ของ “เอลนีโญ” ทำให้ปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่าค่าปกติ สถานการณ์ดังกล่าวเกษตรกร และผู้ส่งออกทุเรียนหลายคนหวั่นเกรงจะส่งผลกระทบต่อต้น และผลผลิตทุเรียนในฤดูกาลหน้า

หวั่นเอลนีโญลากยาว 5 ปี

นายสัญชัย โกสัลส์วัฒนา เจ้าของเพจทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน และอดีตนายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนเป็นพืชที่ขาดน้ำไม่ได้ หากปล่อยให้ใบหมาด (แห้ง, ร่วง) ต้นจะตาย ต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปีปลูกใหม่ ปี 2566-2567 ภัยแล้งน่ากลัว ช่วงพฤศจิกายน 2566-กุมภาพันธ์ 2567

และต่อด้วยเอลนีโญ มีนาคม-เมษายน และอาจจะลากยาวถึง 5 ปี รวมทั้งปัญหากระแสลมพายุรุนแรงจากการเปลี่ยนฤดู ช่วงผลผลิตกำลังจะเก็บเกี่ยวได้อาจจะทำให้ทุเรียนโค่นเสียหาย เพราะการค้ำโยงคงทำได้ไม่หมดในพื้นที่สวนขนาด 20-100 ไร่ ทางรอดของเกษตรกร การเตรียมความพร้อมแหล่งน้ำ ก่อนที่จะเผชิญกับภัยแล้ง เอลนีโญ ปี 2566-2567

               

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ปลูกและอุณหภูมิ สภาพอากาศที่เหมาะกับกระบวนการทำงานของใบที่จะออกดอก ติดผล ถ้าอากาศผิดปกติมากระยะเวลานาน ๆ 7-15 วัน ทุเรียนจะอยู่ไม่ได้ การให้น้ำในสภาพร้อนแล้งช่วง 2 เดือน ใกล้เก็บเกี่ยวต้องใช้น้ำมากกว่าปกติ 2-3 เท่า ประมาณ 400-500 ลิตร/ต้น/วัน ถ้าน้ำไม่พอต้องไม่ไว้ผลทั้งหมดเพื่อรักษาต้นไว้รอลูกในปีต่อไป

“สิงหาคม-ปลายตุลาคม คาดว่ามรสุมจะมา 2 ลูก อ่างเก็บน้ำจะเก็บกักปริมาณน้ำฝนไว้ได้ ถ้าปริมาณฝนน้อย การเก็บน้ำในอ่างเก็บได้น้อย และภาวะแล้งยาวต่อเนื่องไปพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์จะกระทบต่อผลผลิตทุเรียนของ จ.จันทบุรี ปี 2566-2567 คาดว่าปริมาณน่าจะลดลง 30-40% แต่ภาพรวมยังคงใกล้เคียงปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นและเริ่มทยอยให้ผล

ในขณะที่เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ค่าปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช การลงทุนขุดสระน้ำ เจาะบ่อบาดาล หากตลาดทุเรียนต่างประเทศยังแข่งขันกันซื้อเหมือนปีที่ผ่านมา ราคาทุเรียนน่าจะไปได้ดี แต่ผลกระทบจากภัยแล้งจะทำให้มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ทำให้ลูกไม่สมบูรณ์ เนื้อไม่เต็มพู ขนาดลูกเล็ก เกษตรกรต้องเตรียมแหล่งน้ำสำรองและบริหารจัดการให้เพียงพอ”

ทุเรียน

แล้งทำผลด้อยคุณภาพ 30%

นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคตะวันออกเฉียดภัยแล้งมาหลายปีก่อน สวนทุเรียนค่อนข้างตื่นตัวมีการเตรียมแหล่งน้ำ ปีนี้คาดว่าเอลนีโญมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ช่วงวิกฤตคือ มีนาคม-เมษายน 2567 แต่ทั้งนี้ต้องดูสภาพอากาศ ลมมรสุมคาดว่าจะมาช่วงสิงหาคม-กันยายน 2566 และปลายตุลาคมนี้ ปริมาณน้ำฝนจะมากพอเก็บกักน้ำหรือไม่

หากปริมาณน้ำฝนน้อย น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงต่ำสุด การบริหารจัดการน้ำของชาวสวนเป็นสิ่งสำคัญ การทำสวนทุเรียนปีนี้จะยากขึ้น ต้องมีแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอและรู้จักบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม การซื้อน้ำต้องเลิกคิด เพราะขาดทุนแน่ ๆ

“ปี 2562-2563 จันทบุรีเฉียดภัยแล้งมาแล้ว ปี 2566 มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้น้ำสูง โดยเฉพาะ 70-100 วันก่อนตัด ความต้องการน้ำสูงกว่าปกติเกือบ 2 เท่า เพื่อให้ทั้งต้นและลูกอยู่รอด และภาวะร้อน แห้งแล้ง มีผลกระทบกับคุณภาพผลผลิตทุเรียนด้อยลงประมาณ 30% เช่น ลูกเล็กลง ตกไซซ์มาก และผลผลิตลดลง

การทำผลผลิตทุเรียนปีนี้ควรเลือกทำ 2 กรณี คือ ถ้าพื้นที่ขาดน้ำต้องทำให้ผลผลิตออกก่อนแล้งหนัก (มีนาคม-เมษายน) เพื่อให้มีน้ำเลี้ยงต้นไว้ หรือถ้ามีแหล่งน้ำพอเลี้ยงต้น ทำให้ผลผลิตออกหลังช่วงแล้ง ช่วงแล้งจัดหากขาดน้ำอาจจะยืนต้นตาย ต้องพยายามรักษาต้นให้รอดก่อน ผลผลิตเก็บไว้พอสมควร ที่เหลือต้องตัดทิ้ง เพื่อกระจายความเสี่ยง และเกษตรกรต้องปรับพฤติกรรมใช้น้ำอย่างประหยัด

การบริหารจัดการแปลงเพื่อลดอุณหภูมิความร้อน เช่น ปรับหัวสปริงเกลอร์ให้เล็กลง และระยะเวลาให้น้ำสั้นลง เปลี่ยนเวลาให้น้ำจากเช้ามาเป็นช่วงบ่าย เพื่อช่วยลดอุณหภูมิให้อากาศมีความชื้น ปีนี้ต้นทุนทำสวนทุเรียนเพิ่มขึ้น จาก 30% เป็น 40%” นายกสมาคมทุเรียนไทยกล่าว

ชลประทานรับมือเสี่ยงขาดน้ำ

นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.จันทบุรี สำนักงานชลประทานที่ 9 ให้ข้อมูลว่า โครงการชลประทานจันทบุรี ได้วางแผนสำรองน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง

โดยได้จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอุตสาหกรรม ตามลำดับ มีการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนและไม่มีพื้นที่ในเขตชลประทานประสบภัยแล้ง พร้อมคาดการณ์และวางมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำในอนาคต

ตามข้อสั่งการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ด้วยการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี (ปี 2566-2567) เร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่เหลือ (ก.ค.-ต.ค. 66) ให้ได้มากที่สุด โดยประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง และวางแผนใช้มาตรการประหยัดน้ำลดเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้น สิ้นสุดฤดูฝนปีนี้น้ำเพียงพอแน่นอน

นายขรรค์ชัย ไชยคง หน.ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งใน จ.ตราด มีอ่างปริมาณเกณฑ์น้ำมากเกิน 100% ทั้ง 2 แห่ง เกณฑ์น้ำดี 80-99% ทั้ง 4 แห่งน้ำพอใช้ 30-79% จำนวน 1 แห่ง

รวมปริมาณน้ำ 160.097 ล้าน ลบ.ม. จากความจุเก็บกักน้ำได้ 184.065 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86.98% แม้ว่าปีนี้ปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่าค่าปกติ แต่สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะปกติปริมาณฝนตกมากเฉลี่ยประมาณเกือบ 5,000 มิลลิเมตร/ปี ถ้าฝนทิ้งช่วงหรือตกน้อยกว่า 40% เฉลี่ย 2,000-3,000 มิลลิเมตร ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ

ซึ่งทุกปีช่วงฤดูฝนถึงปลายฤดูประมาณพฤศจิกายนจะมีฝนมาเติม หากต่อจากนี้ฝนทิ้งช่วง ต้องมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เพราะปัจจุบันพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้นมาก แต่คาดว่าจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตชลประทาน และอาจช่วยพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงได้บ้าง

กู้ภัยแล้ง

ข้อมูล เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 66 จ.จันทบุรี อ่างเก็บน้ำชลประทาน 3 แห่ง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองสันทราย ปริมาณน้ำ 8,857 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 88.57% ความจุเก็บกัก เทียบปี 2565 ปริมาณน้ำ 5,838 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58.38%

ความจุเก็บกัก อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ปริมาณน้ำ 43,251 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61.34% ความจุเก็บกัก เทียบปี 2565 ปริมาณน้ำ 60,209 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 85.39%

ความจุเก็บกัก อ่างคลองประแกด ปี 2566 ปริมาณน้ำ 39,190 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65.03% ความจุเก็บกัก เทียบปี 2565 ปริมาณน้ำ 42,242 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70.10%

ความจุเก็บกัก อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุเก็บกัก 80 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้การก่อสร้างได้ประมาณ 91% กักเก็บน้ำได้ประมาณ 21 ล้าน ลบ.ม.

คาดว่าสิ้นสุดฤดูฝนจะกักเก็บได้ 30 ล้าน ลบ.ม. ส่วนของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เขื่อนคีรีธาร ปริมาณน้ำ 54,165 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71.46% ความจุเก็บกัก เทียบปี 2565 ปริมาณน้ำ 52,663 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 69.45% และเขื่อนพลวง ปริมาณน้ำ 56.284 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70.19% ความจุเก็บกัก เทียบปี 2565 ปริมาณน้ำ 65,637 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81.86% ความจุเก็บกัก

อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ความจุเก็บกักเสริมสปิลเวย์ 295 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำ 185.93 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63.03% เทียบกับปี 2565 ปริมาณน้ำ 221.00 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 74.92% น้อยกว่าปี 2565 ปริมาณ 35.07 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 11.89% รับได้อีก 109.07 ล้าน ลบ.ม.