
ในวงการยางพาราไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก “อุทัย สอนหลักทรัพย์” นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย วัย 88 ปี ที่คร่ำหวอดอยู่ในถนนสายนี้มานานกว่า 62 ปี นับจากปี 2504 และเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมครั้งแรกเมื่อปี 2534 นับเป็นเวลา 32 ปีมาแล้ว
ราคายางพุ่งแต่ไม่ใช่จะดี
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อุทัย” ถึงสถานการณ์การผลิตยางพาราในปี 2567 หลังสวนยางในพื้นที่ 4-5 จังหวัดทางภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล) ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดการณ์เบื้องต้นจะมีพื้นที่ปลูกยางเสียหายหลักแสนไร่
ซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำยางดิบที่ซื้อขายในตลาดปรับสูงขึ้น กก.ละ 3 บาท จากก่อนปิดปีใหม่ กก.ละ 49 บาท ปรับขึ้นเป็น 52 บาท แม้ว่าจะเป็นปีทองที่ราคายางขยับสูงขึ้นจากช่วงโควิด แต่ก็ไม่ใช่ปีทองของเกษตรกร ต้นยางอาจจะทนแช่น้ำได้ระยะหนึ่ง
แต่ที่แย่ไปกว่านั้นภาวะน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรไม่สามารถไปกรีดยางมาขายได้ “ที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะนำมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางเยียวยาน้ำท่วมไร่ละ 3,000 บาท อาจจะน้อยเกินไป คงช่วยอะไรไม่ได้ รัฐบาลต้องร่วมด้วย เพราะเงินสงเคราะห์ชาวสวนยาง หรือ CESS อย่างเดียวไม่พอ ตอนนี้อาการหนักเพราะอาชีพหลักเขาคือสวนยาง 80% น้ำท่วมขนาดนี้จะมีอะไรกิน ราคาก็ขึ้นตามดีมานด์ซัพพลาย แต่ไม่มีของขาย เพราะปักษ์ใต้ท่วม ส่วนพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมก็ประสบปัญหาใบร่วง กรีดยางได้น้ำยางน้อย”
ผลผลิตยางวูบ 30-40%
เฉพาะผลผลิตปีนี้ ในตลาดโลกคาดว่าจะหายไป 30-40% ทั้งโลก ไม่ใช่แค่ไทย แต่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นโรคใบร่วงทำให้ยางไม่พอ ส่วนไทยปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาล่าสุด แต่ก่อนหน้านี้ชาวสวนยางต้องเจอปัญหามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะปัญหาโรคใบร่วง
“ปัญหาใบร่วงเป็นปัญหาที่เรียกร้องมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่มีใครจัดการ เขาให้ความเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาจริงหรือไม่”
แน่นอนว่าปัญหาผลผลิตลดลง ส่งผลให้แนวโน้มราคายางธรรมชาติจะปรับขึ้น แต่ก็อาจปรับขึ้นได้ไม่มาก เพราะยางเทียมที่ผลิตจากปิโตรเลียมซึ่งเป็นตัวแข่งมากดราคาตลาดอยู่ จึงทำให้ขึ้นไม่ได้มาก
ตั้งรับ “ยาง” ขาดแคลน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบลำดับต่อไป
ขณะที่ผู้ส่งออกยางตอนนี้จะประสบปัญหา เพราะรายใดที่ไปรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ราคาถูก แต่สถานการณ์ราคาวัตถุดิบยางตอนนี้ปรับตัวสูงขึ้นก็เสี่ยงที่จะขาดทุน และเสี่ยงที่จะหายางส่งมอบได้ยาก เพราะผลผลิตหายไป 30-40%

ตลาดขาดยาง-ชาวสวนขาดทุน
หากไล่เรียงปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกยางต้องประสบมาหลายปี จาก “การขาดทุน” ต่อเนื่อง เพราะยกตัวอย่างต้นทุนที่เคยคำนวณไว้โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เมื่อ 10 ปีก่อนต้นทุน กก.ละ 63.64 บาท แต่ราคาที่ขายได้ต่ำกว่าต้นทุนมาหลายปี อย่างปีที่เกิดโควิดขายได้ ไม่ถึง 50 บาท ตอนนี้ราคาปรับขึ้นมา 53 บาท เกษตรกรก็ยังไม่มีกำไรเลย
ภาษีสวนยาง ดีเดย์ มี.ค. 67
และในเร็วนี้ ๆ ปัญหาเรื่องการเก็บภาษีที่ดินที่ดินชาวสวนยาง ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยออกประกาศเก็บสำหรับสวนยางที่มีการปลูกน้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่ จะต้องเสียในอัตรา 1.20% ของราคาที่ดิน แต่หากปลูก 80 ต้นต่อไร่ขึ้นไปเสียภาษี 0.15% ของราคาที่ดิน ซึ่งจะเริ่มเก็บในเดือนมีนาคม 2567 นี้
“ชาวสวนจะโดนภาษีหนัก ซึ่งทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองไปแล้ว แต่ศาลยกคำร้อง เพราะบอกว่า เรื่องยังไม่เกิดขึ้น”
“ผมคงจะไม่ยื่นอุทธรณ์เรื่องภาษีที่ดินแล้ว ก็รอให้ประชาชนยื่นร้องกันเอง ชาวสวน 7 ล้านคน รัฐบาลก็รอรับตรงนี้ไป ผมคงไม่ทำหนังสือขอเข้าพบ เพราะทำไปแล้วตั้งแต่เขารับตำแหน่ง 3 เดือนกว่าแล้ว แต่เขาก็ไม่ให้พบ คนแค่ 7 ล้านคน เค้าว่าคนไม่เยอะเลยไม่ให้พบ สมาคมยังทำหนังสือถึง รมว.เกษตร.ฯ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย จะคุยเรื่องคาร์บอนเครดิตยางก็ยังไม่มีใครให้พบสักคน เกษตรกรคงไม่มีความหมาย”
อนาคตเกษตรกรถอดใจโค่นยางไปปลูกพืชอื่นอย่างทุเรียนเป็นเรื่องที่เห็นแล้ว เพราะราคาดีกว่า จะเห็นว่าในหลาย ๆ จังหวัด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกหายไปเกิน 50% เป็นสวนทุเรียนแทน ส่วนภาคอื่น ๆ ก็ลดลงคงไม่ถึง 50% ส่วนเกษตรกรที่ยังเหลือต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพแพง ค่าปุ๋ยแพง ค่าแรงงานกรีดยาง
ชำแหละการใช้เงิน CESS
“คนทำสวนยางปีนี้ยิ่งกว่าเหนื่อย คนทำสวนแทบไม่ได้อะไร คนกรีดยางเอาไปหมด เพราะกรีดน้ำยางไม่ได้ เจอใบร่วงคนก็หนีหมด ต้องเอาต่างชาติมากรีดแทน ปัญหาเยอะ แต่ได้รับการดูแลน้อยมาก เป็นพืชตัวเดียวที่เก็บเงินจากเกษตรกร กก.ละ 2 บาท ไปเข้าเงิน CESS มาดูแลเจ้าหน้าที่การยาง ทุกคนกินเงินเดือนจากเกษตรกร ตามมาตรา 49 (1) เงินงบฯบริหาร งบฯเดินทาง”
คำนวณง่าย ๆ เช่น หากมีการส่งออกปีละ 4 ล้านตัน ได้เงิน CESS ปีละ 7,000-8,000 ล้านบาท หากส่งออก 5 ล้านตัน ก็ได้ 10,000 ล้านบาท นับเป็นเงินไม่ใช่น้อย ก็ควรนำเงินออกมาช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนให้เต็มที่
ทั้งนี้ ตามที่กฎหมาย พ.ร.บ.การยาง กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์เงิน CESS แบ่งเป็น 6 ด้าน ตามมาตรา 49 ดังนี้ โดยมาตรา 49 (1) เงิน 10% เป็นเงินบริหารให้พนักงานทุกคน มาตรา 49 (2) เงิน 40% เป็นการนำเงินสำหรับโค่นยางเก่าปลูกยางใหม่หรือปลูกพืชอื่นทดแทน ให้ไร่ละ 1,600 บาท มาตรา 49
(3) กำหนดให้นำเงินมาอุดหนุนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 35% ของเงินรายได้ทั้งหมดประจำปี เป็นเงินอุดหนุน เงินให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ มาตรา 49 (4) เงินวิจัย 5% มาตรา 49 (5) เงินสวัสดิการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และมาตรา 49 (6) เงินเบี้ยเลี้ยงค่าใช้จ่าย เมื่อเกษตรกรหรือผู้นำเกษตรกรเดินทางไปดูงาน
พันธุ์ยางที่ถดถอย 50 ปี
สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหายางจะต้องแก้ “พันธุ์ยาง” ซึ่ง กยท.ยังเอา RRIM 600 หรือที่เรียกว่า พันธุ์ 600 มาจัดเป็น ยางชั้น 1 ซึ่งตัวนี้มาเลเซียซึ่งเป็นเจ้าของพันธุ์ยางมา 20 กว่าปี เขาเลิกใช้ไปนานแล้ว เพราะเขามีการพัฒนาไปซีรีส์ 2,000 กว่าแล้ว
“RRIM 600 ปลูกมา 50 ปีในประเทศไทย ต้องคิดว่าเม็ดที่ลงปลูกมีการผสมกันไปมาหลายรุ่น คุณสมบัติลดลง ให้ผลผลิตน้ำยางต่ำลงมาก เหลือ 240 กก./ไร่/ปี ยางของประเทศไทยก็มีการพัฒนาพันธุ์ใหม่โดยสถาบันวิจัยยาง 251 ที่ให้น้ำยาง 470 กก./ไร่/ปี ด้วยราคายาง 52 บาท คนที่ยังปลูกพันธุ์ 600 ก็ขาดทุน
เทียบกับคู่แข่งอินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว เปลี่ยนไปใช้พันธุ์ใหม่หมด ส่วนไทยใช้ 600 มานานมาก แต่รัฐไม่รับฟังยังยื้อจะใช้ 600 ต่อ ซึ่งผมให้คำอธิบายว่าการเปลี่ยนพันธุ์ไม่ได้ยาก ผมในฐานะผู้อำนวยการแปลงเก่า บอกได้เลยว่า เพียงเอาตา 251 ติดไปที่ต้นพันธุ์ 600 เพียงปีเดียวก็ได้กิ่งตาใหม่แล้ว แล้วก็ประกาศล้มเลิกยาง 600 ไม่ให้เป็นยางชั้น 1 แล้วเปลี่ยนมาเป็นพันธุ์ 251 หรือ 260 เพื่อคงการแข่งขัน หากไทยจะสู้ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้มากขึ้น
และระหว่างที่เพิ่มผลผลิตก็ต้องเปลี่ยน ด้วยการสั่งนำฮอร์โมนตัวหนึ่งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย มาใช้ทาหน้ายาง พันธุ์ 600 แล้วทำให้น้ำยางออก 2 เท่าตัว วันเว้นวัน ต้นยางจะไม่เสียหาย เกษตรกรไม่ขาดทุน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ต้องไปเล่า เพราะทำหนังสือไปถึงระดับรัฐมนตรีหลายคนแล้วก็ไม่ฟัง เรื่องการนำเข้าต้องขออนุญาตกรมวิชาการเกษตร และใช้เงิน CESS มาตรา 49 (3) นำเข้ามา และแนะนำเกษตรกรใช้
“ข้อมูลยาง” แตกต่างกัน
สุดท้าย “อุทัย” ยังฝากการบ้านว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกยางธรรมชาติของโลกมาตั้งแต่ปี 2534 แล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าจนตอนนี้ข้อมูลการปลูก มีหลายข้อมูลมาก คือ ข้อมูลจาก GITSDA ระบุว่ามีพื้นที่ปลูก 32 ล้านไร่ กรมพัฒนาที่ดิน 30 ล้านไร่ สศก. 28 ล้านไร่ กยท. 22 ล้านไร่ แต่ละหน่วยงานข้อมูลไม่เท่ากันเลย หรือตอนประกันรายได้มีคนขึ้นทะเบียนปลูก 18 ล้านไร่
“ผมเคยพูดข้อมูลนี้ในกรรมาธิการเกษตรว่า ตัวเลข 4 หน่วยงานไม่เท่ากัน และถ้าเราไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริง จะไปวางแผนบริหารจัดการได้อย่างไร เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องแก้ ตอนนี้การทำงานของบอร์ดยางธรรมชาติยังไม่เริ่ม เพราะนายกรัฐมนตรียังไม่ได้แต่งตั้งบอร์ด จึงยังไม่ได้ประชุม เรื่องยางจะรู้ดีมากขึ้นคงในเดือนมีนาคมช่วงเก็บภาษีนั่นละ”