ห่วงภัยแล้งฉุดลงทุนอีอีซี เอกชนจี้เร่งบริหารจัดการ

แล้ง
NICOLAS ASFOURI / AFP

ส.อ.ท. ห่วงภัยแล้งซ้ำเติมลงทุนสะดุด จี้รัฐเร่งแผนบริหารจัดการน้ำใน EEC หลังเคลียร์ปัญหาอีสท์วอเตอร์-วงษ์สยาม สกัดปัญหาน้ำขาด-น้ำแพง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนในปี 2567 คือเรื่องของภัยแล้ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นอกจากจะส่งผลให้เกิดภัยแล้งรุนแรงกว่าปกติแล้ว ยังกินระยะเวลานานกว่าเดิม ดังนั้นในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการใช้น้ำในกระบวนการผลิตอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสต์ต่าง ๆ มีความจำเป็นมากที่ต้องพึ่งพาน้ำและต้องไม่ขาดแคลน หากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้นมา จะทำให้มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนอย่างแน่นอน

“การไม่เตรียมแผนสำรองทุกปีจึงต้องมานั่งลุ้นมาประเมินกันว่าน้ำจะพอหรือไม่พอ พอการย้ายฐานการผลิตการลงทุนก็สะดุด เพราะนักลงทุนกลัวลงทุน แล้วถ้าน้ำมันไม่พอจะทำอย่างไร”

ส่วนกรณีข้อพิพาทระหว่างบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด หลังมีการเปลี่ยนมือก็ยังคงมีปัญหาด้านเทคนิค เนื่องจากรายหนึ่งเป็นเจ้าของท่อรายหนึ่งเป็นเจ้าของน้ำ ปัญหาคาราคาซัง แต่ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นด้วย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยในการเจรจาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการผลิต นับว่าเป็นการคลี่คลายระดับหนึ่ง แม้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่น่าห่วงแต่ยังเป็นปัจจัยรอง เพราะปัจจัยหลักห่วงเรื่องภัยแล้งธรรมชาติที่มาจากเอลนีโญมากกว่า

“ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือการเตรียมตัวรับมือ แผนสำรองน้ำเอกชนส่วนใหญ่เขามีหมดแล้ว เขามีน้ำสำรองที่กักเก็บไว้ไม่ให้น้ำขาดเพราะถ้าขาดกระทบการลงทุนแน่นอน คนที่ลงทุนอยู่แล้วก็โดนหนัก ส่วนคนใหม่ที่จะลงทุนใหม่ก็คิดหนัก”

นอกจากนี้ ภัยแลังยังมีผลกระทบด้านส่งออกโดยรวม เนื่องจากกระทบการเพาะปลูกส่งผลทำให้สินค้าการเกษตรและเกษตรแปรรูปได้รับผลกระทบโดยเฉพาะข้าว จะเห็นได้จากช่วงปีที่ผ่านมา อินเดียต้องงดการส่งออกข้าวเพื่อเก็บไว้ใช้บริโภคในประเทศ และกลัวขาดแคลนอาหาร บวกกับสงครามที่เกิดของระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร แม้จะเป็นโอกาสส่งออกข้าวของไทยแต่มันก็จะกระทบพืชผลทางการเกษตร

ADVERTISMENT

“หากรัฐยังไม่มีแผนการจัดการน้ำที่ชัดเจนในแต่ละปีจะกระทบเป็นห่วงโซ่ ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิตการลงทุน ที่ต้องกังวลมากเพราะภาคการผลิตมีความต้องการใช้น้ำมากพอ ๆ กับภาคการเกษตร แต่การแบ่งปันสัดส่วนน้ำต้องให้ภาคเกษตรก่อน จากนั้นจึงแบ่งสัดส่วนให้กับภาคอุตสาหกรรม และพื้นที่ EEC ด้วยเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและมีการตั้งโรงงานจำนวนมาก รายใหญ่ ขนาดใหญ่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีการลงทุนจำนวนมาก แต่เรื่องน้ำก็มีปัญหามาโดยตลอด ปีใดเกิดภัยแล้งหนักต้องผันน้ำมาช่วยทุกครั้ง เอกชนกังวลว่าน้ำขาดและมีราคาแพง”