
บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) โชว์กำไร 9 เดือน โต 204.06% ประกาศเร่งเครื่อง ดันรายได้ปี 2570 แตะ 4 พันล้านบาท ลุยขยายธุรกิจพลังงาน ปิโตรเลียม-โรงไฟฟ้าชุมชน-โรงงานผลิต RDF
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในงวด 9 เดือนแรกปี 2566 โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 1,258.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 289.04 ล้านบาท หรือ 29.80% (YOY) และมีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 257.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 172.62 ล้านบาท หรือ 204.06% (YOY) ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 397.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.47%
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 460.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 137.14 ล้านบาท หรือ 42.35% (YOY) และพลิกเป็นกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 76.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.71 ล้านบาท หรือ 1,550.99% (YOY) และมี EBITDA อยู่ที่ 117.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 213.06%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างโดดเด่นนั้น โดยหลักมาจากการรับรู้รายได้จากการขายและให้บริการจากกลุ่มธุรกิจ Trading ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 32.42% (YOY) จากปัญหาการขนส่งสินค้าที่เริ่มคลี่คลาย กลุ่มธุรกิจ Manufacturing-Energy ยังคงมีรายได้ที่ลดลง 8.21% (YOY) จากวัตถุดิบหลักที่ไม่เพียงพอต่อการผลิต
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ เพิ่มขึ้นในไตรมาสถัด ๆ ไปจากการขาย RDF3 ในสปป.ลาว และการขายไฟฟ้าจากโรงผลิตไฟฟ้าภูผาม่าน และกลุ่มธุรกิจ-Petroleum ที่ทยอยรับรู้รายได้และคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการติดตั้งเครื่อง Artificial lift เพื่อเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมให้ได้วันละ 300 BBL/Day พร้อมทั้งรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และเงินปันผลจากบริษัทร่วมอย่างต่อเนื่อง
“จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังเจอแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มองว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาระเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ดังนั้น UAC จึงให้ความสำคัญในการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทำให้บริษัทมีเงินสดในมือ ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 จำนวน 250.73 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) 0.84 เท่า ยังคงเป็นไปตามกรอบนโยบายทางการเงินของบริษัทที่ไม่เกิน 2 เท่า”
นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ UAC กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการการลงทุนต่าง ๆ ว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าภูผาม่าน (PPM) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เดินเครื่อง Generator#1 กำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ ภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้ ส่วน Generator#2 กำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ จะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 1/2567
ส่วนโครงการ PT Cahaya Yasa Cipta (CYC) ซึ่งเป็นโครงการภายการการลงทุนของบริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทย่อย) ร่วมลงทุนใน PT Cahaya Cipta สัดส่วน 70% เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่าย RDF3 ในประเทศอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิตประมาณ 40,000 ตัน/ปี
โดยจะจำหน่ายให้กับโรงปูนซีเมนต์ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งได้มีการวางศิลาฤกษ์เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 และอยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโรงงานและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในไตรมาส 3/2567
และด้วยกลยุทธ์การลงทุนธุรกิจพลังงานสะอาดข้างต้นจะผลักดันให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตตามเป้ารายได้ที่วางไว้ในปีนี้เพิ่มขึ้น 15% ควบคู่กับการรักษาระดับการเติบโตของอัตรากำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่า 20% ของรายได้ยอดขายรวม พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการเตรียมปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ของ UAC Group เพื่อเป้าหมายรายได้ 4,000 ล้านบาทในปี 2570