จีนเอาคืน สอบบริษัทสหรัฐ-อียูทุ่มตลาด เตือนไทยโดนลูกหลง-ส่งออกวูบซ้ำ

จีนเริ่มตอบโต้ถูกขึ้นภาษี 100% สั่งสอบบริษัทสหรัฐ-อียู และพันธมิตร ข้อหาทุ่มตลาด “อมรเทพ จาวะลา” กังวลกระทบภาคส่งออก และย้ายฐานการผลิต เพราะจีนมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากไทยน้อยลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเหตุจากใกล้เลือกตั้งผู้นำสหรัฐคนใหม่

จีนเอาคืนสอบบริษัทสหรัฐ-อียู

จากปัญหาเทรดวอร์รอบใหม่ หลังสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษี 25-100% หลายรายการสำหรับสินค้าจากจีน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่ทะลุเกิน 100% ทำให้ทั่วโลกจับตาการตอบโต้ของจีน และอาจมีสินค้าจากจีนทะลักเข้าสู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียนและไทยนั้น จากการติดตามความเคลื่อนไหวตลอดสัปดาห์หลังมีประกาศขึ้นภาษี จีนยังไม่ได้ออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อตอบโต้สหรัฐโดยตรง แต่ดำเนินการด้วย
เหตุผลอื่น

ประกอบด้วย วันที่ 19 พ.ค. เปิดการสอบสวนการทุ่มตลาดจีนของบริษัทผู้ผลิตพอลิเมอร์ออกซิเมทิลีน (POM) ซึ่งเป็นพลาสติกวิศวกรรมชนิดหนึ่งจากสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น ไต้หวัน โดยจีนอธิบายว่าเป็นการดำเนินการตามที่บริษัทผู้ผลิตในจีน 6 รายยื่นคำร้องเมื่อเดือนที่แล้ว

อีกกรณีหนึ่งในวันที่ 20 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศแบน 3 บริษัทสหรัฐ โดยเพิ่มบริษัทสหรัฐบางส่วนเข้าบัญชีรายชื่อ “นิติบุคคลอันไม่น่าเชื่อถือ” ห้ามทำการค้า ห้ามลงทุนในจีน และห้ามผู้บริหารเดินทางเข้าจีน ด้วยเหตุผลว่าบริษัทเหล่านั้นจำหน่ายอาวุธให้แก่ไต้หวัน

เชื่อขึ้นภาษีรถ EV แค่สร้างภาพ

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่ามาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐเป็น “เชิงสัญลักษณ์” มากกว่าที่จะสร้างผลกระทบต่อจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจีนส่งสินค้าในรายการที่ถูกขึ้นภาษีเข้าไปสหรัฐในสัดส่วนที่น้อย เว้นแต่ว่าสหรัฐจะขยายมาตรการบังคับใช้กับสินค้าของจีนที่ผลิตในประเทศอื่น ๆ รวมถึงสินค้าของประเทศอื่นที่ใช้ชิ้นส่วนจากจีน

ในปี 2023 จีนส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปสหรัฐโดยตรงเพียง 368 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 0.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของจีน โดยมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนเพียงแบรนด์เดียวคือ “จีลี่” (Geely) ที่ส่งสินค้าออกจากจีนไปยังสหรัฐโดยตรง ขณะที่รถยนต์แบรนด์ต่างชาติที่ตั้งฐานการผลิตในจีนไม่ได้ผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐแต่อย่างใด

ADVERTISMENT

เตือนไทยหาแนวทางรับมือ

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีความเสี่ยงที่จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบภาคการส่งออกของไทยที่อาจหดตัวได้ หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น และจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในลำดับถัดไป โดยไทยต้องดูว่าจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังเป็นเพียงการเปิดไพ่ใบแรกของสหรัฐเท่านั้น

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบไทยมาก เพราะสหรัฐขึ้นภาษี จีนจะนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง จะกระทบการจ้างงาน อาจมีโรงงานปิดตัว หรือย้ายฐานการผลิต อันนี้เป็นความเสี่ยงที่แม้อาจไม่ได้กระทบปีนี้ แต่จะกระทบในปีต่อ ๆ ไป ว่าเราจะขาดการลงทุนไปเป็นเวลานาน

ADVERTISMENT

อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ว่าเราจะปรับตัวอย่างไร เพราะถ้าเราจะปรับตัวได้อย่างเวียดนาม ที่ไปชิงตลาดสหรัฐแทนจีน ส่งออกเวียดนามก็โตได้ดี แต่บ้านเราไม่ได้มีเทคโนโลยี ไม่ได้มีการลงทุนแบบนั้น ก็สู้เขาไม่ได้”

ดร.อมรเทพกล่าวอีกว่า จากนี้ต้องจับตาว่าจีนจะตอบโต้สหรัฐอย่างไร ซึ่งหากใช้ค่าเงินในการตอบโต้ ก็จะกระทบมาถึงไทยด้วย ในขณะที่สหรัฐน่าจะบีบชาติพันธมิตร เช่น ยุโรปให้แบนจีนด้วย เนื่องจากจีนส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยุโรปค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ต้องจับตาว่าจะลามมาอาเซียนด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจกระทบการดำเนินนโยบายของไทยได้

กสิกรฯชี้เหตุใกล้เลือกผู้นำสหรัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า ประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนรอบใหม่ ซึ่งยังต้องติดตามทีท่าของทางการจีนต่อการขึ้นภาษีของสหรัฐ รวมถึงนโยบายของสหรัฐที่อาจจะออกมาตรการตอบโต้ ต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการจีนด้วยการส่งออกจากประเทศที่สาม

การประกาศขึ้นภาษีสะท้อนท่าทีสหรัฐที่ต่อต้านอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน ทั้งพลังงานสะอาดและเทคโนโลยี รวมถึงมุ่งหวังผลคะแนนนิยมทางการเมืองของประธานาธิบดีไบเดน ก่อนที่จะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 5 พ.ย.นี้

โดยเฉพาะในรัฐที่เป็น Swing States อย่างจอร์เจีย แอริโซนา เนวาดา และมิชิแกน ซึ่งเป็นรัฐที่กำลังลงทุนห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ภายใต้เงินสนับสนุนจากกฎหมายการลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ของสหรัฐ

การขึ้นภาษีในรายการที่สหรัฐพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสูง อย่างแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่มีสัดส่วนนำเข้าจากจีนมากถึง 70% นั้น มองว่าทั้งสหรัฐและจีนน่าจะสามารถบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐสนับสนุนการลงทุนสร้างห่วงโซ่การผลิต แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขึ้นในประเทศ รวมถึงมีทางเลือกนำเข้าจากพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทดแทนได้

ดักทางจีนส่งผ่านประเทศที่ 3

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้แหล่งอุปทานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนใหม่ เพื่อทดแทนจีนอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะบางค่ายรถสหรัฐที่ยังคงพึ่งพาแหล่งอุปทานจากจีนเป็นหลัก สำหรับผู้ประกอบการจีนอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่สามเพื่อส่งออกไปสหรัฐ แต่น่าจะต้องเผชิญการตอบโต้ของสหรัฐ โดยการขึ้นภาษีผ่านมาตรการ Anti-Circumvention ในท้ายที่สุด คล้ายกับกรณีของโซลาร์เซลล์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า

สำหรับการขึ้นกำแพงภาษีสินค้าสำคัญอย่างรถยนต์ไฟฟ้า ยังเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐ โดยเฉพาะก่อนผลการตัดสินมาตรการเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจีนของสหภาพยุโรปในช่วงเดือน พ.ย.นี้ แม้ปัจจุบันค่ายรถจีนส่วนใหญ่ยังแทบไม่ได้ทำตลาดในสหรัฐ โดยในปี 2566 สหรัฐมีสัดส่วนนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเพียง 2.0% เท่านั้น

การปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนน่าจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ผลิตจีนเข้าไปลงทุนในเม็กซิโก เพื่อนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมาประกอบและส่งออกไปยังสหรัฐ โดยอาศัยอัตราภาษี MFN ของเม็กซิโกที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.5% มากกว่าจะใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลง USMCA ที่มีเงื่อนไขเข้มงวดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งกำหนดให้สัดส่วนมูลค่าชิ้นส่วนที่ต้องผลิตในกลุ่มประเทศ USMCA รวมกันสูงถึง 75%

เวียดนาม-มาเลย์มีโอกาสดีกว่า

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบต่อไทยในส่วนแรก สหรัฐสามารถใช้มาตรการคว่ำบาตร (Sanction) ประเทศทั่วโลกได้ 2 แบบ แบบแรกเรียกว่าปฐมภูมิ ก็คือเล่นงานประเทศที่เขาต้องการเล่นงานโดยตรง กับอีกแบบที่ทำทางอ้อม หรือทุติยภูมิ คือเล่นงานบริษัทหรือประเทศซึ่งไปทำการค้ากับประเทศที่เขาคว่ำบาตร

ฉะนั้น สิ่งที่เราจะถูกกระทบคือ บริษัทที่ส่งออกไปยังประเทศรัสเซียหรือไปจีน กับอย่างที่ 2 จะถูกกระทบในลักษณะที่จีนมาทุ่มตลาด สหรัฐกำลังจะใช้มาตรการที่เรียกว่า “Friend-Shoring” คือสหรัฐจะไปลงทุนประเทศที่เป็นมิตรเท่านั้น ซึ่งเสี่ยงที่จะไปมาเลเซียหรือเวียดนามมากกว่าไทย เราเสียเปรียบ เพราะแม้ว่าเราจะบอกว่าตัวเองเป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศ และมีสนธิสัญญาไมตรีกับสหรัฐ แต่หลัก ๆ เป็นเรื่องความมั่นคง

ชี้ CPTPP ยิ่งทำให้ไทยเสียเปรียบ

ความได้เปรียบเสียเปรียบที่สำคัญอีกด้านคือ การเข้าเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งทั้งมาเลเซียและเวียดนามเป็นสมาชิก แต่ไทยไม่ได้เป็น ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่จะทำให้ผู้ผลิตสหรัฐที่ไปลงทุนในเวียดนามได้รับการลดภาษีจากสมาชิก CPTPP เป็น 0% เท่านั้น แต่มาตรฐานสินค้าและบริการใน CPTPP สูงกว่ามาตรฐานของ RCEP ดังนั้น ความเสี่ยงคือ ถ้าเข้ายึดมาตรฐาน CPTPP จะทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนามและมาเลเซียทันที

“บีโอไอ” เชื่อไทยได้ประโยชน์

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า กำลังติดตามเรื่องการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐต่อสินค้าจากจีน โดยเฉพาะกลุ่ม EV และ Semiconductor ว่าสหรัฐจะพิจารณาเก็บภาษีเฉพาะสินค้าที่ส่งออกจากจีน หรือรวมถึงสินค้าที่ผลิตจากบริษัทจีนในประเทศต่าง ๆ ด้วย

โดยต้องรอดูความชัดเจนในเรื่องรายละเอียดหลักเกณฑ์การพิจารณาแหล่งกำเนิดของสินค้าก่อน โดยหากสหรัฐบังคับใช้เฉพาะสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน การขึ้นกำแพงภาษีดังกล่าวก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะจะเพิ่มโอกาสในการย้าย หรือขยายการลงทุนมาไทย เพื่อเป็นช่องทางส่งออกไปยังสหรัฐ