Chery ทาบอรุณพลัสจ้างผลิตรถEV แบรนด์ “O&J” ลุยตลาดต้นปี’67

OMODA EV

“Chery Group” รุกเต็มสูบ ท้ารบ BYD ส่งแบรนด์ O&J ถล่มตลาดแบบเต็มตัวลงทุนเอง 100% เฟ้น 30 ดีลเลอร์ช่วยขายเมินนโยบายตั้งดิสทริบิวเตอร์ ดีเดย์ขายต้นปีหน้า ปลายปีทาบ “อรุณพลัส” จ้างผลิตก่อน 2 ปี หลังจากนั้นผุดโรงงานผลิตเอง ใช้ไทยเป็นฮับส่งออกด้วยกำลังผลิตแสนคันต่อปี

นายชี่ เจี๋ย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เชอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (Chery International) ประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบุกตลาดประเทศไทยว่า ได้วางไทม์ไลน์ไว้อย่างเป็นระบบ โดยภายใน 1-2 เดือนจากนี้การจดทะเบียนบริษัทใหม่เพื่อทำตลาดในประเทศน่าจะเรียบร้อย (ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อ) พร้อมทั้งผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในเวลาใกล้เคียงกัน หลังจากนั้นจะทยอยแต่งตั้งดีลเลอร์จำนวน 30 ราย และกำหนดเปิดตัวรถEV รุ่นโอโมด้า 5 (OMODA 5) ภายใต้แบรนด์ O&J (OMODA&JACCO) ด้วยการนำเข้าจากประเทศจีนในช่วงต้นปี 2567

“ช่วงแรกจะเป็นซีบียูก่อน และประมาณไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 จะเริ่มผลิตในประเทศ โดยจ้างผลิตตอนนี้ได้มีการพูดคุยกลุ่มพันธมิตรรวมถึงบริษัท อรุณพลัส ในเครือ ปตท. ที่ร่วมทุนกับกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป หลังจากนั้นราว ๆ 2 ปีจะลงทุนซื้อที่สร้างโรงงานเอง ซึ่งในช่วงแรกได้มีการพูดคุยกับกลุ่มซัพพลายเออร์บางเจ้าทั้งชิ้นส่วนทั่วไปและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่งในประเทศจีนเชอรี่เป็นพันธมิตรกับ BYD และ CATL”

นายชี่กล่าวอีกว่า ตัวเลขการลงทุนให้อดใจอีกนิดต้องรอบีโอไอประกาศ โดยมีเป้าหมายใช้ไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ทั้งรถ EV และกลุ่มรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด กำลังการผลิตเฟสแรกปี 2567-2568 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ กำลังการผลิตต่อปี 18,000 คัน เฟสที่ 2 ปี 2569-2570 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 45,000 คันบวก ๆ และส่งออกเซาท์อีสต์เอเชีย 5,000 คันบวก ๆ ส่วนเฟสที่ 3 ปี 2571-2573 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 60,000 คันบวก ๆ และส่งออกทั่วโลก 25,000 คันบวก ๆ

“มีหลายคนถามว่าทำไมไม่เป็นแบรนด์เชอรี่ ต้องบอกว่าแบรนด์ O&J ถือเป็นแบรนด์ที่เหมาะสมลูกค้าชาวไทยและมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน OMODA จับกลุ่มวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ เน้นแฟชั่น เน้นสไตล์ ส่วน JACCO เป็นแบรนด์ที่เน้นเรื่องสมรรถนะ และเน้นความเป็นพรีเมี่ยม ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกันก็ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย”

นายชี่กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะเข้ามาลงทุนในประเทศล่าช้ากว่าแบรนด์อื่น ๆ โดยรัฐบาลไทยจะจัดอยู่ในมาตรการส่งเสริมรถ EV 3.5 ซึ่งได้สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากับกลุ่มแรก ๆ ที่อยู่ในมาตรการส่งเสริมรถ EV 3.0 แต่ยังเชื่อว่าด้วยศักยภาพของเชอรี่ กรุ๊ป ประกอบกับตัวเลือกรถ EV ในไทยยังมีไม่มาก ที่น่ากลัวก็มีเพียง BYD เจ้าเดียว ดังนั้นด้วยศักยภาพการผลิตน่าจะทำให้ แบรนด์ O&J แข่งขันในตลาดได้สบาย ๆ โดยนำข้อดีของแต่ละแบรนด์มาเป็นจุดเด่นในการทำตลาด รวมถึงสร้างอีวีอีโคซิสเต็มอย่างเต็มรูปแบบ และเน้นบริการหลังการขายที่ใกล้เคียงรถยนต์ญี่ปุ่นมาเป็นจุดขายร่วม

ก่อนหน้านี้ นายชอว์น ซู รองประธานฝ่ายบริหาร เชอรี่ กรุ๊ป เคยให้สัมภาษณ์ถึงความมั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์การเข้าไปทำตลาดในหลากหลายประเทศทั้งตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และความสามารถในการผลิต ซึ่งปี 2563 ที่ผ่านมา เชอรี่มียอดส่งออกสูงถึง 1.23 ล้านคัน การบุกตลาดประเทศไทยเที่ยวนี้น่าจะขึ้นท็อปแบรนด์ได้ไม่ยาก

อีกทั้งการเข้ามาในประเทศไทยครั้งนี้ บริษัทไม่ได้มีเพียงแค่สินค้าที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่เรายังมีพลังงานทางเลือกหลากหลายให้กับลูกค้าชาวไทยได้สัมผัสแบรนด์ O&J จะพลิกโฉมแบรนด์เชอรี่ในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าว่าภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากเปิดตัวรถยนต์และทำตลาดในประเทศไทย O&J จะสามารถขึ้นไปในกลุ่มท็อปให้ได้