
กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้ประกาศผลประกอบการปี 2566 ครบแล้ว ทั้ง 3 บริษัท มีรายได้รวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท
โดยบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มียอดขาย 136,153 ล้านบาท ลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีฐานอัตราการเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ ปี 2566 จึงถือว่าเป็นการปรับฐานสู่ระดับปกติ โดยยังรักษากำไรสุทธิ 4,499 ล้านบาท ลดลง 37.0%
ขณะที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ผู้นำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจ สามารถสร้างยอดขายปี 2566 ได้ถึง 5,081.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ ปี 2566 อยู่ที่ 85.3 ล้านบาท ลดลง 22.1% จากปีที่ผ่านมา และบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ยอดขาย 15,577 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,281 ล้านบาท
สรุปภาพความท้าทายปี’66
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู กล่าวว่า ปีที่ผ่านมานับเป็นปีแห่งความท้าทายจากการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ที่กดดันตลาดที่ไทยยูเนี่ยนดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมธุรกิจจะยังคงอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก มีการบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียว ในไตรมาส 4 ที่มูลค่า 18,433 ล้านบาท (527 ล้านดอลลาร์) จากแผนถอนการลงทุนส่วนน้อยในเรด ล็อบสเตอร์ แต่ไทยยูเนี่ยนก็สามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ในไตรมาสสุดท้ายยังสามารถทำกำไรได้ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ

หากพิจารณาสัดส่วนยอดขายแบ่งเป็น กลุ่มอาหารกระป๋อง 47% รองลงมากลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง 35% กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง 11% และกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ 7% ส่วนตลาดหลัก แบ่งเป็น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา 41% ยุโรป 30% ไทย 11% และอื่น ๆ 18%
แนวโน้มปี 2567 โลกปรับสู่ ESG
นายธีรพงศ์กล่าวว่า สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายร่วมกับคู่ค้า คือ การขับเคลื่อนเรื่อง ESG (Environment, Social, Governance) โดยบริษัทได้รับปรับเปลี่ยนเรื่องการเจรจาตกลงซื้อ-ขาย จากเดิมจะเสนอเรื่องราคา แต่ทุกวันนี้ คู่ค้าเราคุยเรื่อง ESG ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า เช่น วอลมาร์ต เทสโก้ ให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนมาก
“เรื่องความยั่งยืน หรือ Green เป็นเรื่องที่เผชิญมาตั้งแต่ปี 2015 มาโดยตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายของผู้ประกอบการ จริง ๆ ใครทำเรื่อง Green ก่อนต้องจ่ายตังค์ก่อน แต่หวังว่าการดำเนินการของเราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วทำให้ทุกคนในอุตสาหกรรมต้องหันมาทำเหมือนกัน เมื่อเราทำเหมือนกัน ต้นทุนก็จะเท่ากัน”
สำหรับการสร้างความยั่งยืนสามารถเริ่มตั้งแต่จากง่ายไปหายาก โดยเราได้ลดการใช้พลังงาน เช่น น้ำ การนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้มากขึ้น และศึกษาทำให้โรงงานเราเป็นโรงงานที่ไม่มีน้ำออกจากระบบโรงงาน ซึ่งช่วยทำให้เราประหยัดมาก
นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมกับสถาบันการเงิน ส่งเสริมให้ฟาร์มกุ้งนำโซลาร์เซลล์มาใช้ ซึ่งการดำเนินการเรื่อง ESG ในช่วง 5 ปีแรก บริษัทตั้งเป้าใช้งบประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเพิ่มงบฯเป็น 200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030
ยกเครื่อง TFM
นายพีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาความท้าทายจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำและสัตว์บกปรับตัวสูงกว่าปีก่อนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แต่เนื่องจาก TFM ได้เริ่มทรานส์ฟอร์เมชั่นระบบปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบ SAP เพื่อใช้ในการบริหารทรัพยากรและติดตามผล จึงทำให้สามารถบริหารจัดการและควบคุมต้นทุนการผลิตภายในโรงงานให้มีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น
ภาพรวมธุรกิจปี 2566 อาหารกุ้ง คิดเป็นสัดส่วน 52.8% ของสินค้าทั้งหมด มียอดขาย 2,804.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ยอดขายอาหารกุ้งในไทย 2,528.1 ล้านบาท เติบโต 0.2% และยอดขายกลุ่มอาหารกุ้งในประเทศอินโดนีเซีย 276.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 187.3%
อาหารสัตว์บก มีสัดส่วน 8.7% ยอดขาย 481.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จาก AMG-TFM ในประเทศปากีสถาน ขณะที่อาหารปลา มีสัดส่วน 36.5% มียอดขาย 1,710.5 ล้านบาท ลดลง 1.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น ยอดขาย อาหารปลาในไทย 1,676.7 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อน เป็นผลจากปริมาณการขายอาหารปลากะพงที่เพิ่มสูงขึ้น 30.7% จากปีก่อน
ส่วนยอดขายอาหารปลาในต่างประเทศ ลดลง 72.6% เนื่องจากสถานการณ์ราคาปลาในประเทศปากีสถานตกต่ำ ส่งผลต่อความต้องการใช้อาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ เป็นยอดขายอื่น ๆ ราว 1.9%
และหากดูสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาค แบ่งเป็น บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) (TFM) ในประเทศไทย 92.4%, บริษัท ไทยยูเนี่ยน คาริสมา เลสทารี จำกัด (TUKL) ในประเทศอินโดนีเซีย 6% และบริษัท เอเอ็มจี ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (AMG-TFM) ในประเทศปากีสถาน 1.6%
สำหรับกลยุทธ์ของ TFM ในปี 2567 จะเป็นปีแห่งการผลักดันด้านการขายและการตลาดอย่างต่อเนื่อง จากการออกสินค้าแบรนด์ใหม่เพื่อเจาะกลุ่มอาหารปลาน้ำจืดและปลาสวยงาม รวมถึงการทำการตลาดอาหารกุ้งในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเติบโตของบริษัท โดยบริษัทจะมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า จากปีที่ผ่านมาที่เราได้ทำงานอย่างหนักในการบริหารจัดการภายในโรงงานของเรา
เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ปี 2568
ด้าน นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ITC เปิดเผยว่า เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีรายได้จากยอดขายรวมที่ 4,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% และมีกำไรสุทธิ 767 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทั้งยังเติบโตเพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565
“ตลอดทั้งปี 2566 ธุรกิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทาย ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรมและการระบายสินค้าคงคลังจากกลุ่มแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำระดับโลก ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของไอ-เทลฯมีปริมาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าลดลงตลอดช่วงครึ่งปีแรก เรามองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากปริมาณการสั่งซื้อที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 แต่ภาพรวมปี 2566 ยังคงต่ำกว่าปี 2565”
ผุดศูนย์วิจัย-โรงงานใหม่
“แม้ว่าต้องเผชิญกับอุปสรรคและช่วงเวลาที่ท้าทายในปี 2566 แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการปรับตัวได้ดีมากขึ้น”
โดยวางเป้าหมายการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดภายในปี 2568 หลังจากเปิดตัว ศูนย์วิจัยอาหารแมว (i-Cattery) ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ทั้งยังขยายกำลังการผลิต โดยการสร้างโรงงานแห่งใหม่ใน จ. สมุทรสาคร ตั้งแต่ปลายปี 2564 เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและขนมทานเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงแบบเปียกเพิ่มขึ้นอีก 18.7% ด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มต้นการผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
อีกทั้งได้ก่อตั้งบริษัทในเครือภายใต้ชื่อ i-Tail Europe B.V. (ITE) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ i-Tail Pet Food (Shanghai) Limited Co. (ITS) ที่ประเทศจีน เดินหน้าขยายธุรกิจสู่ตลาดยุโรปและประเทศจีน ทั้งยังได้เซ็นสัญญาทางธุรกิจร่วมกับลูกค้ารายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 31 ราย และเดินหน้าธุรกิจสินค้า Private Label กับบริษัทผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในฝรั่งเศส และมีรายได้จากคำสั่งซื้อจากหนึ่งในบริษัทผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในปี 2566
สำหรับสัดส่วนของยอดขายตามประเภทสินค้า แบ่งเป็น อาหารแมว 70% อาหารสุนัข 15% ขนมทานเล่นของสัตว์เลี้ยง 12% และธุรกิจอื่น ๆ อีก 3% และได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ คุณภาพสูงออกสู่ตลาดมากกว่า 1,300 รายการ ส่วนตลาดหลัก คือ สหรัฐ 50% เอเชียและโอเชียเนีย 37% และยุโรป 13%
แม้ว่าในปี 2566 ไอ-เทลฯก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ แต่ยังคงพัฒนา เพื่อดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่มุ่งรักษาอัตราการเติบโตยอดขายที่ 15% ต่อปี ระหว่างปี 2566 ถึง 2568