“เดลต้า” มองตลาดอีวีไทย สตาร์ตแล้วแต่ยังเร่งไม่สุด

เดลต้า

“ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “อีวี” ของประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากนโยบาย 30@30 ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าส่งเสริมอีวีของประเทศ ด้วยการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 ทำให้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566 ก็มียอดจดทะเบียนอีวีกว่า 30,000 คัน ซึ่งคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องขึ้นอีก

และยิ่ง “นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ที่มารับไม้ต่อจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ประกาศนโยบายสนับสนุนอีวี โดยเฉพาะการเร่งเครื่องแพ็กเกจ 3.5 ซึ่งจะสานต่อโดยเตรียมจะหารือในคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ในเร็ว ๆ นี้จะยิ่งผลักให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตต่อไปได้

ตลาดสถานีชาร์จไทยอืด

ล่าสุดในจังหวะที่เข้าร่วมงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2023 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานพลังงานของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ฉายภาพ “สถานการณ์อีวีไทย” เห็นว่า ถ้าย้อนกลับไปปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงแรก ๆ ที่รถไฟฟ้าเข้ามา ประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 20 คัน แต่เดลต้าร่วมกับ กฟผ. ติดตั้งสถานีชาร์จไป 10 สถานี ซึ่งเป็นแค่โครงการนำร่อง

“การเติบโตของอีวีในไทยก็อืดมาเรื่อย ๆ จนมาขยายตัวจริงจังในปี 2561 โดยเฉพาะปี 2564-2565 ที่เริ่มติดตั้งเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เริ่มติดตั้งเครื่องชาร์จ 50-60 ตู้ต่อหนึ่งโปรเจ็กต์”

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีการติดตั้งเครื่องชาร์จอีวีขนาดใหญ่น้อยมาก อย่าง DC city charger และ DC fast charger ทั่วโลก เดลต้าติดตั้งไปแล้วกว่า 150,000 ตู้ ขณะที่ประเทศไทยมีประมาณ 300 ตู้ นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน แม้จะไม่มาก แต่เดลต้าก็ถือว่า เป็นเจ้าตลาดที่มีส่วนแบ่งในไทยถึง 25%

กิตติศักดิ์ เงินงอกงาม
กิตติศักดิ์ เงินงอกงาม

รอดูตลาดเครื่องชาร์จในไทย

แม้เดลต้าจะมีฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่สำหรับการผลิตเครื่องชาร์จทั้ง AC charger และ DC charger นั้น เดลต้ากลับเลือกผลิตที่จีน ไต้หวัน และสโลวะเกีย

ADVERTISMENT

นายกิตติศักดิ์กล่าวถึงสาเหตุที่ไม่เลือกไทย เป็นฐานการผลิตเครื่องชาร์จอีวี เพราะการใช้เครื่องชาร์จอีวีในเมืองไทยจริง ๆ มีประมาณ 100-200 ตู้ ซึ่งจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับตลาดทั่วโลก ทำให้ต้องมองภาพรวม ทั้งตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งตอนนี้ก็พยายามดูตลาดและรวบรวมข้อมูลอยู่

“เราเองก็มีความคิดที่จะมาตั้งฐานการผลิตเครื่องชาร์จอีวีในไทย แต่ว่าต้องรอดูจำนวนการใช้งาน ถ้าดูอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ถือว่าตอนนี้ไทยก็เป็น leading position ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขนาดออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ก็ยังสู้ไม่ได้

ADVERTISMENT

รวมถึงมีหลายค่ายเริ่มมาติดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ โรงงานผลิตรถยนต์ที่ไทยกันมากขึ้น ทำให้เราก็คิดว่าในเมื่อเมืองไทยเป็นฐานการผลิตเหล่านี้ เราก็อาจจะเอามาตั้งฐานการผลิตที่ไทยด้วย เพียงแต่ก็ต้องดูแนวโน้มของตลาดซึ่งอาจไม่ใช่ช่วงนี้”

เดลต้า

ปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องของห่วงโซ่อุปทานว่ามีผู้ประกอบการที่พร้อมจะมาสนับสนุนโรงงานมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนเรื่องบุคลากรมีความรู้ตรงกับที่ต้องการหรือไม่ อย่างตอนนี้เรื่องของห่วงโซ่อุปทานไม่ได้น่ากังวล เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยถือว่าติดท็อปโลก แต่เรื่องบุคลากรมองว่ายังขาดบุคลากรที่มีความรู้เรื่อง semiconductor และ power electronics

“การเติบโตของธุรกิจอีวีนั้นขึ้นอยู่กับภาครัฐ เพราะคนที่จะลงทุนตู้ชาร์จอีวีขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่รัฐถือหุ้น ถ้าภาครัฐให้การสนับสนุนเยอะ เราก็จะไปได้เยอะ อย่างปีนี้เราอาจจะมีอีวีถึง 100,000 คันทั้งประเทศ”

ปักหมุดโรงงานชิ้นส่วนอีวีที่ 8 ที่ไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ลงทุนในโรงงานผลิตจุดชาร์จ แต่เดลต้ายังตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานชิ้นส่วน EV ที่ 8 สำหรับผลิตชิ้นส่วนอีวีที่ไทย เพราะได้แรงขับเคลื่อนจาก นโยบาย New S-curve ของรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี ซึ่งสินค้าของเดลต้าทุกตัวไม่ว่าจะเป็น solar inverter หรือ charger โดยเฉพาะ on board ต่างก็ได้รับการสนับสนุนนี้

“การสนับสนุนจากภาครัฐตรงนี้ ทำให้เราตัดสินใจเพิ่มการลงทุน โดยเปิดโรงงานที่ 8 ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และเป็น double capacity ของโรงงานที่ 1 ซึ่งจะเริ่มเดินเครื่องในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ รวมถึงตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา”

นอกจากนี้ ในปีหน้าก็คาดว่าจะลงทุนสร้างโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น ระบบโทรคมนาคม ที่คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะกง

สอดคล้องกับที่ “นายแจ็คกี้ จาง” ประธานบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ ถึงแผนการลงทุนในปี 2566 ของเดลต้าว่า มีแผนขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 180-200 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 6,300-7,000 ล้านบาท) จากเดิมลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะโฟกัสที่ประเทศไทย อินเดีย และยุโรป

เดลต้า

“สำหรับในประเทศไทยจะมีโรงงานแห่งที่ 8 ที่ อ.บางปู จ.สมุทรปราการ ขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วนอีวี เพราะแนวโน้มตลาดรถอีวียังเติบโตอีก ค่ายรถหลายรายเตรียมออกโมเดลรถรุ่นใหม่ ซึ่งต่อไปโรงงานแห่งที่ 8 อาจไม่เพียงพอต้องขยายเพิ่มขึ้นอีก”

นายแจ็คกี้กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในไทยต้องมี 3 สิ่ง ได้แก่ 1) ในธุรกิจอีวี เดลต้าต้องเป็นผู้ผลิตเครื่องชาร์จที่มีหลายรุ่นทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ต่อมา 2) การสร้างบุคลากรทางด้านวิศวกรรม โดยเฉพาะด้าน power electronics เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจเดลต้าฯ และ 3) สร้างโซลูชั่นให้ครบเพื่อรองรับความต้องการลูกค้า

จุดแข็ง “เดลต้า” ในธุรกิจอีวี

นายกิตติศักดิ์ย้ำว่า บริษัทสร้างจุดแข็งนำส่วนประกอบที่ผลิตมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปและนำออกจำหน่าย พร้อมสร้างโซลูชั่นใหม่ ๆ เช่น mobile application หรือ energy management program ทำให้เกิดธุรกิจแบบครบวงจรคือ ผลิตเอง ทำเอง และขายเองเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

อย่างเครื่องชาร์จอีวี เลือกที่จะเป็นหน่วยสนับสนุน รับจ้างผลิต (OEM) ในแนวหลัง มากกว่าจะตั้งเป็นสถานีชาร์จ โดยจะทำเป็น white label ที่ลูกค้าสามารถเลือกสีสัน หรือให้ติดฉลากยี่ห้อของตัวเองได้