สวนยางใต้จมน้ำ 7 แสนไร่ กยท.ช่วย รายละ 3 พัน-ฟื้นฟูอาชีพ มั่นใจไม่กระทบส่งออก

ณกรณ์ ตรรวิรพัท

ท่วมสวนยาง 4 จังหวัดใต้ 7 แสนไร่ กยท. เตรียมพร้อมมาตรการช่วยเหลือ รายละ 3 พันบาท – เงินสงเคราะห์ฟื้นฟูอาชีพ สหพันธ์ชาวสวนยางจี้รัฐเร่งเพิ่มความช่วยเหลือ ชี้เสียหายนับแสนไร่ ราคายางแพงขึ้น กก.ละ 52 บาท แต่ไม่มีน้ำยางขาย “เอกชน” ชี้หากน้ำลดเร็ว ไม่กระทบส่งออกไตรมาส 1

วันที่ 3 มกราคม 2567 นายณกรณ์ ตรรวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ กยท. อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายของพื้นที่ปลูกยางพาราในส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา) และจังหวัดสตูล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเสียหาย เบื้องต้น ณ วันที่  2 มกราคม 2567 จำนวน 765,146 ไร่ คิดเป็น 58% จากพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 1.47 ล้านไร่

โดยมีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 60,583 ราย แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมดังกล่าวยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ซึ่งหากน้ำลดภายใน 1 เดือนจะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นยางพารามากนัก แต่อาจจะกระทบในส่วนของการเดินทางไปกรีดยาง ทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต

สำหรับผลกระทบจากน้ำท่วม แบ่งเป็น จ.นราธิวาส เกษตรกรได้รับผลกระทบ 27,191 ราย พื้นที่สวนยางเสียหาย 312,415 ไร่ จากพื้นที่น้ำท่วม 661,970 ไร่ รองลงมา คือ จ.ยะลา เกษตรกรได้รับผลกระทบ 17,097 ราย พื้นที่สวนยางเสียหาย 17,097 ไร่ จากพื้นที่น้ำท่วม ที่ปลูกยางทั้งหมด 465,162.75 ไร่ จ.ปัตตานี เกษตรกรได้รับผลกระทบ 6,605 ราย พื้นที่สวนยางเสียหาย 73,327 ไร่ จากพื้นที่น้ำท่วม 191,522 ไร่ และ จ.สตูล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 100 ราย พื้นที่สวนยางเสียหาย 1,000 ไร่ จากพื้นที่น้ำท่วม 26,621 ไร่

“กทย. ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง 2 ส่วน คือ เงินช่วยเหลือน้ำท่วม รายละ 3,000 บาท และเงินสงเคราะห์ชาวสวนยาง (CESS) เพื่อฟื้นฟูอาชีพหลังจากน้ำท่วมแล้ว โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และจะมีการรายงานผลสรุปความเสียหายต่อร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป”

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เท่าที่ประเมินเบื้องต้น สถานการณ์สวนยางได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลักแสนไร่ ซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำยางดิบที่ซื้อขายในตลาดปรับสูงขึ้น จากก่อนปิดปีใหม่ กก.ละ 49 บาท ปรับขึ้นเป็น 52 บาท หรือ กก.ละ 2-3 บาท แต่ภาวะน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรไม่สามารถไปกรีดยางมาขายได้

“อยากให้ กยท. และกระทรวงพิจารณามาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางเพิ่มเติม เพราะเงินช่วยน้ำท่วมไร่ละ 3,000 บาท อาจจะน้อยเกินไปและไม่เพียงพอ ดังนั้นควรพิจารณานำเงินสงเคราะห์ชาวสวนยางหรือเงิน CESS ซึ่งเรียกเก็บจากเกษตรกร มีรายได้ปีละ 7-8 พันล้านออกมาช่วยเหลือเกษตรกรให้มากขึ้น เพราะตามกฎหมายได้กำหนดให้สามารถนำมาช่วยเหลือด้านการรักษาเสถียรภาพราคายางได้อยู่แล้ว 35% จากรายได้ทั้งหมด หากไม่ช่วยจะทำให้เกษตรได้รับผลกระทบมากเพราะ บางรายมีรายได้จากการปลูกยางเป็นรายได้หลัก”

ด้านนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นผลกระทบจากน้ำท่วมยังไม่เสียหายมากนัก ซึ่งในภาคการส่งออกยังประเมินว่าไตรมาส 1/2567 ซึ่งเป็นช่วงส่งมอบยางไฮซีซั่นของการส่งออก เช่นเดียวกับไตรมาส 4 ตอนนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบ หากสถานการณ์น้ำลดลงเร็วจะไม่กระทบต่อต้นยางพารา แต่อาจจะกระทบต่อการเดินทางไปกรีดยางบ้าง และการที่ปริมาณยางพาราปรับลดลงส่งผลให้ราคาน้ำยางปรับสูงขึ้นมาเล็กน้อย หลังจากช่วงปิดปีใหม่