กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เห็นแน่ใน 10 ปีเสริมก๊าซแหล่งเอราวัณ

วรากร พรหโมบล

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รอนโยบายรัฐบาลให้ชัด ตีกรอบต้องเกิดภายใน 10 ปี ขณะที่แผนปี 2567 เดินหน้า 4 เรื่องหลัก พร้อมเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงบนบก (ครั้งที่ 25) คาดแหล่งเอราวัณจะผลิตได้ 800 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เมษายน 2567 นี้ ชี้รายได้จากปิโตรเลียมส่งเข้ารัฐมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงแผนปี 2567 ว่า กรมเร่งการดำเนินงาน 4 เรื่องหลักคือ 1.เร่งรัดการลงทุนของผู้รับสัญญาในแปลง G1/61 เพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเป้าในปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ให้ได้ภายในวันที่ 1 เมษายน 2567 ซึ่งขณะได้ปริมาณอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 2.เจราจาพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านให้สำเร็จ 3.เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงบนบก (ครั้งที่ 25)

4.การพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS/CCUS) โดยการจัดทําร่างกฎหมาย หลักเกณฑ์ และแนวทางในการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 พร้อมทั้งหามาตรการจูงใจในการสนับสนุนการลงทุนในด้าน CCUS ในอนาคต

ADVERTISMENT

ส่วนกรณีพื้นที่ทับซ้อน OCA ระหว่างไทยกัมพูชานั้น ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการเจรจา โดยต้องรอให้รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายตกลงร่วมกัน และรอประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจนก่อน ซึ่งหลังจากการตั้งคณะทำงานขึ้นมานั้น กระทรวงพลังงานจำเป็นที่ต้องเข้าไปมีบทบาทด้วยอย่างแน่นอน เพราะในพื้นที่ดังกล่าวคือมีความเกี่ยวข้องกับแหล่งก๊าซที่เป็นพลังงานของประเทศ ทั้งนี้ จึงต้องรอไทม์ไลน์จากสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการนำปิโตรเลียมขึ้นมาได้ต้องมีกระบวนการและรายละเอียดหลายส่วน

ส่วนการเจรจาจะคุยในกรอบ MOU 44 หรือเป็นการเจรจากันใหม่แบบล้างไพ่หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งหากคุยในกรอบเดิม ซึ่งก็คุยกันมาตลอด 22 ปี (ตั้งแต่ปี 2544) ก็จะง่ายตรงที่สามารถคุยในหลักการเดิมได้เลย ทั้งเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์และเขตแดน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่หากคุยนอกกรอบ MOU 44 ต้องมาคุยหลักการกันใหม่ แล้วจะใช้หลักการอะไรมาคุย แต่ก็มองได้ทั้ง 2 แง่ว่า อาจเสนอหลักการใหม่ที่ไทยเป็นประโยชน์มากกว่า แล้วตัดส่วนที่เสียประโยชน์ไป เช่นเดียวกันฝั่งกัมพูชาก็อาจเสนอหลักการหารือใหม่ขึ้นมา ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบกว่าเดิมก็เป็นได้

แต่ยอมรับว่าแหล่งก๊าซดังกล่าวที่เคยศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2514 นั้น มีผู้ได้รับประทานฝั่งไทย 4 รายคือ เชฟรอน เชลล์ มิตซุย และ ปตท.สผ. ซึ่งทางเทคนิคธรณีวิทยาพบว่าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพพอสมควร ดังนั้น การเดินหน้าต่อหลังจากที่หยุดสำรวจไปเมื่อปี 2518 มันคือความจำเป็น

ADVERTISMENT

“หากถามว่าเร็วที่สุดคือต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลา 10 ปีต้องเกิด เนื่องจากมันมีแหล่งเดิมที่ก๊าซจะหมดไป (เอราวัณ) แล้วต้องรื้อโครงสร้างแท่น เมื่อตอนนั้นมาถึงหากแหล่ง OCA นี้เริ่มได้ ก็สามารถใช้แท่น ท่อตรงนี้ได้เลย ไม่ต้องลงทุนใหม่ สามารถพัฒนาเข้าระบบผลิตได้เลย มันจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมและไม่ควรเกินไปกว่านั้น”

สำหรับในรายละเอียดการเจรจาที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องมีการคุยระหว่างรัฐกับรัฐ เอกชนกับเอกชน และใครจะเป็นผู้โอเปอเรเตอร์ เทคโนโลยีที่จะใช้  กฎหมาย รวมถึงจะใช้ระบบสัมปทาน หรือใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต

ADVERTISMENT

สำหรับภาพรวมสถานการณ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ปัจจุบันไทยมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัมปทานรวมจำนวน 34 สัมปทาน 47 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นสัมปทานปิโตรเลียมบนบก 14 สัมปทาน 16 แปลงสำรวจ และสัมปทานปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยจำนวน 20 สัมปทาน 31 แปลงสำรวจ และมีการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) จำนวน 5 สัญญา 5 แปลงสำรวจ ในทะเลอ่าวไทย รวมทั้งมีการดำเนินการในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) จำนวน 2 แปลง

ขณะที่สถานการณ์การผลิตปิโตรเลียมในปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ธ.ค. 2566) ไทยผลิตปิโตรเลียมเฉลี่ยวันละประมาณ 560,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยก๊าซธรรมชาติผลิตได้เฉลี่ยวันละประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ 420,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คอนเดนเสทผลิตได้เฉลี่ยวันละ 75,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 68,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และน้ำมันดิบผลิตได้เฉลี่ยวันละ 70,000 บาร์เรลต่อวัน

ส่วนการจัดหาและการใช้ปิโตรเลียมในประเทศ มีการจัดหาได้วันละ 1.99 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยผลิตในประเทศได้ 5.6 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือสัดส่วน 28% และที่เหลือยังต้องนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 72% ส่วนการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปี 2566 กรมสามารถจัดเก็บรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ส่วนแบ่งกำไรของรัฐ เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และอื่น ๆ รวมมูลค่า 76,270 ล้านบาท และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บโดยกระทรวงการคลังมูลค่า 44,165 ล้านบาท

“นอกจากจัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งในประเทศ รวมถึงพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย แล้วกรมยังเป็นหน่วยงานที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่ามีรายได้เข้าประเทศกว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ส่งรายได้เข้าแผ่นดินสูงในอันดับต้น ๆ