
วิกฤตหมูสูญแล้ว 100,000 ล้าน หลังฟื้นตัวจากปัญหาโรคระบาดหมู ASF แต่ต้องมาเจอ “หมูเถื่อน” ตีตลาดภายในประเทศ ทำราคาหมูต่ำสุด 50 บาท/กิโล ฟาร์มรายย่อยขาดทุนยับตัวละ 3,000 บาท กลุ่มผู้เลี้ยงหมูภาคตะวันตกปูดเจอตู้คอนเทนเนอร์ต้องสงสัยตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังอีก 400 ตู้
นับเป็นเวลา 4 เดือนแล้วหลังจากการตรวจสอบที่ท่าเรือแหลมฉบัง จนพบว่ามี “หมูกล่องแช่แข็ง” หรือ “หมูเถื่อน” ตกค้างที่ท่าเรือจำนวน 161 ตู้ ปริมาณ 4 ตัน จากการนำเข้าของ 11 บริษัท แต่บริษัทดังกล่าวไม่ได้มารับสินค้า ทำให้เกิดปัญหาตกค้าง จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม และนำไปสู่การสอบสวน
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ในระหว่างนั้นราคาจำหน่ายหมูเป็นที่เคยจำหน่ายได้ 90 บาท/กก. ได้ลดลงมาต่ำกว่า 60 บาท/กก. จากการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาตีตลาด จนนำมาสู่การตั้งคำถามที่ว่า หมูเถื่อนสร้างความเสียหายให้กับตลาดหมูภายในประเทศเท่าไร และจะดำเนินการอย่างไร เพราะ ปัญหาหมูเถื่อนถือเป็นการ “ทุบซ้ำ” ห่วงโซ่การผลิตหมู ซึ่งเพิ่งจะฟื้นจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) มาได้ไม่นาน
ขาดทุนปีละ 1 แสนล้าน
นสพ.เกียรติภูมิ พฤกษะวัน เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหา “หมูกล่องหรือหมูเถื่อน” ที่คาดว่าได้มีการนำเข้ามาในตลาดกว่า 20% คิดเป็นความเสียหายมูลค่า 20,000-30,000 ล้านบาท เป็นการซ้ำเติมจากที่ก่อนหน้านี้ที่ผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปี 2564-2565
สร้างความเสียหายกับฟาร์มหมูคิดตามรอบการสูญเสียไปแล้วประมาณ 50,000 ล้านบาท กระทั่งได้มีการลงทุนกลับมาเลี้ยงใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินไปอีกไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท และถ้าหากราคาขายหมูยังเป็นแบบนี้ เท่ากับคนที่เลี้ยงจะขาดทุนกันตัวละ 3,000 บาท หรือขาดทุนประมาณ 100,000 ล้านบาทในเวลา 1 ปี
ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนธุรกิจหมูได้เริ่มเกิดมาตั้งแต่ปี 2564-2565 หลังจากการระบาด ASF อย่างหนัก แต่ประเทศไทยผ่านพ้นไปด้วยโมเดลแบบที่เกิดการระบาดในจีนคือ “ตูมเดียวหมดและไม่มีการระบาดอีก” กระทั่งปี 2565-2566 เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกลับมาลงทุนเลี้ยงใหม่ บางรายขยายฟาร์ม บางแห่งก็ปรับปรุงระบบฟาร์มป้องกันโรค จนทำให้เห็นตัวเลขมีการขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ 150,000 ราย หรือคิดเป็นปริมาณการเลี้ยงหมูประมาณ 18 ล้านตัว ซึ่งคิดเป็นอัตราการฟื้นกลับมาแล้วประมาณ 80-90% จากช่วงก่อน ASF ที่มีการเลี้ยงประมาณ 20-21 ล้านตัว
ซึ่งนอกจากมีฟาร์มแล้ว ยังมีโรงเชือดใหม่ ๆ ที่มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น ทั้งแบบโรงเชือดธรรมดา โรงเชือด GMP โรงเชือด GSP สำหรับส่งออกรวม 20-30 โรง กำลังการเชือดเพิ่มขึ้นจากวันละ 55,000 ตัว เป็น 90,000 ตัว
โอเวอร์ซัพพลายหมู
นสพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า เมื่อช่วงที่เกิดโรคระบาด ASF ปรากฏว่าเกษตรกรหายไปครึ่งหนึ่ง แต่ตอนนี้กลับมาขึ้นทะเบียนเลี้ยง 150,000 ราย ยังไม่นับรวมเกษตรกรที่เลี้ยงแบบหลังบ้าน หากคำนวณเป็นจำนวนหมูจะได้ 18 ล้านตัว/ปี ในจำนวนนี้เป็นการเลี้ยงโดยฟาร์มรายใหญ่ 70% ซึ่งทุกฝ่ายได้มีการเฝ้าระวังและควบคุมดูแลปัญหาเรื่องโรคระบาดเข้มงวด โดยเฉพาะทางกรมปศุสัตว์ได้เพิ่มความระมัดระวังสำหรับการเลี้ยงใหม่ กำหนดให้ฟาร์มที่มีการเลี้ยงหมูขุนมากกว่า 5,000 ตัว และมีแม่พันธุ์มากกว่า 90 ตัวจะต้องมาทำเป็นฟาร์มมาตรฐาน
ด้านตัวเลขสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปัจจุบันไทยมีจำนวนฟาร์มมาตรฐานแล้ว 6,209 ฟาร์ม มีกำลังผลิต 14-16 ล้านตัว คาดว่าจนถึงสิ้นปี 2566 จะมีฟาร์มมาตรฐานขนาดกลางเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ฟาร์ม แต่ฟาร์มรายเล็กรายน้อยกรมปศุสัตว์จะใช้มาตรฐาน GFM เข้าไปดูแล ทำให้เข้าสู่โรงเชือดได้
“อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูกำลังฟื้นตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่กลับมาเจอ ปัญหาหมูกล่องและต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขาย ทำให้เกษตรกรขาดทุนตัวละ 3,000 บาท ซึ่งหากเชือดวันละ 55,000 ตัวคูณเข้าไปจะเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท/วัน” นสพ.เกียรติภูมิกล่าว
ภาพรวมราคาดิ่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงหลังการระบาดของโรค ASF ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนหมูประมาณเดือน ม.ค.-มี.ค. ปี 2565 เท่านั้น หลังจากนั้นผู้เลี้ยงรับสัญญาณที่ทำให้รู้สึกว่า “ตลาดอิ่มตัว ราคาหมูถดถอย” ลงเรื่อย ๆ จนถึงปี 2566 ราคาลงหนักเสียหายขาดทุน แม้ว่ามีการลงทุนใหม่กลับมา แต่สภาวะก็คือ “มีหมูให้ผู้บริโภค แต่ผู้เลี้ยงขาดทุน”
โดยถ้าพูดเรื่องต้นทุนตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน สมาคมผู้เลี้ยงฯ และนักวิชาการ คิดจากต้นทุนลูกสุกรและราคาอาหารสัตว์จากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ จะพบว่าวันนี้ต้นทุนเฉลี่ยที่ กก.ละ 90 บาท ขณะที่ราคาขายหมูเป็นประกาศที่ราคา 62-70 บาท แต่รายย่อยจะขายได้ บางที่โดนกดไปต่ำสุด 47-48 บาท/กก.ก็มี ซึ่งหากคิดราคากลางขายได้ 62 บาทเท่ากับขาดทุน กก.ละ 28 บาท หรือเฉลี่ยตัวละ 3,000 บาท หากเข้าโรงเชือด
ทั้งนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคาดการณ์แนวโน้มราคาหมูในช่วงปลายปี จากภาวะการเลี้ยงพุ่งขึ้น ทำให้ต้นทุนราคาลูกหมูถูกลงแล้วจากตัวละ 4,000 บาทเหลือ 1,400-1,500 บาท คาดว่าต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยในอีก 4 เดือนข้างหน้าจะลดลงจาก 90 เหลือ กก.ละ 70 บาท แต่ผลที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ คนที่ซื้อลูกหมูมาเลี้ยงหมูขุนได้รับผลดีจากการขาดทุนลดลง แต่คนที่เลี้ยงหมูเพื่อขายลูกหมูจะได้รับผลกระทบ แต่หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาหมูกล่องได้ก็จะทำให้ราคาขายในตลาดยังทรงตัวต่ำอย่างนี้ต่อไป เกษตรกรที่ขาดทุนมากก็อาจจะชะลอการเลี้ยงเพิ่ม เป็นการปรับสมดุลในระบบการเลี้ยงหมู น่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี
ลุ้นผล DSI
ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาหมูกล่องนั้น ขณะนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกับทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้ 161 ตู้ที่ตรวจสอบพบว่า “ไม่มีการมาออกของ” แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนตู้ที่ไม่มีการมาออกของยังตรวจพบมากขนาดนี้ แต่ในสถานการณ์ที่แท้จริงจะมากขนาดไหน
ทั้งนี้ สถานการณ์นำเข้าแต่เดิมไทยมีการนำเข้าเนื้อหมู 14,000 ตันต่อปี แต่เป็นเครื่องในและหนังหมู เพราะไทยขาดแคลน แต่มีการบริโภคจำนวนมากนำมาใช้ทำแคบหมูที่เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมาก และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากำลังการบริโภคหมู โดยเฉพาะหมูสามชั้นในร้านชาบูและหมูกระทะเพิ่มมากขึ้น
Ecosystem เปลี่ยนแล้ว
“วันนี้ในธุรกิจหมู Ecosystem เปลี่ยนไปแล้ว จากเมื่อ 10 ปีก่อน มีผู้เลี้ยง 4 กลุ่มคือ บริษัท 10 บริษัท กลุ่มที่สองฟาร์มขนาดใหญ่ในแต่ละพื้นที่ มีการเลี้ยง 5,000-10,000 แม่ กลุ่มสามคือรายกลาง และกลุ่มสี่คือรายย่อยประมาณ 25% จะรวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์ 10 สหกรณ์ แต่มาถึงนาทีนี้ สหกรณ์ลดบทบาทลงแทบจะไม่เหลือ รายย่อยหายไปเยอะ รายใหญ่เบอร์ 1-20 มีรวม ๆ กันอย่างต่ำ 700,000 แม่ หรือไม่ต่ำกว่า 70%”
ซึ่งเมื่ออีโคซิสเต็มเปลี่ยน วิธีการซื้อขายก็เปลี่ยน ผู้ค้าอยากได้ความสม่ำเสมอ หมูที่มีคุณภาพเพื่อเข้าโรงเชือดมาตรฐาน ที่มีเพิ่มมาอีก 20-30 แห่ง วงการเลี้ยงสุกรเปลี่ยนเข้าไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรเกือบเต็มตัวแล้ว
สิ่งที่สมาคมดำเนินการคือ จะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงเป็นเกษตรกรจริง ๆ ได้อย่างไร โดยพยายามประสานกับกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ความช่วยเหลือว่าจะอยู่รอดได้ เพราะในส่วนรายใหญ่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองจากความพร้อมของอุตสาหกรรมครบวงจรได้ มีทั้งพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ฟาร์ม ไปถึงโรงเชือด โรงแปรรูป ดังนั้น จึงจะต้องมาดูแลเกษตรกรรายย่อยว่าจะไปอย่างไรกันต่อ เพราะเดิมหากมี over supply อดีตจะส่งออกไปลาว กัมพูชา แต่ยังติดขัด ตอนนี้ติดอยู่ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งความเสี่ยงคือ “น้ำหนักตัวหมูจะเพิ่มขึ้น เมื่อกลไกตลาดชะงักไป
โผล่อีก 400 ตู้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง
ล่าสุดนายมานะพันธ์ ชัยเมธสิทธิ์ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันตกกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 7 สิงหาคม 2566 กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจากหลายภาคจะรวมกันเดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อไปทวงถามข้อสงสัยกรณีมีข่าวว่า มีการตรวจพบหมูเถื่อนอีก 400 ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง แต่เหตุใดกรมศุลกากรและดีเอสไอจึงไม่นำเข้ากระบวนการตรวจสอบ เช่นเดียวกับหมูเถื่อนจำนวน 161 ตู้ และหมูเถื่อนจำนวนดังกล่าวได้มีการรายงานให้กรมปศุสัตว์รับทราบตามขั้นตอนแล้วหรือไม่
นอกจากนี้ ทางกลุ่มผู้เลี้ยงหมูเคยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาผ่านทางท่าเรืออื่น ๆ ด้วย แต่ไม่เห็นการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันหมูเถื่อนที่เข้ามาขายกันเกลื่อนในตลาดส่งผลกระทบกดดันราคาขายหมูในตลาดอย่างมาก ทำให้ตอนนี้สมาชิกผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเพียงราคากิโลกรัมละ 50 บาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 90 กว่าบาท/กก. ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้จะทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยอยู่กันไม่ได้