หอการค้าฯ ถก รมว.แรงงานป้ายแดง ฝากการบ้าน 4 เรื่อง แก้ปัญหาด้านแรงงานของประเทศฟื้นเศรษฐกิจไทย ส่วนข้อกังวลของภาคเอกชนขึ้นค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 จำเป็นต้องปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อกำหนดแนวทางต่อไป
วันที่ 8 กันยายน 2566 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดผยว่า หอการค้าไทย ร่วมหารือ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นการรับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะด้านแรงงานในไทย เพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะจัดทำ MOU ร่วมกัน 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับและพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นแรงงานฝีมือที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ ก.แรงงาน เห็นด้วยกับข้อเสนอหอการค้าฯ ที่มีการพิจารณาแนวทางการจ้างงานรายชั่วโมงในบางธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ การสนับสนุนแรงงานภาคการท่องเที่ยวให้เพียงพอและสอดคล้องกับการเติบโตของการท่องเที่ยวของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อนำเงินตราเข้ามาสู่ประเทศ
ส่วนข้อกังวลของภาคเอกชนในฐานะนายจ้างต่อเรื่องการขึ้นค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 ตามนโยบายของรัฐบาล จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อกำหนดแนวทางความเหมาะสมในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวต่อไป
นายสนั่นกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาภาคแรงงานในไทยเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเข้มข้นที่เป็นปัญหามายาวนานและรุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยในภาคบริการและอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขึ้นสูง ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับผลิตภาพของแรงงานไทยที่ยังต้องเร่งยกระดับทักษะและความรู้ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ตลอดจนทิศทางนโยบายการปรับอัตราตอบแทนค่าจ้างหรือค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลที่จำเป็นต้องมีการหารือกับภาคเอกชนเพื่อไม่ให้กระทบต่อความสามารถของผู้ประกอบการ และมีความเหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน เหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องสร้างความร่วมมือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหารื้อรังที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวจากนโยบายการเปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ถึงแม้จะกำลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการส่งออกสินค้าของไทย แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตจากรายได้ ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 2.38 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจเอกชนยังประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และผู้ประกอบการ SMEs เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอนโยบายเร่งด่วนด้านแรงงานของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้
1) นโยบายการปรับอัตราตอบแทนค่าจ้างหรือค่าจ้างขั้นต่ำ โดยภาคธุรกิจเอกชนเห็นด้วยกับการปรับอัตราค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยใช้กลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และใช้หลักเกณฑ์การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
2) นโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย ควรกำหนดทิศทางของประเทศไทยในการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจเพื่อผลิตกำลังคนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดทำข้อมูลฐานแรงงานของประเทศไทย (Big Data) และสนับสนุนนโยบายกองทุนเพื่อการปรับปรุงเครื่องจักรและองค์ความรู้ (Knowhow) สำหรับผู้ประกอบการ
3) นโยบายการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานนำเข้าแรงงานต่างด้าวระยะยาว พร้อมทั้งจัดระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวระบบใหม่ ผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน (OSS) และลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา VISA แรงงานต่างด้าว และกำหนดค่าธรรมเนียมการจัดหางาน (Recruitment Fee) ให้ชัดเจน เป็นต้น
4) นโยบายเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ควรเพิ่มศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งขยายมาตรฐานฝีมือแรงงาน (จำนวน 272 สาขา) และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (จำนวน 129 สาขา) ให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ และสอดรับกับอัตราตอบแทนค่าจ้าง และส่งเสริมนโยบาย “คูปองฝึกทักษะ Re-Skill & Up-Skill” เพื่อสามารถไปรับการฝึกทักษะที่ต้องการได้จากผู้ให้บริการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่ภาคเอกชนอยากเห็นจากรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน ภายในปี 2567
ได้แก่ 1) อัดฉีดงบประมาณและกำลังคนให้กระทรวงแรงงาน 2) คณะกรรมการไตรภาคี ต้องปรับโครงสร้างและบูรณาการการทำงานที่สร้างสรรค์และพัฒนาแรงงานของประเทศไทย และ 3) ยกระดับงานประกันสังคม เพื่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย