
กรมชลประทานพร้อมรับมือน้ำหลาก 12-18 ส.ค.นี้ ฝนตกหนักร่องมรสุมทำฝนตกชุกในระยะนี้ ส่งผลดีเติมน้ำในเขื่อน ลดความเสี่ยงภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้จนถึงกลางปี 2567
วันที่ 10 สิงหาคม 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 12-18 สิงหาคม 2566 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตามที่ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 14/2566 นั้น
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- ราคายางใกล้แตะ 50 บาท/กก. กระทบโรงงานน้ำยางข้นต้นทุนพุ่ง-จ่อปิดตัว
- เตือน 10 จังหวัด เตรียมพร้อมยกของขึ้นที่สูง รับมือสถานการณ์น้ำ
กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง โดยสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบสภาพอาคารชลประทาน และจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบ็กโค/รถขุด รถเทรเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ
อย่างไรก็ตาม หากฝนตกในพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำในภาพรวม โดยกรมชลประทานจะกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ให้มีน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอไปจนกว่าจะถึงฤดูแล้ง