ม.หอการค้าลดเป้าจีดีพีไทย 2566 เหลือ 3% หลังเศรษฐกิจยังไม่ดี-ส่งออกหดตัว

ม.หอการค้าลดเป้าจีดีพีไทย

ศูนย์พยากรณ์ฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดจีดีไทยปี 2566 ลงมาที่ 3% เหตุเศรษฐกิจไทยชะลอตัวในไตรมาส 2 การส่งออกยังไม่ฟื้น ประกอบกับความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2567 พร้อมยังเจอภัยแล้งกระทบเพิ่ม กำลังซื้อหดตัว ต้นปี 2567 คาดจีดีพีไทยโต 5%

วันที่ 28 กันยายน 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จากเดิม 3.6% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยลบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 2/66 ชะลอตัวกว่าที่คาดไว้

การส่งออกไทยยังคงหดตัว 2% จากเดิมคาดโต 1.2%, อัตราเงินเฟ้อ 1.8% จากเดิมคาด 3.0% และหนี้ครัวเรือน อยู่ที่ระดับ 89.5% และยังมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2567 รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง นอกจากนี้ยังมีผลมาจากกำลังซื้อประชาชนลดลงการใช้จ่ายของภาครัฐลดลงอีกด้วย

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลดีจากมาตรการวีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถานเป็นการชั่วคราว 5 เดือน, การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น, การนำเข้าสินค้าลดลง และรัฐบาลชุดใหม่ที่มีมาตรการเร่งด่วนออกมาช่วยเหลือประชาชน และต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลในช่วงใกล้ปีใหม่เพิ่มเติมที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชนและการกระตุ้นเศรษฐกิจ

พร้อมกันนี้ ม.หอการค้าไทย ยังประเมินในเบื้องต้นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ โดยจะสามารถขยายตัวได้ 4.5-5% หรือค่ากลางที่ 4.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.5-3% โดยคาดหวังว่านโยบายดิจิตอล 10,000 บาท จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเติบโตโดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 35 ล้านคน อีกทั้งการบริหารงานของรัฐบาลสี่ปีจากนี้หวังว่าจะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงอยู่ในระดับ 80% ของจีดีพี และมาตรการลดค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคประชาชนเกษตรกรและธุรกิจ

ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2566 พบมีปัจจัยหนุน เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตัวเลขล่าสุด 19 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว มาเลเซีย รองลงมา จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ การบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น การนำเข้าสินค้าปรับตัวลดลงโดยเฉพาะสินค้าเชื้อเพลิง วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป พร้อมทั้งนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา 1 ล่าค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน พักชำระหนี้

ADVERTISMENT
วิเชียร แก้วสมบัติ
วิเชียร แก้วสมบัติ

แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องกังวล จีดีพีไตรมาส 2 ชะลอตัวอยู่ที่ 0.2% และยังพบว่าสินค้าคงคลังหดตัวเพิ่มขึ้น จากก่อนหน้าที่สินค้าคงคลังขยายตัว การส่งออกลดลง มองว่าปี 2566 นี้ ติดลบ 2% โดยส่งออกที่เหลือต้องส่งออกให้ได้ เฉลี่ยเดือนละ 23,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัญหาภัยแล้งซึ่งกระทบทุกภาค ปริมาณฝนสะสม 8 เดือน ต่ำกว่าค่าปกติ ซึ่งคาดว่าจักระทบพืชเกษตรหลายรายการ ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะทำให้การเบิกจ่ายของภาครัฐน้อยลง ซึ่งจะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้และปี 2567

สำหรับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใน 3 มาตรการสำคัญ ลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน และพักชำระหนี้ มียอดหนี้รวม 2.83 แสนล้านบาท ทั้ง 3 มาตรการนี้จะช่วยประหยัดรายจ่ายโดยรวมประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินในส่วนนี้จะกลับมาเป็นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจและมีผลต่อจีดีพีประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย 0.43%

ADVERTISMENT

ประชาชนห่วงเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจทัศนะต่อมาตรการ นโยบายลดค่าครองชีพ และประเด็นอื่น ๆ ระหว่างวันที่ 19-24 กันยายน 2566 จำนวนตัวอย่าง 1,220 ตัวอย่างทั่วประเทศ ในความกังวลในประเด็นต่าง ๆ ในปัจุุบันและอนาคต พบ ปัจจุบันประชาชนให้ความกังวลมากในเรื่องของราคาอาหาร ของใช้จำเป็น ค่ารถสาธารณะ

อุมากมล สุนทรสุรัติ
อุมากมล สุนทรสุรัติ

รองลงมา ภาระหนี้สิน ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนใน 6 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่กับมีความกังวลมากในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมือง รองลงมาเป็นเรื่องของค่ารถสาธารณะ และราคาน้ำมัน

ส่วนทัศนคติมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซล 2 บาทต่อลิตร ประชาชนก็ยังใช้น้ำมันเท่าเดิม ใช้เพิ่มขึ้นน้อยมาก และเงินที่เหลือจากลดราคาน้ำมัน ประชาชนนำเงินไปใช้อย่างอื่นเพิ่มขึ้น ส่วนทัศนะต่อมาตรการลดค่าไฟ หน่วยละ 46 สตางค์ ประชาชนยังใช้ไฟเท่าเดิม เงินเหลือก็ยังไปใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มเติม และทัศนะต่อมาตรการลดค่าครองชีพ ที่รัฐบาลลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน เป็นการช่วยเหลือประชาชนได้มาก นอกจากนี้ มาตรการฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยว และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ประชาชนมองว่ากระตุ้นได้ ทำให้ประชาชนมองว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น